x close

เที่ยวป่าหน้าหนาว ระวังป่วย 2 โรคอันตราย รักษาไม่ทันอาจถึงชีวิต

โรคหน้าหนาว

          นักท่องป่าฟังให้ดี หน้าหนาวนี้เข้าป่า ตั้งแคมป์ อย่าลืมดูแลตัวเอง ป้องกันป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่และไข้มาลาเรีย โรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

          พออากาศเริ่มเย็น ๆ เข้าสู่ฤดูหนาว หลายคนก็จัดทริปแพ็กกระเป๋าไปเที่ยวตามป่าเขาเพื่อสัมผัสอากาศบริสุทธิ์กันทันที แต่อยากเตือนไว้สักนิดว่า การเดินป่าหรือตั้งแคมป์ในช่วงฤดูหนาวแบบนี้ มีเรื่องสุขภาพให้ต้องระวังไม่น้อย โดยเฉพาะ 2 โรคที่มักพบในผู้ที่นิยมไปเที่ยวป่าหน้าหนาว  ซึ่งหากรักษาไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โรคที่ว่านี้ก็คือ โรคไข้รากสาดใหญ่ และไข้มาลาเรีย
โรคหน้าหนาว

ไข้รากสาดใหญ่ หรือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus)

          โรคไข้รากสาดใหญ่ มักพบในกลุ่มคนที่อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในป่า โรคนี้มีตัวไรอ่อนเป็นพาหะ ซึ่งไรอ่อนมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ และกินน้ำเหลืองของสัตว์เลือดอุ่นเป็นอาหาร รวมทั้งคน ในตัวไรอ่อนจะมีเชื้อริกเกตเซีย โดยจะชอบกัดบริเวณในร่มผ้า เช่น ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้ คอ แต่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ เพราะจะแสดงอาการหลังถูกกัดไปแล้วประมาณ 10-12 วัน

อาการไข้รากสาดใหญ่

          อาการที่เห็นได้ชัดคือ จะมีไข้สูงร่วมกับหนาวสั่น โดยมีไข้สูงตลอดเวลา (อาจเป็นอยู่นานถึง 2-3 สัปดาห์) มีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ตาแดง หน้าแดง ปวดกระบอกตา บางรายปวดน่อง ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ใกล้แผลที่ถูกกัด

          ผู้ป่วยร้อยละ 50 จะมีบาดแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ในจุดที่ถูกไรอ่อนกัด ลักษณะมีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-15 เซนติเมตร ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ ซึ่งพบประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ป่วย เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ ตับอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และภาวะอวัยวะภายในล้มเหลวหลายระบบ ทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ

วิธีป้องกัน

          - ผู้ที่จะไปเดินป่าควรใส่รองเท้า ถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกงไว้ ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกง
          - ทายากันแมลงกัดตามแขนและขา
          - หากตั้งแคมป์ไฟ หรือกางเต็นท์นอนในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน
          - หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ
          - หลังออกจากป่าให้รีบอาบน้ำให้สะอาด และซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ทันที เพราะตัวไรอ่อนอาจติดมากับเสื้อผ้า

          ทั้งนี้ หากภายใน 2 สัปดาห์หลังออกจากป่าแล้วมีอาการป่วยดังที่กล่าวมาข้างต้น ให้นึกถึงว่าอาจเป็นโรคนี้ได้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบ
 
โรคหน้าหนาว

ไข้มาลาเรีย 

          การเดินทางไปท่องเที่ยวป่าเขา โดยเฉพาะผู้ที่นิยมเข้าป่าตามแนวชายแดน จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดมาก ดังนั้นจึงต้องระวังโรคมาลาเรียที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค เพราะยุงก้นปล่องจะพบมากบริเวณป่าเขาชายแดนของประเทศ และมีแหล่งเพาะพันธุ์บริเวณเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ เริ่มออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง

อาการโรคมาลาเรีย

          หลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัด ประมาณ 10-14 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก ต่อมาจะรู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง หากมีอาการเช่นนี้ให้คิดว่าอาจเป็นไข้มาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่า หรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษารวดเร็ว เพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตในที่สุด

วิธีรักษา

          แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการให้ยารักษามาลาเรียตามชนิดของเชื้อ ความรุนแรงของโรค และสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรซื้อยารักษามาลาเรียกินเอง เพราะอาจจะได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ หรือเป็นยาที่ใช้ไม่ได้ผลทำให้มีการดื้อยา

วิธีป้องกัน

          ง่ายที่สุดคือ หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำไข้มาลาเรียกัด โดยการสวมเสื้อแขนยาวหรือกางเกงขายาวปกคลุมแขนขามิดชิด ทายากันยุง หรือจุดยากันยุง และนอนในมุ้งชุบสารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่และฆ่ายุง แต่ไม่ทำอันตรายต่อคน

          ต่อให้เป็นช่วงเวลาแห่งการท่องเที่ยวพักผ่อนก็อย่านิ่งนอนใจจนลืมดูแลสุขภาพตัวเอง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
กรมควบคุมโรค
กรมควบคุมโรค


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวป่าหน้าหนาว ระวังป่วย 2 โรคอันตราย รักษาไม่ทันอาจถึงชีวิต อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2559 เวลา 11:52:01 11,637 อ่าน
TOP