วิธีกินบุฟเฟ่ต์แบบคุ้มค่า แต่ไม่เสียสุขภาพไปกับอาหารละลานตาตรงหน้า อิ่มอร่อยแบบไม่อ้วนก็ทำได้นะ
อาหารบุฟเฟ่ต์ ปัจจุบันมีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน มีกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นจนบางร้านต้องรอคิวกว่าชั่วโมงเพื่อเข้ารับประทาน เหตุนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า "บุฟเฟ่ต์" ได้เข้ามาเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของสังคมไทยไปแล้ว
ด้วยตัวเลือกที่หลากหลายสามารถกินได้แบบไม่อั้น "อาหารบุฟเฟ่ต์" จึงกลายเป็นอาหารยอดนิยมของกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ นักเรียน นักศึกษา โดยการกินบุฟเฟ่ต์ส่วนใหญ่มักจะคิดถึงความคุ้มทุนโดยจะพยายามกินอาหารปริมาณมาก หรือเลือกกินอาหารราคาแพง เพื่อจะให้คุ้มค่ากับราคา
ทั้งนี้ ร่างกายนำพลังงานจากอาหารมาใช้กิจกรรมต่าง ๆ เช่น นั่ง นอน ยืน เดิน ทำงาน ออกกำลังกาย ถ้าได้รับพลังงานมากเกินความต้องการร่างกายจะนำพลังงานส่วนเกินนั้นไปเก็บสะสมในรูปไขมันเพื่อเป็นพลังงานสำรอง ถ้ามีการสะสมของไขมันมากขึ้นก็จะนำไปสู่โรคอ้วน และนำไปสู่โรคต่าง ๆ
วันนี้เรามีคำแนะนำดี ๆ ที่จะทำให้ทุกครั้งที่กินบุฟเฟ่ต์ "อิ่ม คุ้มค่า ไม่เสียสุขภาพ"
1. กินน้อย ก่อนกินมาก
จำไว้ให้ขึ้นใจเลยว่า "การอดอาหารเพื่อกะไปกินบุฟเฟ่ต์กับเพื่อน ๆ ให้คุ้มนั้นไม่คุ้มอย่างที่คิด" เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายลดการเผาผลาญพลังงานลงแล้ว เรายังอาจรู้สึกหิวมากเกินไปตอนไปกินบุฟเฟ่ต์ ดังนั้นควรเลือกกินอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลงก่อนไปกินบุฟเฟ่ต์สัก 1 วัน หรือ 1-2 มื้อ (ถ้าหิวมากจนอดใจไม่ไหว ก็ควรกินผลไม้หรือดื่มนมไขมันต่ำ และตามด้วยน้ำเปล่ารองท้อง) แต่ถ้ามีเหตุให้ต้องไปกินแบบไม่ทันได้เตรียมตัว ก็ควรลดอาหารในวันหลังจากนั้นให้น้อยลง
2. ลุกเดิน วอร์มอัพ ก่อนหรือหลังกินบุฟเฟ่ต์
การเดิน เป็นกิจกรรมทางกายที่ง่ายสุด ๆ ฉะนั้นจะลุกขึ้นมาเดินเพิ่มขึ้น 20-30 นาที ประมาณ 5-7 วัน ก่อนหรือหลังไปกินบุฟเฟ่ต์ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินความสามารถ
3. เสื้อผ้าก็สำคัญ
ควรใส่เสื้อผ้าที่พอดีตัว ไม่ควรใส่ชุดหลวม ๆ เพราะเราอาจเพลิดเพลินกับอาหารจนกินเกินอิ่มได้ง่าย ๆ
4. ไกลไว้ดีกว่าใกล้
การเลือกที่นั่งไกลจากซุ้มอาหาร ช่วยให้เราได้เพิ่มการใช้พลังงานทุกครั้งที่เดินมาตัก
5. สำรวจร้านเตรียมรับมือ
ชิงเดินสำรวจอาหารทั้งหมดให้เรียบร้อย เพื่อที่จะได้วางแผนการรบกับกองทัพอาหารได้ถูกว่าควรเลือกเอาอะไรใส่ปากบ้าง และไม่ต้องเจอกับสถานการณ์ประเภท "อิ่มแล้ว แต่เพิ่งเดินมาเห็น" แถมยังได้เดินเพิ่มก้าวอีกเล็กน้อยด้วย
6. จานเล็กช่วยได้
การหยิบจานเล็กใส่อาหารเหมือนไม่น่าจะช่วยอะไรเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้มีการศึกษามาแล้วและพบว่าการลดขนาดจานลง 2 นิ้ว ช่วยให้เรากินอาหารลดลงถึงร้อยละ 22
ภาพจาก stocksnap.io
7. สลัดมาจานแรก
ควรเลือกตักสลัด (น้ำสลัดน้อย ๆ) เป็นจานแรก
8. ไม่ติดมัน ไม่เอาน้ำผัด
ควรเลือกกินเนื้อสัตว์ประเภทต้มหรือนึ่ง ถ้าปิ้งย่างก็ไม่เอาแบบไหม้เกรียม ส่วนพวกเนื้อติดมัน น้ำผัด และชุบแป้งชุบไข่ทอดนี่อยู่ให้ห่างไว้
9. ตักเผื่อล้นโต๊ะ
การมีน้ำใจถือเป็นสิ่งดี แต่การตักเผื่อคนอื่นเวลากินบุฟเฟ่ต์นั้น อาจทำให้มีอาหารล้นโต๊ะ ควรตักอาหารแต่ละชนิดไม่เกิน 1-2 ช้อน และตักทีละจานก็พอแล้ว
10. ผ้าเช็ดปากเตือนสติ
แค่เอาผ้าเช็ดปากมาวางไว้บนตัก เราก็สามารถรู้ตัวทุกครั้งเวลาที่ลุกไปตักอาหาร และจะได้บังคับตัวเองไม่ให้ลุกจนเพลิน
11. สนทนาละความสนใจ
มากินบุฟเฟ่ต์ทั้งทีจะเน้นกินอย่างเดียวก็คงกระไรอยู่ ควรหันไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมโต๊ะให้มากขึ้นจะได้ช่วยดึงความสนใจของเราออกจากอาหารและกินอาหารได้น้อยลง
ภาพจาก stocksnap.io
12. น้ำเปล่าดีที่สุด
น้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลมก็ล้วนเป็นเครื่องดื่มเพิ่มแคลอรีทั้งนั้น เพราะฉะนั้นหันมาดื่มน้ำเปล่าดีกว่า
13. ตัดทิ้งแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะทำให้เรามีภาวะขาดน้ำแล้ว ยังกระตุ้นให้เราดื่มน้ำหรือกินอาหารเพิ่มขึ้น ฉะนั้นเมินได้ก็เมินเถอะ
14. โปรดระวังไขมันแอบแฝง
หลีกเลี่ยงไขมันแอบแฝงซึ่งซุกซ่อนอยู่ในเนย น้ำสลัด (ไม่ว่าจะเป็น น้ำใสหรือน้ำข้น) รวมถึงเกลือแอบแฝงที่อยู่ในบรรดาซอสต่าง ๆ (ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ) หรือกระทั่งครีมทาร์ทาร์ และน้ำจิ้มเอง ก็ควรจิ้มให้น้อยที่สุด
การกินอาหารที่ดีจะต้องใส่ใจว่าเรากินเข้าไปมากน้อยเพียงใด รู้จักการควบคุม "แคลอรี" หรือปริมาณพลังงานของอาหารที่กิน โดยผู้ชายควรได้รับพลังงานประมาณวันละ 2,000 กิโลแคลอรี และผู้หญิงวันละ 1,600 กิโลแคลอรี
ปริมาณที่ว่านี้ รวมทั้งอาหารคาวและหวาน อาหาร 1 มื้อควรได้แคลอรีประมาณ 400-700 กิโลแคลอรี โดยอาหารเย็นเป็นมื้อที่มีแคลอรีต่ำกว่ามื้ออื่น ๆ อาหารว่าง ต้องจำกัดให้น้อยกว่า 200 กิโลแคลอรีในแต่ละครั้ง และเมื่อรวมกับอาหารมื้อหลักทั้งวันแล้วต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด ลด หรืองดอาหารที่ให้พลังงานสูง อาหารรสจัด และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง
เพราะไม่ว่าจะเป็นอาหารบุฟเฟ่ต์ หรืออาหารทั่วไปก็ตามหากกินมากเกินไป ก็สามารถทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย ความคุ้มค่าของราคาและปริมาณ อาจเทียบไม่ได้กับค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น กินอย่างพอดี เสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อสุขภาพที่ดีกันนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : หนังสือ "คิดเอง ทำได้ ห่างไกลโรค" เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และ หนังสือ "เดินศาสตร์" โครงการรักเดิน สสส. ร่วมกับ นิตยสารหมอชาวบ้าน