โรคเท้าช้าง ระวังไว้ให้ดี โรคติดต่อนี้มียุงเป็นพาหะ !

โรคเท้าช้าง

          โรคเท้าช้างเป็นอีกโรคที่มียุงเป็นพาหะ และถ้าเป็นหนักอาจมีสิทธิ์พิการได้เลย ฉะนั้นก็ได้เวลาแล้วที่เราจะมาทำความรู้จักโรคติอต่อชนิดนี้กันบ้าง

          บางคนคุ้นกับโรคเท้าช้างอยู่บ้าง แต่บางคนก็รู้แค่ว่าโรคเท้าช้างจะทำให้ขาใหญ่โตผิดปกติ หรืออวัยวะโตผิดปกติก็เท่านั้น แต่ไม่ทราบเลยว่าโรคเท้าช้างเกิดจากอะไร และที่น่ากลัวกว่าคือหลายคนยังไม่เคยทราบมาก่อนว่าโรคเท้าช้างมียุงเป็นพาหะนำโรคนะคะ ดังนั้นคงจะดีกว่าหากเราจะมาศึกษาสาเหตุของโรคเท้าช้าง และมาดูกันว่าโรคเท้าช้างเกิดจากยุงอะไรได้บ้าง อาการ วิธีรักษา และการป้องกันโรคเท้าช้างเป็นยังไง

ภาพจาก emedicine.medscape.com

โรคเท้าช้างเกิดจากอะไร
   
          โรคเท้าช้าง หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Elephantiasis หรือ Filariasis เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากหนอนพยาธิตัวกลมในสกุล Filariodidae ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน ดังนี้

          1. Wuchereria bancrofti (ชนิดที่พบมากที่สุดในไทย)
          2. Brugia malayi
          3. Brugia timoli

           พยาธิตัวกลมดังกล่าวเป็นพยาธิชนิดที่อาศัยอยู่ในระบบน้ำเหลืองของคน โดยมียุงเป็นพาหะนำโรค และเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อโรคเท้าช้างแล้ว จะมีอาการแสดงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบน้ำเหลือง เช่น ท่อน้ำเหลืองอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มีอาการไข้เท้าช้าง ท่อน้ำเหลืองขยาย พร้อมกับมีอาการอุดตันที่ท่อทางเดินน้ำเหลือง ก่อให้เกิดพังผืดและมีน้ำเหลืองคั่ง และส่งผลให้อวัยวะที่เป็นโรคบวมโต ซึ่งจะเรียกว่าภาวะโรคเท้าช้าง (Elephantiasis)

โรคเท้าช้าง ติดต่อสู่คนได้อย่างไร
   
          ระบาดวิทยาการเกิดโรคเท้าช้าง กล่าวคือ เมื่อยุงที่มีเชื้อพยาธิเท้าช้างระยะติดต่อมากัดเรา เชื้อของโรคเท้าช้างจะเคลื่อนตัวออกจากส่วนปากของยุงมาที่ผิวหนัง แล้วชอนไชเข้าสู่ผิวหนังบริเวณที่ถูกยุงกัด จากนั้นเชื้อก็จะเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวแก่ในน้ำเหลือง โดยเชื้อโรคเท้าช้างจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-9 เดือน จากนั้นเมื่อพยาธิตัวผู้และตัวเมียผสมพันธุ์กัน ก็จะออกลูกเป็นตัวอ่อนเรียกว่า ไมโครฟิลาเรีย ซึ่งเจ้าตัวอ่อนนี้จะไหลวนเวียนอยู่ในกระแสเลือดในตัวเรา และเมื่อมียุงมากัดเรา ยุงตัวนั้นก็จะได้รับเชื้อตัวอ่อนเข้าไป และเจริญเป็นพยาธิระยะติดต่อภายใน 1-2 สัปดาห์

ภาพจาก โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

          สรุปง่าย ๆ คือ เมื่อยุงที่มีเชื้อมากัดเรา จนพยาธิจากยุงฟักตัวในร่างกายเรา เราก็อาจจะมีอาการอักเสบที่ต่อมน้ำเหลืองได้ และเมื่อมียุงตัวใหม่มากัดเราต่อ ยุงตัวนั้นก็จะหลายเป็นพาหะนำตัวอ่อนไมโครฟิลาเรียไปแพร่เชื้อให้คนอื่น ๆ ได้อีก

          อย่างไรก็ตาม การจะเกิดภาวะโรคเท้าช้างได้ จะใช้เวลาค่อนข้างนาน กล่าวคือต้องมีการติดเชื้อพยาธิฟีลาเลียซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือพูดง่าย ๆ ว่าคนที่เสี่ยงมากที่สุดก็คือคนที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อโรคเป็นระยะเวลานานนั่นเอง

โรคเท้าช้าง เสี่ยงมากในพื้นที่ไหนบ้าง

          ในประเทศไทยจะพบการติดเชื้อโรคเท้าช้างจากพยาธิ 2 ชนิดด้วยกัน ซึ่งแต่ละชนิดก็พบว่ามักจะระบาดในพื้นที่ดังต่อไปนี้

          1. พยาธิฟิลาเรียชนิด Wuchereria bancroft พบมากในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน และจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า

          2. พยาธิฟิลาเรียชนิด Brugia malayi พยาธิชนิดนี้พบมากบริเวณฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้ คือ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

โรคเท้าช้าง ใครเสี่ยงบ้าง

          การติดเชื้อมักจะพบได้บ่อยในเด็ก แต่การเจ็บปวดและอาการแสดงของโรคจะเกิดขึ้นมากกับคนวัย 30 ปีขึ้นไป เนื่องจากการเพาะเชื้อโรคเท้าช้างใช้เวลาค่อนข้างนานนั่นเอง



โรคเท้าช้างเกิดจากยุงอะไรได้บ้าง

          โรคเท้าช้างแพร่เชื้อโดยยุงที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยสามารถจำแนกได้ดังนี้

          - พยาธิฟิลาเรียชนิด Wuchereria bancroft มียุงลายชนิด Aedes desmotes, Ae. harinasutai, Ae. annandalei, Ae. imitator และยุงลายเสือชนิด Mansonia dives เป็นพาหะ

          - พยาธิฟิลาเรียชนิด Brugia malayi มียุงลายเสือชนิด Mansonia uniformis, M. indiana, M. bonneae, M. annulata และ Coquilletidia crassipes เป็นพาหะ

          อย่างไรก็ตาม ยังพบได้อีกว่า ยุงรำคาญที่พบมากทั้งในเขตเมืองและกึ่งเมือง ยุงก้นปล่องในเขตชนบท และยุงลายในพื้นที่แพร่โรคในหมู่เกาะในแปซิฟิก อาจเป็นพาหะของโรคเท้าช้างได้ด้วยนะคะ

   
โรคเท้าช้าง อาการเป็นอย่างไร
   
          โรคเท้าช้าง อาการระยะเริ่มต้นจะสังเกตได้จากอาการมีไข้ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมและท่อน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ขาหนีบ หรืออัณฑะ อันเป็นผลจากพยาธิตัวแก่ที่อยู่ในท่อน้ำเหลืองสร้างความระคายเคืองแก่เนื้อเยื่อภายใน รวมทั้งพยาธิตัวแก่เหล่านี้อาจมีการปล่อยสารพิษออกมาด้วย
   
          ทั้งนี้หากมีอาการเรื้อรัง มีการบวมของต่อมน้ำเหลือง จะพบว่าเริ่มแรก กดผิวหนังแล้วบุ๋มลงไป แต่ต่อมาอวัยวะที่เกิดโรคจะเริ่มบวมมากขึ้น กดแล้วไม่บุ๋ม และในที่สุดเกิดเป็นภาวะเท้าช้าง (elephantiasis) หรือเกิดภาวะพิการถาวรได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายหลังจากติดเชื้อพยาธิไปแล้วประมาณ 5-10 ปี โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Brugia malayi จะมีอาการแสดงที่สำคัญ คือ ขาโต หรือมีอาการบวมโตตั้งแต่ใต้เข่าลงไป และบางครั้งก็จะพบอาการบวมที่แขนตั้งแต่ใต้ข้อศอกลงไป
   
          ในขณะที่ผู้ติดเชื้อ Wuchereria bancrofti จะเกิดพยาธิสภาพที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ได้ โดยถ้าเป็นผู้หญิงอาจจะพบอาการบวมของปากช่องคลอด (vulva) และที่หน้าอก ส่วนในผู้ชายจะพบว่ามีการคั่งของน้ำเหลืองในอัณฑะ (hydrocele) และปัสสาวะเป็นสีขุ่นขาวเหมือนน้ำนม (chyluria) แต่บางรายอาจพบการบวมที่แขน ขาได้ ซึ่งจะเป็นการบวมตลอดทั้งแขนหรือขา

โรคเท้าช้าง การรักษาทำอย่างไร

          การรักษาโรคเท้าช้างขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น โดยหากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยติดโรคพยาธิชนิดนี้เข้า แต่ยังไม่แสดงอาการของโรคเท้าช้าง แพทย์อาจเลือกวิธีรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยรับประทานยา Albendazole ขนาด 400 มิลลิกรัม ร่วมกับยา Hetrazan (diethylcarbamazine, DEC) ขนาด 6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 1 ครั้งต่อปี
   
          ส่วนผู้ป่วยที่แสดงอาการของโรคเท้าช้างแล้ว นอกจากจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาดังข้างต้นแล้ว แพทย์จะแนะนำให้รักษาความสะอาดบริเวณที่มีอาการของโรคร่วมกับการทำกายภาพบำบัด โดยนวดบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่บวมโตเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของน้ำเหลือง และในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจวินิจฉัยให้เข้ารับการผ่าตัดด้วย


โรคเท้าช้าง กับภาวะแทรกซ้อน

          ภาวะแทรกซ้อนของโรคเท้าช้างมักจะเกิดจากผลข้างเคียงของยา ดังนี้
   
1. เกิดจากพิษของยา

          เคสนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของยา หรือปฏิกิริยาไวต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย กล่าวคือ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ง่วงนอน เบื่ออาหาร และคลื่นไส้อาเจียน อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากกินยาประมาณ 1-2 ชั่วโมง และจะหายไปเองภายในวันนั้น

2. อาการภูมิแพ้
   
          เมื่อ microfilaria ในโลหิตถูกทำลาย สารโปรตีนจาก microfilaria ที่ตายแล้วจะทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ เวียนศีรษะ เบื่ออาหาร และคลื่นไส้อาเจียน อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังจากกินยาครั้งแรกหรือวันแรก ๆ และจะหายไปเองภายใน 2-3 วัน

          นอกจากนี้ การทำลายพยาธิตัวเต็มวัยอาจทำให้ต่อมและท่อน้ำเหลืองอักเสบ เกิดฝีที่ไข่ดันแล้วแตกออก มีอาการบวมบริเวณต่อมน้ำเหลืองของแขน-ขาชั่วคราว หรือในบางรายอาจมีการอักเสบที่อวัยวะสืบพันธุ์ ภายหลังกินยา 3 วัน-4 สัปดาห์ และเกิดนาน 1-2 สัปดาห์ แต่ท้ายที่สุดอาการก็จะหายไปเอง


ภาพจาก องค์การอนามัยโลก

โรคเท้าช้าง การป้องกันควรทำอย่างไร
   
          การป้องกันและควบคุมโรคเท้าช้าง สามารถทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

ป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เช่น

          - นอนในมุ้ง หรือห้องมุ้งลวด
          - ทายากันยุง

ควบคุมและกำจัดยุงพาหะ เช่น

          - พ่นสารเคมีกำจัดยุงตามฝาผนังบ้าน
          - กำจัดลูกน้ำตามแหล่งต่าง ๆ
          - กำจัดวัชพืชและพืชน้ำที่เป็นแหล่งเกาะอาศัยของลูกน้ำในแหล่งน้ำ
          - ประชาชนที่อยู่ในแหล่งระบาดของโรคเท้าช้าง อาจกินยาป้องกัน ได้แก่ Diethylcarbamazine (DEC) โดยสามารถติดต่อขอรับยาได้ที่หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณะสุขทั่วประเทศ

          แม้โรคเท้าช้างจะไม่ได้ติดต่อกันได้ในครั้งเดียว ทว่าการไม่มีความเสี่ยงอยู่กับตัวเลยคงดีกว่า ฉะนั้นหากรู้สึกว่าตัวเองเหมือนจะป่วยโรคนี้หลังจากที่โดนยุงรุมกัดมา ก็ขอให้รีบไปตรวจรักษากับแพทย์โดยเร็วที่สุดจะดีกว่านะคะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุพรรณบุรี


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคเท้าช้าง ระวังไว้ให้ดี โรคติดต่อนี้มียุงเป็นพาหะ ! อัปเดตล่าสุด 22 พฤศจิกายน 2559 เวลา 15:54:52 64,799 อ่าน
TOP
x close