ประโยชน์ของเฉาก๊วย สรรพคุณมากกว่าช่วยดับกระหาย


          เฉาก๊วย ขนมหวานยอดฮิตที่ช่วยดับกระหายคลายร้อนได้ และถูกนำไปดัดแปลงทำอีกหลายเมนูทั้งคาวและหวาน และนี่แหละอาหารเพื่อสุขภาพที่ใกล้ตัวมาก ๆ เลย


          เฉาก๊วย เป็นอีกหนึ่งเมนูที่หากินได้ง่ายแถมยังอร่อยได้ในราคาถูก ซึ่งหลายคนก็น่าจะพอรู้กันอยู่บ้างว่าเฉาก๊วยมีสรรพคุณเด่น ๆ ในการคลายร้อน ดับกระหาย แต่ประโยชน์ของเฉาก๊วยมีมากกว่านั้นนะคะ และวันนี้กระปุกดอทคอมจะขออาสามาบอกต่อเองว่าเฉาก๊วย สรรพคุณของเขาดียังไง พร้อมกับปัญหาที่คาใจหลายคนมานานในประเด็นที่ว่า เฉาก๊วยทำมาจากอะไรกันแน่

เฉาก๊วย

เฉาก๊วย กับความเป็นมา


          เฉาก๊วยเป็นพืชชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในวงศ์ Labiatae วงศ์เดียวกับสะระแหน่ โหระพา และแมงลัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mesona chinensis Bentham และเฉาก๊วย ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Grass Jelly

          เฉาก๊วยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศจีนตอนใต้ แถบมณฑลกวางตุ้ง กวางสี และยูนนาน มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นและเถาเป็นแบบกิ่งเลื้อย มีขนาดเล็ก เป็นเหลี่ยม มองแล้วคล้ายต้นสะระแหน่ ลำต้นเปราะ หักง่าย ส่วนกิ่งแตกแขนงออกตามข้อของลำต้น ทอดยาวคลุมตามดินได้ 50-120 เซนติเมตร ในส่วนของใบเฉาก๊วยจะมีความคล้ายคลึงกับใบสะระแหน่ มีปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีสีสดไปจนถึงเขียวเข้ม และมีขนขนาดเล็กปกคลุม แต่หากขยี้ใบด้วยมือจะรู้สึกถึงความเป็นเมือกลื่น

          นอกจากนี้ต้นเฉาก๊วยยังมีดอกลักษณะคล้ายกับดอกแมงลักหรือดอกต้นโหระพา และมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำอมน้ำตาล ลักษณะเมล็ดเป็นทรงกลมรูปไข่
เฉาก๊วย

เฉาก๊วยทำมาจากอะไร


          ขนมวุ้น ๆ สีดำ มีความนุ่มหนึบหนับที่เราเรียกกันว่าเฉาก๊วย ทำมาจากต้นเฉาก๊วยตากแห้ง แล้วนำไปต้มให้ได้น้ำสีดำ มีลักษณะเป็นเมือกเล็ก ๆ จากนั้นนำน้ำต้มเฉาก๊วยไปกรองแล้วไปผสมกับแป้งเท้ายายม่อมหรือแป้งมันสำปะหลัง คนให้เข้ากันแล้วตั้งทิ้งไว้จนเย็น เท่านี้ก็จะได้วุ้นสีดำ มีกลิ่นหอมของไม้นิด ๆ และมีลักษณะเป็นเจลลี่เหนียวนุ่มเด้งดึ๋งให้เราได้กิน

เฉาก๊วย

คุณค่าทางโภชนาการของเฉาก๊วย


คำนวณจากใบเฉาก๊วยแห้ง ขนาด 100 กรัม เฉาก๊วยจะมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

          - คาร์โบไฮเดรต 44.95%

          - โปรตีน 8.33%

          - ไขมัน 0.39%

          - เถ้า 37.34%

          - ใยอาหาร 24.06%

ทว่าหากเป็นเฉาก๊วยในน้ำเชื่อม แคลอรีในของหวานปริมาณ 100 กรัมถ้วยนี้ก็คือ

          - พลังงาน 18 กิโลแคลอรี

          - โซเดียม 58 มิลลิกรัม

          - คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 8.8 กรัม

          - น้ำตาล 7 กรัม

          ใครจะกินเฉาก๊วยในน้ำเชื่อม หรือเฉาก๊วยโบราณใส่น้ำตาลทรายแดง ก็ควรจำกัดปริมาณการรับประทานอย่างเหมาะสม เพราะอย่าลืมนะคะว่าตัวเฉาก๊วยเองก็ผสมแป้ง แล้วไหนจะน้ำหวาน ๆ ที่นำมากินเพิ่มความอร่อยให้เฉาก๊วยอีก ยิ่งใครใส่ทั้งน้ำเชื่อมและนมสดจืด แคลอรีก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยนะ

เฉาก๊วย

เฉาก๊วย สรรพคุณล้นถ้วย


          ในส่วนสรรพคุณทางยาของเฉาก๊วยนั้น บอกเลยว่าเด็ดมากค่ะ ไม่เชื่อมาดูกันเลย

          - แก้ร้อนใน

          - ช่วยดับกระหาย

          - บรรเทาอาการหวัด ลดไข้ตัวร้อน

          - ช่วยขับเสมหะ

          - แก้คลื่นไส้

          - บรรเทาอาการเบื่ออาหาร

          - แก้ปวดท้อง มวนท้อง

          - ลดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ

          - บรรเทาอาการตับอักเสบ

          - บรรเทาอาการไขข้ออักเสบ

          - ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
   
          ที่มากไปกว่านี้ แพทย์แผนจีนยังแนะนำว่า เฉาก๊วยมีสรรพคุณทางยาที่ดีต่อคนเป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูง หากนำเฉาก๊วยมาต้มและดื่มเป็นประจำ อาการของโรคจะบรรเทาลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องระวังปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไปในน้ำเฉาก๊วยด้วยนะคะ หากใส่เป็นหญ้าหวานแทนได้ก็จะดีมาก หรือดื่มน้ำเฉาก๊วยที่ไม่เติมน้ำตาลลงไปมากนักก็ได้

ประโยชน์ของต้นเฉาก๊วย


          นอกจากจะนำต้นเฉาก๊วยมาทำเป็นขนมหวานหรือน้ำสมุนไพรดื่มแก้กระหายแล้ว ต้นเฉาก๊วยยังใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินเพื่อช่วยป้องกันการกัดเซาะหน้าดินได้อีกด้วยนะคะ

เฉาก๊วย

วิธีทำเฉาก๊วย


          หากใครสามารถหาต้นเฉาก๊วยตากแห้งได้ ลองมาทำเฉาก๊วยกินกันเลย

          1. ล้างต้นเฉาก๊วยตากแห้งให้สะอาด

          2. นำต้นเฉาก๊วยไปต้มกับน้ำในอัตราส่วน 1:25 หรือ 1:50

          3. เคี่ยวน้ำเฉาก๊วยนาน 3-5 ชั่วโมง จนน้ำเฉาก๊วยมีลักษณะข้นเป็นเมือก และมีสีดำใส

          4. ใช้ทัพพีตักต้นเฉาก๊วยแห้งขึ้นมาจากหม้อ อย่าลืมคั้นน้ำจากต้นเฉาก๊วยลงหม้อไปด้วย

          5. กรองน้ำต้มเฉาก๊วยกับผ้าขาวบางประมาณ 1-2 ครั้ง จนได้แต่น้ำเฉาก๊วยเพียว ๆ

          6. เทน้ำเฉาก๊วยลงในแป้งมันสำปะหลังหรือแป้งเท้ายายม่อม จากนั้นคนให้แป้งละลายเป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำเฉาก๊วย

          7. นำน้ำเฉาก๊วยที่ผสมแป้งเรียบร้อยแล้วเทใส่พิมพ์หรือจะทิ้งไว้ในชามที่ผสมแป้งก็ได้ ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นก็จะได้เฉาก๊วยก้อนนุ่มนิ่ม พร้อมเสิร์ฟคู่กับส่วนผสมที่พอใจ

เฉาก๊วย

          แต่หากใครอยากจะทำน้ำเฉาก๊วยไว้ดื่มให้ชื่นใจ ก็เพียงใส่น้ำลงไปในหม้อต้มต้นเฉาก๊วยแห้งให้มากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 1-2 เท่า และต้มแค่พอให้ได้น้ำเฉาก๊วยสีดำใส ๆ ไม่ต้องเคี่ยวจนน้ำต้มข้นเป็นเมือกเหมือนตอนทำเนื้อเฉาก๊วย เมื่อได้น้ำเฉาก๊วยแล้วก็กรองแยกกาก เอาแต่น้ำสีดำมาต้มกับน้ำตาลทรายตามระดับความหวานที่ต้องการ
       
          คนกลัวอ้วนอย่าเพิ่งถอดใจจากเฉาก๊วยกันล่ะ เพราะจริง ๆ แล้วเฉาก๊วยก็สามารถกินแบบเติมน้ำตาลและน้ำเชื่อมน้อย ๆ ได้ หรือหากเรากินเฉาก๊วยในปริมาณที่พอเหมาะ และหมั่นออกกำลังกายไปด้วยก็ยิ่งไม่ต้องกลัวจะอ้วนเพราะเฉาก๊วยเลย แต่มาโฟกัสถึงสรรพคุณที่เราจะได้จากเฉาก๊วยแทนดีกว่าเนอะ


บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเฉาก๊วย

 


          - เฉาก๊วยทําจากอะไร เรื่องใกล้ตัวที่คนรักของดำห้ามพลาด
          - เฉาก๊วยชาไทย สูตรขนมนุ่มหนึบกับเครื่องดื่มอร่อยเข้มหวานมัน
          - เฉาก๊วยชาเขียวนมสด หวานเย็นเคี้ยวเพลินอร่อยชื่นใจ
          - 6 เมนูเฉาก๊วย​ ขนมคลายร้อนเคี้ยวหนึบหนับโดนใจสายดาร์ก
          - เฉาก๊วยนมสดเกล็ดหิมะคาราเมล ท็อปปิ้งแน่น ๆ เย็นฉ่ำหวานมัน
 
     


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประโยชน์ของเฉาก๊วย สรรพคุณมากกว่าช่วยดับกระหาย อัปเดตล่าสุด 29 มีนาคม 2566 เวลา 16:50:09 318,219 อ่าน
TOP
x close