กรมควบคุมโรค แจงคนถูกแมวข่วนแผลติดเชื้อ ชี้เป็น "โรคเนื้อเน่า"

 โรคเนื้อเน่า

          อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงกรณีชายวัย 63 ปี ถูกแมวข่วน แผลลุกลามจนต้องผ่าตัด สาเหตุเกิดจากผู้ป่วยเป็นโรคเนื้อเน่า แนะหากถูกสัตว์ข่วนให้รีบทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที ก่อนไปพบแพทย์

          จากกรณีที่ชายวัย 63 ปี ถูกแมวข่วนจนแผลติดเชื้อหนักตั้งแต่น่องจนถึงต้นขา เพราะไม่ได้ดูแลทำความสะอาดและไม่ไปพบแพทย์ในทันที จนหวิดถูกตัดขานั้น (อ่านข่าว : แชร์เตือนภัย ลุงหวิดถูกตัดขา หลังถูกแมวข่วนจนแผลติดเชื้อลุกลามหนัก)

โรคเนื้อเน่า
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ (24 มกราคม 2560) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาชี้แจงว่า ผู้ป่วยถูกแมวข่วนแล้วไม่ได้ล้างทำความสะอาด ต่อมามีไข้ ขาบวม บาดแผลลุกลาม แพทย์ตรวจก็พบว่าการทำงานของไตบกพร่อง เกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ซึ่งต้องผ่าตัดสองครั้งใน 3 วัน ทั้งนี้ แพทย์ได้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักและโรคพิษสุนัขบ้าให้กับผู้ป่วย

          ทั้งนี้จากการวินิจฉัยพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคเนคโครไทซิ่ง แฟสซิไอติส (Necrotizing fasciitis) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "โรคเนื้อเน่า" จัดเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง โรคเนื้อเน่ามักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน เช่น เชื้อสเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ (Streptococcus group A) เชื้อเคลปซิลล่า (Klebsiella) เชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium) ที่ทำให้เกิดโรคบาดทะยัก เชื้ออีโคไล ( E. coli) เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และเชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila) เป็นต้น โดยเชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ สเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ (Streptococcus group A) โดยจะปวดแผลมาก แผลอักเสบบวมแดง ร้อนอย่างรวดเร็ว และอาการปวดจะรุนแรงแม้มีบาดแผลเล็ก ๆ ก็ตาม ผิวหนังที่บาดแผลมีสีคล้ำ ม่วง ดำ หรือมีถุงน้ำเกิดขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ รวมทั้งมีไข้สูง หากได้รับการตรวจรักษาที่รวดเร็ว โดยผ่าตัดเอาเนื้อที่เน่าตายออก และให้ยาปฏิชีวนะ จะลดอัตราตายและพิการลงได้ 

          อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ป่วยรายนี้ อาจจะต้องรับการผ่าตัดอีกครั้งหากมีเนื้อตายเพิ่ม และหากหายดีแล้วแพทย์จะทำการศัลยกรรมปลูกถ่ายผิวหนังเพื่อที่จะปิดแผล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

โรคเนื้อเน่า

แมวข่วน

          นอกจากนี้ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ยังแนะนำอีกด้วยว่า หากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรค กัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือผิวหนังที่มีบาดแผลอย่าชะล่าใจ ควรรีบปฐมพยาบาลล้างแผลทันทีด้วยน้ำ หรือฟอกสบู่หลาย ๆ ครั้ง เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นให้รีบไปโรงพยาบาล อย่าปล่อยทิ้งไว้นานจนแผลลุกลาม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน เนื่องจากเชื้อนี้จะแพร่กระจายได้รวดเร็วขึ้น และอาจรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสโลหิต
 


ภาพจาก ThaiPBS, รายการเรื่องเล่าเช้านี้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
pr.moph.go.th, ครอบครัวข่าว 3, ThaiPBS
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมควบคุมโรค แจงคนถูกแมวข่วนแผลติดเชื้อ ชี้เป็น "โรคเนื้อเน่า" อัปเดตล่าสุด 24 มกราคม 2560 เวลา 17:52:15 8,363 อ่าน
TOP
x close