ว่านพญาลิ้นงู สมุนไพรพื้นบ้านที่ได้ยินชื่อมาจากละคร นาคี ว่ากันว่าช่วยถอนพิษสัตว์กัดต่อย ใครมีไว้ อสรพิษไม่กล้าเข้าใกล้
การนำสมุนไพรมาใช้บำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยเฉพาะคนในชนบทที่รู้เรื่องสมุนไพรเป็นอย่างดี อย่างเช่นว่าถ้าเกิดถูกงูกัด ก็จะนำ "ว่านพญาลิ้นงู" มาช่วยถอนพิษ หรือหากใครเคยชมละครเรื่อง "นาคี" ก็จะเห็นชาวบ้านนำ "ว่านพญาลิ้นงู" มาใช้พิสูจน์ว่า "คำแก้ว" เป็นเจ้าแม่นาคีจริงหรือไม่ เพราะเชื่อกันว่า "ว่านพญาลิ้นงู" มีฤทธิ์ปราบงู สามารถใช้ป้องกันอสรพิษไม่ให้เข้ามาใกล้ตัวได้เช่นกัน วันนี้เลยอยากชวนทุกคนไปเรียนรู้สรรพคุณของว่านชนิดนี้กันค่ะ
รู้จักว่านพญาลิ้นงู
ว่านพญาลิ้นงู หรือว่านงู, ว่านเขี้ยวงู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium sp. อยู่ในวงศ์ AMARYLLIDACEAE
ลักษณะว่านพญาลิ้นงู เป็นไม้ล้มลุกที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน หัวจะมีลักษณะกลมคล้ายหอมหัวใหญ่ แต่รูปร่างยาวรีกว่า มีสีเขียวอ่อนปนขาว หากผ่าครึ่งออกมาจะเป็นกลีบแข็งสีขาวซ้อนกันเป็นชั้น ๆ คล้ายเกล็ดงู เนื้อในหัวมีสีเขียวอ่อน ต้นสูงไม่เกิน 30 เซนติเมตร
ใบของว่านพญาลิ้นงูเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แตกใบขึ้นมาจากหัวใต้ดิน ใบมีลักษณะคล้ายต้นหอม ต้นกระเทียม แต่ยาวกว่า ใบมีสีน้ำตาลแซมตอนปลายเล็กน้อย ปลายใบยาวคล้ายหางงู คือเรียวแหลมโค้งงอและตวัดขึ้น คนจึงมองว่าเหมือนปลายลิ้นงู ขอบใบเรียบ โคนใบตัดและสอบเรียว ไม่ปรากฏว่ามีดอก
ทั้งนี้ "ว่านพญาลิ้นงู" เป็นสมุนไพรคนละชนิดกับ "หญ้าลิ้นงู" ที่มีชื่อคล้ายกันนะคะ เพราะหากเป็นหญ้าลิ้นงูจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hedyotis corymbosa Lamk อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE ลักษณะทางพฤกษศาสตร์จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ว่านพญาลิ้นงู กับสรรพคุณรักษาโรค
หมอพื้นบ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักนำ "ว่านพญาลิ้นงู" มาใช้ในการดูดพิษ ถอนพิษจากการถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ต่อ แตน โดยมีตำรับยาหลากหลาย เช่น ให้นำหัวว่านไปฝนกับน้ำมะนาว แล้วทาบริเวณที่ถูกกัดต่อย พิษจะหายทันที
หรือข้อมูลจากคุณจำรัส เซ็นนิล ที่เขียนไว้ในเว็บไซต์ jamrat.net ก็พบว่า มีผู้เคยนำว่านพญาลิ้นงู มาใช้รักษาพิษแมงป่องต่อย โดยนำหัวว่าน 2-3 หัว มาตำให้แหลก ผสมเหล้าขาว จำนวน 2 ช้อนแกง แล้วนำมาพอกแผล เพียงไม่กี่นาทีก็หายปวดอย่างน่าอัศจรรย์
ว่านพญาลิ้นงู กับความเชื่อกันงูเข้าบ้าน
มีความเชื่อว่า หากปลูกว่านพญาลิ้นงูไว้ที่บ้าน งูจะไม่เข้ามารบกวนในบ้าน หรือหากผู้ใดนำหัวว่านพญาลิ้นงูพกติดตัวไว้ งู ตะขาบ หรือสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายก็จะไม่กล้าเข้าใกล้ผู้นั้นเลยแม้แต่น้อย
ภาพจาก pexels.com
ว่านพญาลิ้นงู ปลูกอย่างไรตามความเชื่อ
ควรปลูกในดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย ผสมเศษใบไม้ผุพัง เพราะระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี ให้วางกระถางในที่ที่มีแสงแดดส่องถึงบ้าง เพราะเป็นพืชที่ชอบแสงแดดรำไร แต่ไม่ควรตั้งในที่ที่มีแสงแดดจัด เพราะจะทำให้ใบว่านเหี่ยว แต่หากปลูกในแปลง ควรทำที่บังแดดไว้ด้วย
วิธีปลูกว่านพญาลิ้นงู คือต้องปลูกให้หัวโผล่ คือนำหัวว่านใส่ลงไปในดินแล้วรดน้ำตามพอสมควร โดยมีความเชื่ออีกเช่นกันว่า ให้รดน้ำที่เสกด้วยคาถา "นะโมพุทธายะ" 3 จบ และควรปลูกในวันพฤหัสบดี ถึงจะดี
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อที่ว่า ห้ามผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนปลูกว่านพญาลิ้นงู เพราะจะทำให้สรรพคุณทางยาเสื่อม แต่ทว่าเป็นเพียงคำบอกเล่าสืบทอดกันมา ซึ่งจริง-เท็จอย่างไรไม่ทราบได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
ว่านพญาลิ้นงู หาซื้อได้ที่ไหน ราคาเท่าไร
หากสนใจนำว่านพญาลิ้นงูมาปลูก ลองสอบถามตามร้านที่เพาะพันธุ์พืชสมุนไพร หรือร้านขายต้นไม้ดูค่ะ สนนราคาขึ้นอยู่กับขนาดของหัวว่าน หากหัวเล็กก็มีราคาราว ๆ หลักสิบ เช่น 20-50 บาท แต่ถ้าหัวใหญ่อาจมีราคาตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไปจนถึงเกือบ ๆ หลักร้อยได้เลย
ภาพจาก คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)
jamrat.net