มะเร็งในช่องปาก โดยมักพบในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบน้อยลงหลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว แต่ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุมีมากขึ้นจึงอาจจะพบมะเร็งในช่องปากในผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นได้ และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาจจะเป็นเพราะผู้ชายมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
1. พบว่าประมาณ 90% ของผู้ป่วยมะเร็งช่องปากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มสุรา จะมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่และดื่มสุราถึง 15 เท่า
2. การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนจัดเกินไป เนื่องจากความร้อนที่มาจากอาหาร ควันบุหรี่ และแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดการระคายเคือง เมื่อถูกระคายเคืองอยู่เป็นประจำ ทำให้เนื้อเยื่อเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และอาจทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
3. หมากพลู พบว่าในหมากพลูนี้จะมีสารก่อมะเร็ง ซึ่งผู้ที่กินหมากและอมหมากไว้ที่กระพุ้งแก้มเป็นประจำจะเกิดการระคายเคืองจากความแข็งของหมากที่เคี้ยว ก็อาจทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้มเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
4. สุขภาพในช่องปากไม่ดี เช่น ฟันผุเรื้อรัง รวมถึงการระคายเคืองจากฟันที่แหลมคมผู้ที่มีฟันแตก ฟันบิ่น ขอบฟันที่คมจะบาดเนื้อเยื่อในช่องปากโดยเฉพาะกระพุ้งแก้มและลิ้น ทำให้เป็นแผลเรื้อรังอยู่นาน ๆ แผลนั้นอาจกลายเป็นมะเร็งได้
5. แสงแดด ทำให้เกิดมะเร็งที่บริเวณริมฝีปาก
6. โรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น ซิฟิลิส วัณโรค
7. การระคายเคืองเรื้อรัง เช่น แผลจากฟันปลอม
8. เคยได้รับรังสีเอกซเรย์
การวินิจฉัย
เนื่องจากมะเร็งในช่องปาก เป็นตำแหน่งที่มองเห็นได้ง่ายจากการตรวจร่างกาย ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อจากตำแหน่งที่สงสัยเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา จึงสามารถทำให้การวินิจฉัยได้สะดวกและแม่นยำ ซึ่งขั้นตอนในการวินิจฉัยจะมีรายละเอียด ดังนี้คือ
1. การซักประวัติ
2. การตรวจร่างกาย แพทย์มักจะทำการตรวจศีรษะและคออย่างละเอียด รวมถึงสำรวจผิวหนังบริเวณใบหน้า ศีรษะ และคอ สำรวจเยื่อบุในปากโดยใช้ไม้กดลิ้นช่วย หรือใช้มือคลำในช่องปากหลังถอดฟันปลอมออกแล้ว ตลอดจนใช้เครื่องส่องดูบริเวณจมูก หู และโคนลิ้น บางรายอาจตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
3. การตรวจเลือดและอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะ พบว่า ร้อยละ 5 ของมะเร็งในช่องปากจะให้ผลวีดีอาร์แอล (VDRL) ให้ค่าผลเป็นบวก บางรายอาจต้องเจาะเลือดตรวจดูการทำงานของตับ (Liver function test) ด้วยในรายที่สงสัยว่าจะมีการลุกลามแพร่กระจายไปยังตับ ส่วนในรายที่มีการติดเชื้อหรือมีปอดอักเสบจากการสำลักเศษอาหารเข้าปอด แพทย์มักจะส่งหนองหรือเสมหะไปเพาะเชื้อตรวจ
4.การเอกซเรย์ จะช่วยวินิจฉัยว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายลุกลามไปถึงกระดูกแล้วหรือไม่ และอาจช่วยพยากรณ์โรคด้วย
5. การตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมักพิจารณาจากตำแหน่ง ขนาด และชนิดของก้อนนั่นเอง
มะเร็งในช่องปาก มีการแพร่กระจายได้ 3 ทาง คือ
1. การลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง (Local invasion)
2. เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอ (Lymphatic spread) พบได้บ่อย
3. เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ซึ่งพบไม่บ่อย และมักจะเกิดขึ้นในรายที่เป็นมากแล้ว
มะเร็งทางด้านหน้าของช่องปากมักจะโตช้าและกระจายช้ากว่ามะเร็งที่อยู่ด้านหลัง เช่น มะเร็งริมฝีปากจะโตช้ากว่ามะเร็งโคนลิ้น
อาการและอาการแสดง
1. เริ่มด้วยมีแผลในช่องปากรักษาไม่หายเป็นเวลานานเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป และไม่เจ็บปวด
2. มีฝ้าขาวในช่องปาก ร่วมกับตุ่มนูนบนเยื่อบุช่องปากและลิ้น
3. มีก้อนไม่รู้สึกเจ็บในช่องปาก โตเร็ว และในที่สุดก็แตกออกเป็นแผล
4. ต่อมามีก้อนเกิดขึ้นที่คอ กดไม่เจ็บ บวมโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งแตกออกเป็นแผล
ภาพจาก โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
โดยทั่วไปแล้วในระยะเริ่มแรกของมะเร็งมักไม่มีอาการเจ็บ นอกจากมีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย แต่มะเร็งของลิ้นหรือลำคอในบางตำแหน่งอาจทำให้เกิดการเจ็บในหูขณะกลืนอาหารได้เพราะมีเส้นประสาทร่วมกัน บางครั้งจึงไม่ได้รับการใส่ใจกับการตรวจในช่องปากและลำคอโดยตรง
การเป็นแผลหรือก้อนที่ตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ลิ้นไก่ ลิ้น และใต้ลิ้น สำหรับมะเร็งของลิ้นและพื้นปากใต้ลิ้นอาจทำให้มีอาการแลบลิ้นไม่ออก พูดไม่ชัด กลืนอาหารไม่สะดวก เพราะการเคลื่อนไหวของลิ้นไม่เป็นปกติ ในรายที่เป็นมากอาจจะมีการฝ่อของลิ้นได้
ในรายที่รอยโรคอยู่ใต้ขากรรไกร โดยเฉพาะเมื่ออยู่ที่เหงือกในตำแหน่งหลังต่อฟันกราม ซึ่งมีการลุกลามเข้าไปในกล้ามเนื้อที่ใช้ในการอ้าปากหรือขากรรไกรได้ง่าย จะทำให้อ้าปากได้ลำบาก
การรักษา
การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและตำแหน่งของมะเร็ง รวมทั้งระยะของโรคสำหรับรอยโรคขนาดเล็ก อาจผ่าตัดออกได้โดยไม่ทำให้เกิดการผิดรูปของใบหน้า สำหรับในบางตำแหน่ง เช่น ริมฝีปาก การใช้รังสีรักษาจะให้ผลการรักษาที่ดีเท่ากันกับการผ่าตัด แต่มีข้อดีที่เหนือกว่า คือ ยังสามารถรักษาโครงสร้างและการทำงานปกติไว้ได้
ส่วนในระยะลุกลาม จะใช้การรักษาร่วมระหว่างการผ่าตัดและการฉายรังสี ส่วนเคมีบำบัดนั้นอาจมีบทบาทร่วมในการลดขนาดก้อนที่ใหญ่มากก่อนเริ่มการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือฉายรังสี
การป้องกันและข้อควรปฏิบัติ
1. ควรแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 – 5 นาที
2. ควรบ้วนปากหลังรับประทานอาหารทันทีและทุกครั้ง
3. ควรล้างฟันปลอมชนิดถอดได้หลังรับประทานอาหารทุกครั้ง และควรถอดออกเวลากลางคืน
4. ควรใช้ฟันทุกซี่เคี้ยวอาหาร ไม่ควรถนัดเคี้ยวข้างเดียว เพื่อให้เหงือกและฟันแข็งแรง
5. ควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติถึงแม้จะไม่มีอาการเจ็บปวดก็ตาม
6. ควรงดสิ่งเสพติด ได้แก่ เหล้า บุหรี่ ยาฉุน และหมากพลู
7. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
8. ควรใช้ยาตามทันตแพทย์และแพทย์สั่ง เพื่อผลการรักษาที่ดีและป้องกันการดื้อยา
9. หมั่นตรวจช่องปากอย่างง่าย ๆ ด้วยตนเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก