x close

รังแค รังควานศีรษะคุณได้อย่างไร?




\'รังแค\' รังควานศีรษะคุณได้อย่างไร ? (กรุงเทพธุรกิจ)
โดย บัญชา  ธนบุญสมบัติ


          ถ้าได้รู้ว่า รังแคที่มารังควานศีรษะเรามาจากไหน และจะจัดการยังไงได้ ก็น่าสนุกไม่น้อย

          ตามปกติแล้ว เซลล์หนังศีรษะของคนเราซึ่งเกิดใหม่จะค่อยๆ เลื่อนจากใต้ผิวหนังขึ้นมาจนถึงผิวชั้นบนสุด และหลุดออกไปในเวลาประมาณ 28 วันโดยเฉลี่ย โดยเซลล์ที่หลุดออกจะเป็นชิ้นเล็กๆ ที่ตาเปล่ามองไม่เห็นแต่ถ้ามีสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้วงจรนี้ถูกเร่งให้เร็วขึ้น เช่น จาก 28 วัน เหลือแค่ 7-21 วัน โดยเซลล์ที่หลุดออกแทนที่จะเป็นชิ้นเล็ก กลับมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นขุยสีขาวหรือเท่า และมองเห็นได้ชัด แถมยังคนศีรษะอีกต่างหาก อย่างนี้ก็แสดงว่ามีรังแค (dandruff) แน่แล้ว ผรั่งผิวขาวเก็บสถิติมาว่า พวกเขาเองนั้นมีรังแคถึง 50% (ในบางช่วงของชีวิต) ส่วนพี่มืดเชื้อสายแอฟริกันเป็นมากกว่าคือราว 80% (คนเอเชียเท่าไรเอ่ย?)

          เดิมเชื่อกันว่า ผู้ร้ายหมายเลขหนึ่งที่ทำให้เกิดรังแค ก็คือ เชื้อราที่มีชื่อว่า Malassezia furfur ซึ่งเป็นเชื้อราที่มีอยู่ตามปกติบนผิวหนังศีรษะของเรา และใช้ไขมันจากหนังศีรษะเป็นอาหาร โดยถ้าเชื้อราพวกนี้มีปริมาณปกติ เราก็จะไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามีมากผิดปกติ ก็จะทำให้รังแคเริ่มออกรังควานอย่างสนุกสนาน

          แต่งานวิจัยใหม่บางชิ้นบอกว่า ผู้ร้ายตัวจริงอาจจะไม่ใช่ M.furfur แต่เป็นญาติของมันอีก 2 ชนิดที่มีชื่อว่า M.restricta และ M.globosa

          โดยตัว M.ทั้งหมดนี่หมายถึงมีสกุล (genus) เดียวกันคือ  Malassezia แต่ชื่อที่ตามมาเป็นชนิด (species) โดยรังแคเกิดจากเศษไขมันที่หลงเหลือจากที่เจ้าเชื้อรา 2 ชนิดนี่หม่ำแล้ว 

          พอรู้สาเหตุหลักแล้ว (ไม่ว่าผู้ร้ายตัวเอกจะเป็นเชื้อราตัวไหนก็ตาม) ก็มีวิธีการจัดการรังแค 2 แบบหลัก แบบแรกคือ เข้าไปลุยฆ่าเชื้อราที่เป็นต้นเหตุโดยตรง โดยใช้สารต่อต้านเชื้อรา (Anti-fungal ingredients) เช่น 

          ซิงค์ไพริไทออน (Zinc pyrithione) หรือ ZPT ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เราทั้งสารอื่นๆ  เช่น ซีลีเนียมซัลไฟต์ (selenium sulfide), คีโทโคนาโซล (ketoconazole), ไคล์มบาโซล (climbazole) และออกโทไพรรอกซ์ (octopirox)

          ส่วนแบบที่สองคือ ลดสาเหตุการเกิดรังแคอย่างอ้อมๆ ซึ่งแบ่งย่อยได้อีก 2 ลักษณะ ได้แก่ ใช้สารลดการแบ่งตัวของเซลล์ที่หนังศีรษะ (Anti-proliferative) เช่น โคลทาร์ (coal tar) ซึ่งจะทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดช้าลง หรือ ใช้สารลดขุยรังแค (Keratolytic agents) เช่น กำมะถัน (sulfur) หรือกรดซาลิซิลิก (salicylic acid) ซึ่งจะทำให้เซลล์ผิวหนังหลุดออกไปเป็นชิ้นเล็กๆ ง่ายขึ้น

          แต่ไม่ใช่แค่เจ้าเชื้อรานี่เท่านั้น ยังอาจมีสาเหตุอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสการเกิดรังแคให้ง่ายอีกด้วย เช่น สภาพลมฟ้าอากาศ ระดับฮอร์โมน ผิวหนังที่มีไขมันสูงกว่าปกติ และอาหารการกิน รวมทั้งความเครียด เช่น ยิ่งเครียดมาก ยิ่งมีรังแคเยอะ!

          แม้ผู้เชี่ยวชาญจะบอกว่า ปัญหารังแคมีทางแก้ไข 2 แบบหลักๆ แต่ไม่รู้ ถ้าโกนหัวจนเกลี้ยงเจ๋งเหม่ง เจ้าเชื้อราพวกนี้และรังแคจะยังอยู่ได้อีกไหม...




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รังแค รังควานศีรษะคุณได้อย่างไร? อัปเดตล่าสุด 2 สิงหาคม 2552 เวลา 21:01:19 6,083 อ่าน
TOP