13 ประโยชน์ของพริก ความแซ่บที่ซ่อนสรรพคุณสุดจี๊ดไว้มากมาย


          พริก สมุนไพรรสเผ็ดร้อน ที่หลาย ๆ คนติดใจจะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ทานมาก ๆ แล้วจะเกิดโทษไหม มาไขคำตอบกัน
 
          คนที่ชอบทานเผ็ดต้องยิ้มกันแน่ ๆ เพราะวันนี้เรานำเรื่องราวดี ๆ ของพริก สมุนไพรรสเผ็ดร้อน ที่ต้องมีติดครัวกันทุกบ้านมาฝาก ซึ่งขอบอกไว้ก่อนตรงนี้เลยว่า ประโยชน์ของพริกนั้นดีงามมาก ๆ ทั้ง ช่วยลดน้ำหนัก สร้างภูมิต้านทาน ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคมะเร็ง และลดความเสี่ยงโรคหัวใจ แต่ก่อนที่จะไปรู้ถึงประโยชน์ของพริก นั้นเราขอแนะนำให้ทุกคนเข้าใจเรื่องราวของพริกกันให้มากขึ้นอีกนิดก่อนดีกว่าค่ะ
 
พริก

พริก ประวัติและความเป็นมา

          มีการบันทึกว่าพริกถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อประมาณ 7,000 ปีก่อนที่อเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จากนั้นก็มีการนำพริกมาปลูกและเผยแพร่ไปทั่วยุโรป และลามไปทั่วโลก ทำให้พริกมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปมากมาย เช่น พริก ภาษาอังกฤษคือ Chili หรือ Chili peppers ซึ่งก็มาจากคำว่าพริกในภาษาสเปน หรือ chile โดยพริกจัดอยู่ในวงศ์ Solanaceae สกุล Capsicum ซึ่งพริกมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Capsicum spp.

          ส่วนประเทศไทยของเราก็รู้จักและคุ้นเคยกับการปลูกพริกมานานแล้ว และสายพันธุ์ของพริกในประเทศไทยก็มีอยู่ไม่น้อย รวมทั้งหมดประมาณ 831 สายพันธุ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามชนิดของพริก ได้แก่ พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนูเม็ดใหญ่ และพริกขี้หนูเม็ดเล็ก

          ชื่อเสียงที่โดดเด่นที่สุดของพริก ต้องยกให้เรื่องความเผ็ด เพราะว่าพริก คือ เครื่องเทศที่ให้รสเผ็ดร้อนชนิดหนึ่ง เนื่องจากในพริกมีสารแคปไซซิน (Capsicin) ที่เป็นสารที่ให้ความเผ็ดร้อน โดยสารชนิดนี้จะกระจายอยู่ในทุกส่วนของพริก แต่ส่วนที่พบมากที่สุดหรือเผ็ดมากที่สุดก็คือ รกหรือไส้ของพริกนั่นเอง ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติพิเศษตรงที่สามารถทนความร้อนได้ดีแม้ว่าจะผ่านกระบวนการทำให้สุกหรือตากแดดร้อน ๆ จนแห้งแล้วก็ตาม แต่พริกก็ยังคงความเผ็ดร้อนไว้ได้ดังเดิม

พริก

พริก ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นอย่างไรบ้าง ?
    
         โดยทั่วไปแล้วพริกเป็นได้ทั้งพืชล้มลุก ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นขนาดเล็กซึ่งจะกระจายอยู่ทั่วโลก และด้วยความที่พริกมีหลายสายพันธุ์ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพริกจึงจะอธิบายในส่วนของพริกที่คุ้นเคยกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งลักษณะของต้นพริกก็มีดังนี้

          ราก : ระบบรากของพริกมีทั้งรากแก้วและรากฝอย โดยรากแก้วจะหากินลึกมาก ส่วนรากฝอยจะหากินอย่างหนาแน่นรอบ ๆ ต้น ถ้าต้นพริกยังไม่โตเต็มที่รากฝอยจะหากินลึกประมาณ 60 เซนติเมตร แต่หากต้นพริกโตเต็มที่แล้ว รากฝอยจะแผ่ออกไปหากินด้านข้างในรัศมีกว้างกว่า 1 เมตร และลึกกว่า 1.20 เมตร

          ลำต้นและกิ่ง : ลำต้นพริกตั้งตรง สูงประมาณ 1-2.5 ฟุต โดยจะมีกิ่งเจริญจากต้นเพียงกิ่งเดียว แล้วค่อยแตกออกเป็น 2 กิ่ง 4 กิ่ง 8 กิ่ง 16 กิ่งไปเรื่อย ๆ ซึ่งในระยะแรกทั้งลำต้นและกิ่งจะเป็นไม้เนื้ออ่อน แต่พอมีอายุมากขึ้น ลำต้นจะแข็งแรงมากขึ้น แต่กิ่งยังเป็นไม้เนื้ออ่อนที่เปราะหักง่ายเหมือนเดิม

          ใบ : เป็นใบเลี้ยงคู่ มีลักษณะแบนราบเป็นมัน มีขนเล็กน้อย โดยจะมีรูปร่างตั้งแต่รูปไข่ไปจนถึงทรงเรียวยาว โดยพริกแต่ละชนิดก็จะมีขนาดแตกต่างกันออกไป เช่น ใบพริกหวานมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ใบพริกขี้หนูทั่วไปมีขนาดเล็กในช่วงเป็นต้นกล้า แต่พอโตเต็มที่ก็จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่

          ดอก : เป็นดอกสมบูรณ์เพศ คือมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ภายในดอกเดียวกัน โดยปกติมักพบเป็นดอกเดี่ยว แต่อาจจะพบหลายดอกเกิดตรงจุดเดียวกันได้ โดยส่วนประกอบของดอก ประกอบไปด้วยกลีบรองดอก 5 พู กลีบดอกสีขาว 5 กลีบ แต่บางพันธุ์อาจมีสีม่วง และอาจมีกลีบตั้งแต่ 4-7 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ซึ่งแตกจากตรงโคนของชั้นกลีบดอก ซึ่งอับเกสรตัวผู้เป็นสีน้ำเงิน แยกตัวเป็นกระเปาะเล็ก ๆ ยาว ๆ ส่วนเกสรตัวเมียชูสูงขึ้นไป

พริก

พริก คุณค่าทางโภชนาการที่ควรรู้

          หนังสือคู่มือเกษตรกร ระบุว่า พริกขี้หนูและพริกชี้ฟ้า 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
         
         
พลังงาน 103 กิโลแคลอรี
          ไขมัน 2.4 กรัม
          คาร์โบไฮเดรต 19.9 กรัม
          ใยอาหาร 6.5 กรัม
          โปรตีน 4.7 กรัม
          แคลเซียม 45 มิลลิกรัม
          ฟอสฟอรัส 85 มิลลิกรัม
          เหล็ก 2.5 มิลลิกรัม
          วิตามินเอ 11,050 I.U.
          วิตามินบี 1 (ไธอะมีน) 0.24 มิลลิกรัม
          วิตามินบี 2 (ไรโบเฟลวิน) 0.29 มิลลิกรัม
          วิตามินบี 3 (ไนอะซีน) 2.10 มิลลิกรัม
          วิตามินซี 70 มิลลิกรัม

พริก ประโยชน์ดี ๆ ของการกินเผ็ด !
 
1. ช่วยลดน้ำหนัก

          การทานพริกช่วยลดน้ำหนักได้ เนื่องจากแคปไซซินในพริกมีสาร thermogenic ซึ่งเป็นสารก่อความร้อนในร่างกาย ส่งผลดีต่อระบบเผาผลาญ ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญได้ดี จึงมีส่วนช่วยให้น้ำหนักของเราลดเร็วขึ้น อีกทั้งพริกยังมีกรดแอสคอร์บิก ที่ช่วยเร่งให้ร่างกายเปลี่ยนไขมันเป็นพลังงานได้ โดยมีการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นพบว่า การทานพริก 10 กรัม ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และนานถึง 30 นาทีเลยทีเดียว แต่จะให้ทานพริกสด ๆ เป็น 10 กรัมเลยก็คงไม่ไหว ฉะนั้นใครที่อยากใช้พริกช่วยลดน้ำหนัก จะลองหันมาทานพริกในรูปแบบสารสกัดดูก็ได้

          นอกจากนี้ยังพบว่า วิตามินซีที่สูงมากในพริกสามารถขยายเส้นเลือดในลำไส้และกระเพาะอาหาร ช่วยให้ร่างกายดูดซึมอาหารได้ดีและทำให้ระบบขับถ่ายของเราดีขึ้นอีกด้วยนะคะ

2. ทำให้อารมณ์ดี 

          สารแคปไซซินในพริกสามารถกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด อีกทั้งยังลดการสร้างฮอร์โมนที่ทำให้เครียด ช่วยให้เราอารมณ์ดี สดชื่น ทำให้ความดันโลหิตลดลง รู้สึกผ่อนคลาย และมีความสุขมากขึ้นได้

พริก

3. ช่วยให้เจริญอาหาร


          นอกจากสารเอ็นดอร์ฟินจะช่วยทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกว่าอาหารอร่อยขึ้นได้อีกต่างหาก อีกทั้งพริกจะไปทำให้ต่อมน้ำลายทำงานมากขึ้น จนไปกระตุ้นปลายประสาทให้สมองส่วนกลางรับรู้การอยากอาหาร ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลย ถ้าคนส่วนมากจะชอบทานอาหารรสเผ็ด หรือรู้สึกว่าอาหารที่มีรสเผ็ด ยิ่งเผ็ดก็ยิ่งกินอร่อย

4. บรรเทาอาการปวด

          อย่างที่บอกไปแล้วว่าสารแคปไซซินในพริกสามารถกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารที่บรรเทาอาการเจ็บปวดแบบธรรมชาติ จึงช่วยให้เรารู้สึกเจ็บปวดน้อยลงได้ โดยสมัยก่อนมีการนำพริกขี้หนูมาทำลูกประคบ หรือทำเป็นน้ำมันนวดแก้ปวดเมื่อยตามข้อ  ขณะที่ในปัจจุบันก็มีการนำสารแคปไซซินมาเป็นส่วนประกอบของขี้ผึ้งและเจล ใช้ทาบรรเทาอาการปวดบวมบริเวณผิวหนัง รวมทั้งอาการปวดที่เกิดจากเส้นเอ็น เข่าอักเสบ แก้ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว รวมทั้งเริมและงูสวัดด้วยค่ะ

5. บำรุงสายตา

          พริกมีวิตามินเอและวิตามินซีอยู่ค่อนข้างมาก อีกทั้งสีของพริกที่ไม่ว่าจะเป็นสีแดง เหลือง เขียว ก็มีเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณบำรุงและป้องกันความเสื่อมของจอประสาทตาได้ ยิ่งเมื่อรวมพลังกับวิตามินเอและวิตามินซีที่อยู่ในพริกด้วยแล้ว ก็จัดว่าพริกเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงสายตาที่ดีชนิดหนึ่งเลยล่ะค่ะ ทว่าการจะรับวิตามินเอและวิตามินซีจากพริกนั้น ควรต้องกินพริกสด ๆ ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ดังนั้นควรเลือกกินพริกที่มีความเผ็ดน้อยอย่างพริกหยวก พริกหวาน หรือใครกินเผ็ดเก่งมากจะกินเปลือกพริกในส้มตำ อันนี้ก็แล้วแต่สะดวกเลยจ้า

พริก

6. ช่วยให้จมูกโล่ง หายใจสะดวกขึ้น

          จะสังเกตได้ว่าเวลาเราทานพริกเข้าไปสักพักจะมีอาการน้ำมูก น้ำตาไหล นั่นก็เป็นเพราะรสเผ็ด ๆ รวมทั้งสารก่อความร้อนในพริกจะไปช่วยลดปริมาณน้ำมูก และสิ่งกีดขวางในทางเดินระบบหายใจ ทำให้จมูกโล่ง ลดอาการคัดจมูก ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น แถมยังบรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะที่เหนียวข้น ช่วยให้ขับเสมหะออกมาได้ง่ายอีกด้วย ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งหอบหืด ภูมิแพ้ ไซนัส และหลอดลมอักเสบ เราขอแนะนำให้ทานพริกเป็นประจำเลย แต่ก็ระวังอย่าทานเผ็ดมากเกินไปนะคะ ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารตามมาได้  
 
7. เสริมสร้างภูมิต้านทาน

          พริกมีวิตามินเอและวิตามินซีสูงมาก ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าวิตามินเอและวิตามินซีเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันโรคไข้หวัดได้ แถมในพริกยังมีเบต้าแคโรทีนและสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราให้แข็งแรงขึ้นได้อีกด้วย

8. ลดน้ำตาลในเลือด

          มีการศึกษาพบว่า แคปไซซินในพริกช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสได้ โดยมีการทดลองให้หญิงวัยหมดประจำเดือน 10 คน ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม แล้วเจาะเลือดเก็บข้อมูลก่อนดื่มและหลังดื่มที่เวลา 15 นาที 30 นาที และ 60 นาที ในขณะที่วันต่อมาให้ดื่มน้ำตาลกลูโคสเหมือนเดิม แต่เพิ่มการทานพริกเข้าไปด้วย ซึ่งพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดวันที่ทานพริกร่วมด้วย มีระดับต่ำกว่าวันที่ไม่ทานประมาณ 20% ซึ่งก็สรุปได้ว่าพริกน่าจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้นั่นเอง

9. ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น

          รู้ไหมคะว่า การทานพริกเป็นประจำช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น เพราะสารแคปไซซินสามารถยับยั้งการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้ดี อีกทั้งในพริกยังมีเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี ที่ช่วยเพิ่มการยืดตัวของผนังหลอดเลือดให้รับกับแรงดันต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรงขึ้น ลดอาการหลอดเลือดอุดตันและหลอดเลือดตีบได้ค่ะ

พริก

10. ควบคุมคอเลสเตอรอล  
       

          มีงานวิจัยทดลองให้ผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูงทานพริกขี้หนู 5 กรัม ร่วมกับทานอาหารปกติเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วนำผลมาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ทานพริก ซึ่งจากการทดลองพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ทานพริกมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) คงที่ แต่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ทานพริกเลย มีระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดสูงขึ้น จึงสรุปได้ว่าการทานพริกช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีให้คงที่และเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีได้

          นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่า สารแคปไซซินมีสรรพคุณช่วยยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ในขณะที่ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้นได้ ทำให้เรามีปริมาณไตรกลีเซอไรด์ต่ำลงอีกด้วย

11. ป้องกันโรคโลหิตจาง

          โรคโลหิตจางมีสาเหตุหลักมาจากการขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงรวมทั้งฮีโมโกลบินให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งในพริกก็มีธาตุเหล็กประกอบอยู่พอสมควร รวมถึงยังมีทองแดงที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีกรดโฟลิกที่ช่วยเสริมให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแข็งแรง ดังนั้น พริกจึงถือเป็นอีกหนึ่งอาหารที่ช่วยป้องกันโลหิตจางได้ค่ะ

12. ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

          รู้ไหมคะว่า วิตามินซีในพริกมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร แถมยังช่วยสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่หยุดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเราก็บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า พริกมีวิตามินซีสูงมาก ดังนั้นการทานพริกจึงช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ ยิ่งไปกว่านั้นในพริกยังมีเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าสารเบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถลดอัตราการกลายพันธุ์ของเซลล์ และช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดและมะเร็งช่องปากได้  

13. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

          เพียงแค่ทานพริกก็ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจลงได้แล้วค่ะ เพราะพริกจะไปช่วยลดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยละลายลิ่มเลือด ทำให้เลือดไม่จับตัวเป็นก้อน จนอุดตันหลอดเลือด ไม่เพียงเท่านั้น เพราะอย่างที่เราบอกไปแล้วว่าการทานพริกยังช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล โดยป้องกันไม่ให้ตับสร้างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี  ทำให้มีปริมาณไตรกลีเซอไรด์ต่ำลง จึงส่งผลดีต่อหัวใจและสุขภาพ ดังนั้นหากเราทานพริกเป็นประจำก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้พอสมควรเลยค่ะ
 
พริก

พริก โทษไม่ดีที่ต้องระวัง

          สารแคปไซซินในพริกมีฤทธิ์ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อ ดังนั้นในคนที่กินพริกมาก (กินเผ็ดจัด) อาจเกิดการระคายเคืองตั้งแต่เนื้อเยื่อในปาก รวมไปถึงระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ทั้งกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแสบร้อน กระตุ้นการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร รวมไปถึงอาจทำให้ท้องเสียได้ ดังนั้นคนเป็นโรคกระเพาะอยู่แล้วไม่ควรกินพริกหรือกินรสเผ็ดมาก

          ส่วนคนที่มีอาการสำลักง่าย เช่น เด็กและคนแก่ก็ควรหลีกเลี่ยงการทานพริกเช่นกัน เพราะหากสำลักพริกเข้าไปในหลอดลม กรดในพริกอาจจะไปกัดหลอดลม ทำให้หลอดลมหดเกร็ง ตีบ บวม หายใจไม่ออก เป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย

พริก

แก้เผ็ดจากพริก ต้องทำยังไง


          สังเกตไหมคะ ว่าการดื่มน้ำเปล่าไม่ได้ช่วยให้เราหายเผ็ดสักเท่าไร สาเหตุก็เป็นเพราะว่าสารแคปไซซินไม่ละลายในน้ำ แต่จะละลายในสารละลาย เช่น แอลกอฮอล์ อีเทอร์ และไขมัน แต่อย่างไรก็ตาม จะดื่มแอลกอฮอล์แก้เผ็ดก็คงไม่ค่อยดี เราจึงนำทางเลือกอื่นมาช่วยแก้เผ็ดจากพริก ดังนี้

          - ดื่มนม : การดื่มนมสามารถแก้เผ็ดได้ เพราะในนมมีโปรตีนน้ำนม (casein) และไขมัน ที่ช่วยละลายสารแคปไซซินได้ดี
         
          - ดื่มน้ำมะนาว : สารแคปไซซินในพริกเป็นด่าง แต่น้ำมะนาวเป็นกรด ฉะนั้นเมื่อเราดื่มน้ำมะนาวลงไป จึงช่วยบรรเทาความเผ็ดลงได้
         
          - อมน้ำมันมะกอก : การอมหรือเคี้ยวอาหารที่มีไขมันเคลือบอยู่จะช่วยละลายแคปไซซินได้
         
          - อมน้ำเกลือเจือจาง : ถ้าทำวิธีไหนแล้วไม่หายเผ็ดให้นำเกลือเพียงเล็กน้อยมาละลายน้ำ แล้วอมไว้สักพัก รับรองว่ารสเค็ม ๆ ของเกลือช่วยให้อาการเผ็ดหายไปได้แน่นอน

          นอกจากนี้ เราจะสังเกตเห็นว่าอาหารไทยรสเผ็ดหลายจานมักมีกะทิเป็นส่วนประกอบด้วย นี่ก็ถือเป็นภูมิปัญญาของคนไทยเหมือนกันนะคะที่ใช้ความมันจากกะทิมาดับความเผ็ดร้อนของพริกนั่นเอง
 
          ประโยชน์ของพริกเด็ดซะขนาดนี้ คนที่ชอบทานเผ็ดต้องยิ้มแก้มปริแน่ ๆ แต่ยังไงก็ต้องระวังอย่าทานเผ็ดเกินไปล่ะ เดี๋ยวจะเสี่ยงเกิดอาการระคายเคืองเนื้อเยื่อและกระเพาะอาหารเนื่องจากรสเผ็ดร้อนของพริกได้ อ้อ ! แล้วถ้าใครสนใจอยากจะลองปลูกพริกไว้ทานเองที่บ้าน ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ตามนี้เลยนะคะ

          - วิธีปลูกพริกในกระถาง วิธีปลูกพริกง่าย ๆ ที่บ้าน
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
Mahidol Channel มหิดล แชนแนล
โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์
ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร
Ehealthzine
Dovemed
Chilly
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
13 ประโยชน์ของพริก ความแซ่บที่ซ่อนสรรพคุณสุดจี๊ดไว้มากมาย อัปเดตล่าสุด 16 มิถุนายน 2565 เวลา 11:14:04 110,956 อ่าน
TOP
x close