เรื่องของ โรคหิด

โรคหิด

โรคหิด

หิด (หมอชาวบ้าน)

          หิดเป็นโรคติดเชื้อพยาธิ (ปรสิต) ของผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่มีมาแต่เก่าก่อน และยังคงพบการระบาดในหมู่คนที่อยู่กันแออัด และขาดสุขนิสัยที่ดี เช่น ตามวัด โรงเรียน โรงงาน กองทหาร

          หิดเป็นโรคที่สามารถรักษา และป้องกันได้เช่นเดียวกับโรคติดเชื้อของผิวหนังชนิดอื่น ๆ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจเป็นแผลพุพองจนกลายเป็นโรคหน่วยอักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อนได้

          ชื่อภาษาไทย : หิด

          ชื่อภาษาอังกฤษ : Scabies


สาเหตุ

          เกิดจากการติดเชื้อหิดซึ่งเป็นตัวไรเล็ก ๆ สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นจุดขาวเล็ก ๆ มีชื่อว่า Sarcoptes scabiei ตัวอ่อนมี 6 ขา ตัวแก่มี 8 ขา ตัวเมียเมื่อผสมพันธุ์แล้วจะขุดรูอยู่ใต้ผิวหนังชั้นนอกสุด (ชั้น stratum corneum) และวางไข่วันละ 1-3 ฟอง จนวางครบ 25 ฟองก็จะตายไป ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 3-4 วัน และอาศัยอยู่ในรูขุมขน ทำให้มีตุ่มแดงตรงรูขุมขนและมีอาการคัน ตัวหิดสามารถมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายของคนเรา (ที่อุณหภูมิห้อง) ได้ 2-3 วัน

          สามารถติดต่อได้ง่าย โดยการสัมผัสหรือใช้ของร่วมกัน

          บางรายอาจติดต่อโดยการร่วมเพศ ทำให้เกิดตุ่มคันตรงบริเวณอวัยวะเพศ จึงถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง


อาการ

          ผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำใสและตุ่มหนอง คัน ขึ้นกระจายเหมือนกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย มักจะพบที่ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อศอก รักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ ก้น ข้อเท้า อวัยวะเพศ (ในเด็กเล็กอาจขึ้นที่หน้าและศีรษะ ส่วนในผู้ใหญ่มักไม่ขึ้นในบริเวณนี้)

          บางรายอาจพบเป็นผื่นนูนแดงคดเคี้ยว ขนาดเท่าเส้นด้าย ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ซึ่งตรงปลายสุดจะเป็นที่อยู่ของตัวหิด

          ผู้ป่วยมักจะมีอาการคันมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน

          บางรายอาจเกาจนมีเชื้อแบคทีเรียอักเสบซ้ำเติมเป็นตุ่มหนองพุพอง หรือน้ำเหลืองไหล


การแยกโรค

          อาการเป็นตุ่มคันตามผิวหนัง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

          ตุ่มคันจากยุงหรือแมลงกัดต่อย ซึ่งมักขึ้นเฉพาะที่ และไม่ลุกลามแพร่กระจายไปทั้งตัว

          ผื่นแพ้สัมผัส เช่น แพ้ปูน ผงซักฟอก ขอบยางกางเกงหรือเสื้อชั้นใน สร้อยข้อมือ สายนาฬิกา เป็นต้น ซึ่งมักจะเป็นผื่นคันอยู่เฉพาะตามรอยที่สัมผัสถูกสิ่งที่แพ้

          แผลพุพอง มีอาการขึ้นเป็นตุ่มหนองเล็ก ๆ ตามแขน ขา หรือลำตัว ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียของบาดแผลเล็กน้อย เช่น รอยขีดข่วน รอยแกะเกา รอยถลอกรอบแผลจากยุงหรือแมลงกัด มักขึ้นเฉพาะที่ไม่ลุกลามแพร่กระจายไปทั่วตัว

          อีสุกอีใส มีอาการขึ้นเป็นตุ่มใสค่อย ๆ แพร่กระจายไปตามลำตัว ใบหน้าและแขน ขา แต่มักมีไข้ พร้อมกับมีตุ่มขึ้นในวันแรกของไข้


โรคหิด

โรคหิด


การวินิจฉัย

          มักจะวินิจฉัยจากอาการแสดง คือมีตุ่มคันตามง่ามมือ ง่ามเท้า และลุกลามแพร่กระจายไปทั่วตัว ร่วมกับพบว่ามีคนรอบข้างเป็นอาการแบบเดียวกันหลายคน

          หากไม่แน่ใจแพทย์จะทำการขูดเอารอยโรคไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบตัวหิดหรือไข่ของหิด


การดูแลตนเอง

          เมื่อพบตุ่มคันตามผิวหนัง ก็ให้ลองดูแลรักษาเบื้องต้นตามสาเหตุที่สงสัย เช่น

          ถ้าเป็นแพ้ยุงหรือแมลงกัด หรือเป็นผื่นแพ้สัมผัส ก็ให้ใช้ครีมสเตียรอยด์ทา และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งที่แพ้

          ถ้าเป็นแผลพุพอง ควรปรึกษาแพทย์ อาจต้องพิจารณาให้กินยาปฏิชีวนะ


          แต่ถ้าสงสัยเป็นหิดหรือแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นหิดจริง ก็ควรใช้ยารักษาโรคหิดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง และควรปฏิบัติตัว ดังนี้

          1. ควรรักษาทุกคนในบ้านที่เป็น หรือสงสัยติดโรคพร้อมกัน ผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำใสและตุ่มหนอง คัน ขึ้นกระจายเหมือนกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย

          2. เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และเครื่องนอนที่ผู้ป่วยใช้ควรซักให้สะอาด (ด้วยน้ำและผงซักฟอกธรรมดา) และผึ่งแดดทุกวันจนกว่าจะหาย

          3. ผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น และพยายามอย่าเกา เพราะอาจลามไปที่อื่นได้ง่าย

          4. ควรแยกเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว เครื่องนอนต่างหาก อย่าใช้ปะปนกับผู้อื่น รวมทั้งอย่านอนรวมกับคนอื่น เพื่อป้องกันการแพร่โรคให้คนอื่น


การรักษา

          แพทย์จะให้ยารักษาโรคหิด ดังนี้

          1. ใช้เบนซิลเบนโซเอตชนิด 25% โดยอาบน้ำถูสบู่ (ใช้ผ้าขนหนู หรือแปรงนุ่มขัดถูกด้วยยิ่งดี) และเช็ดตัวให้แห้งก่อน แล้วจึงทายาทั่วทุกส่วนของร่างกายนับตั้งแต่คอลงมาโดยตลอด รวมทั้งผิวหนังส่วนที่ปกติด้วย พอครบ 24 ชั่วโมงให้ทาซ้ำอีกครั้ง ระหว่างนี้อย่าเพิ่งอาบน้ำหรือล้างมือ (ถ้าจำเป็นต้องล้างมือ ต้องทายาซ้ำ หลังเช็ดมือให้แห้ง) จนกว่าจะครบ 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่ทายาครั้งแรก จึงอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และผ้าปูที่นอนใหม่ทั้งหมด ถ้ายังไม่หายขาด ให้ทำซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา

          2. ถ้ามีตุ่มหนองพุพองหรือน้ำเหลืองไหล ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน และให้การดูแลรักษาแบบแผลพุพอง ควรให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 10 วัน

          3. ถ้าใช้ยาไม่ได้ผล หรือทายาไม่ได้ หรือเป็นผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือมีผื่นขึ้นจำนวนมาก แพทย์จะให้กินยาไอเวอร์เม็กทิน (ivermectin) ขนาด 0.2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม กินเพียงครั้งเดียวก็ได้ผลในการฆ่าเชื้อหิด ยานี้อาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร (ทำให้ปวดมวนท้องอาเจียนได้) และไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้ที่เป็นโรคหืด


ภาวะแทรกซ้อน

          ผู้ป่วยมักเกาจนกลายเป็นแผลพุพอง และถ้าติดเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ อาจกลายเป็นหน่วยไตอักเสบแทรกซ้อนได้

          เด็กบางรายอาจคัน จนนอนไม่พอ กินไม่ได้ และน้ำหนักลด


การดำเนินโรค

          ถ้าไม่รักษา มักเป็นเรื้อรัง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ และแพร่กระจายให้คนข้างเคียงไปเรื่อย ๆ

          ถ้าได้รับการรักษา มักจะหายขาดได้ภายใน 1-2 สัปดาห์


การป้องกัน

          อย่าสัมผัสใกล้ชิด หรือนอนบนเตียงเดียวกันกับผู้ป่วย และอย่าใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ป่วย


ความชุก

          โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย พบมากในกลุ่มคนที่ยากจน ขาดสุขลักษณะที่ดี และอยู่กันอย่างแออัด


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย


 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wikipedia


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องของ โรคหิด อัปเดตล่าสุด 20 พฤศจิกายน 2559 เวลา 21:12:59 66,284 อ่าน
TOP
x close