x close

ติดเชื้อที่กระพุ้งแก้ม เกิดจากอะไรได้บ้าง เช็กให้รู้ทุกเรื่อง

          ติดเชื้อที่กระพุ้งแก้มอาจมีอาการหนักถึงขั้นกระพุ้งแก้มบวมไม่ยุบ และจำต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งดูแล้วเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย แต่เอ๊ะ ! แล้วอาการนี้มีสาเหตุจากอะไรได้บ้างล่ะ ?

ติดเชื้อที่กระพุ้งแก้ม

          ปัญหาสุขภาพในช่องปากไม่ได้มีแค่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเหงือกและฟันเท่านั้น แต่ยังมีอาการร้อนใน และแผลในปาก โดยเฉพาะการติดเชื้อที่กระพุ้งแก้ม ที่บางเคสเกิดขึ้นแล้วก็มีอาการที่รุนแรงถึงขั้นกระพุ้งแก้มบวมตุ่ย มีอาการอักเสบ และทำท่าว่าจะไม่ยุบตัวลงง่าย ๆ จนอาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

          เฮ้ย ! นี่ดูไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่เราควรละเลยอีกต่อไปแล้วนะคะ ดังนั้นมาศึกษากันไว้ก่อนดีกว่าว่าอาการกระพุ้งแก้มติดเชื้อเกิดจากอะไรได้บ้าง

ติดเชื้อที่กระพุ้งแก้ม สาเหตุคืออะไร
 
1. แผลในปาก

          โดยไม่ว่าจะเกิดจากการที่เผลอไปกัดเข้าที่กระพุ้งแก้มจนเกิดเป็นแผล หรือเกิดแผลที่กระพุ้งแก้มด้วยสาเหตุอื่น ๆ ทว่าหากเราไม่รีบรักษาให้หาย ปล่อยให้เป็นแผลเรื้อรังอยู่นาน ๆ ก็อาจลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นการติดเชื้อได้ และเกิดการอักเสบจนกระพุ้งแก้มมีอาการปวดบวมได้

ติดเชื้อที่กระพุ้งแก้ม

2. อาการร้อนใน

          คนที่เป็นแผลร้อนในเริ่มแรกจะมีแผลหรือตุ่มแดงเล็ก ๆ ขึ้นมาในริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม หรือบริเวณลิ้น จากนั้นตุ่มแดง ๆ จะกลายเป็นเม็ดสีขาวมีขอบสีแดงนูนออกมา มีอาการบวม และกลายเป็นแผลที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มม. หรือหากแผลร้อนในเรื้อรังอาจเกิดอาการติดเชื้อและอักเสบขึ้นได้เช่นกัน

3. การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของสาว ๆ


          ผู้หญิงช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือผู้หญิงตั้งครรภ์ มักจะมีอาการร้อนในเกิดขึ้นได้ด้วยนะคะ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการร้อนในบริเวณลิ้นหรือกระพุ้งแก้มก็จะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ในบางคนอาจมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการร้อนในเรื้อรังได้ เช่น สูบบุหรี่ เครียด หรือนอนดึกเป็นประจำ แผลร้อนในนั้นก็อาจลุกลามเป็นแผลอักเสบติดเชื้อและเกิดอาการบวมได้

4. การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนจัดบ่อย ๆ

ติดเชื้อที่กระพุ้งแก้ม

          เนื่องจากความร้อนที่มาจากอาหาร ควันบุหรี่ และแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณกระพุ้งแก้มได้ และเมื่อถูกระคายเคืองอยู่เป็นประจำอาจทำให้เนื้อเยื่อเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และอาจทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ด้วย

5. การกินหมากพลู


          ในหมากพลูจะมีสารก่อมะเร็ง ซึ่งผู้ที่กินหมากและอมหมากไว้ที่กระพุ้งแก้มเป็นประจำจะเกิดการระคายเคืองจากความแข็งของหมากที่เคี้ยว และก็อาจทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้มเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

6. สุขภาพในช่องปากบกพร่อง

          อาการฟันผุเรื้อรัง รวมถึงการระคายเคืองจากฟันที่แหลมคม ผู้ที่มีฟันแตก ฟันบิ่น ขอบฟันที่คมอาจจะบาดเนื้อเยื่อในช่องปาก โดยเฉพาะกระพุ้งแก้มและลิ้น ทำให้เป็นแผลเรื้อรังอยู่นาน ๆ และแผลนั้นอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งบวมนูนขึ้นมาได้

7. เป็นสิงห์อมควัน และชอบร่ำสุรา

ติดเชื้อที่กระพุ้งแก้ม

          ข้อมูลจากชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย เผยว่า ประมาณ 90% ของผู้ป่วยมะเร็งในช่องปาก จะเป็นผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มสุรา ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่และดื่มสุราถึง 15 เท่า และโรคมะเร็งในช่องปากก็สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก เหงือก พื้นปากใต้ลิ้น ลิ้นไก่ หรือเพดานปากเลยนะ

8. เหตุเกิดเพราะโรคเบาหวาน

          ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักมีอาการติดเชื้อได้ง่าย เป็นแผลได้ง่าย และอาการแผลในช่องปากก็พบได้บ่อย โดยผู้ป่วยอาจมีอาการปากแห้ง ลิ้นอักเสบ หรือติดเชื้อราในปาก ซึ่งหากจัดฟัน หรือใส่ฟันปลอมก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลและติดเชื้อในปากเพิ่มขึ้นด้วยนะคะ

          นอกจากนี้หากเกิดแผลที่กระพุ้งแก้มหรือบริเวณอื่น ๆ ในช่องปากแล้ว ความที่ร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานสูญเสียสมดุลของระดับน้ำตาล การไหลเวียนของเลือดไม่ปกติ รวมทั้งระดับเม็ดเลือดขาวก็ลดลง เหตุผลทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้แผลในปากเรื้อรัง มีอาการบวม เกิดฝี หรือหนองได้ง่ายขึ้นด้วย

9. ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง


ติดเชื้อที่กระพุ้งแก้ม

          หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าโรคเอดส์ มักจะตรวจเจอว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในช่องปาก ทั้งการเป็นแผลในปากชนิดเรื้อรัง การมีเนื้องอกในช่องปาก โรคปริทันต์ที่มีความรุนแรงกว่าบุคคลอื่น ๆ หรือบางคนอาจมีอาการมะเร็งในช่องปากเกิดขึ้นด้วย ซึ่งโดยมากแล้วภาวะติดเชื้อที่เกิดกับผู้ป่วยโรคเอดส์ก็จะหายได้ยาก เนื่องจากมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจึงทำให้ร่างกายต้านทานเชื้อต่าง ๆ ได้ยากกว่าปกตินั่นเอง

          อย่างไรก็ดี การรักษาอาการติดเชื้อในกระพุ้งแก้มก็มีวิธีในแต่ละเคสไป อย่างหากเริ่มจากอาการร้อนในหรือแผลในปากก็ควรรีบรักษาแผลนั้นให้หายโดยเร็ว เพื่อป้องกันแผลในปากติดเชื้อและเกิดอาการอักเสบ ทว่าหากมีเบื้องลึกเบื้องหลังเป็นอาการที่เกิดจากโรคอื่น ๆ อย่างเบาหวาน มะเร็ง หรือโรคเอดส์ ก็คงต้องทำการรักษาตามแนวทางของโรคนั้น ๆ ไป


          แต่อย่างไรก็ตาม เราควรสำรวจความผิดปกติของร่างกายเราเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้รู้ทันโรคและรักษาร่างกายให้หายจากความผิดปกติได้ทันกาลนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย
webmd
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ติดเชื้อที่กระพุ้งแก้ม เกิดจากอะไรได้บ้าง เช็กให้รู้ทุกเรื่อง อัปเดตล่าสุด 18 กันยายน 2563 เวลา 11:33:38 306,860 อ่าน
TOP