หญ้าหวาน สมุนไพรรสหวานเจี๊ยบ เปี่ยมคุณค่า

          หญ้าหวาน พืชสมุนไพรรสชาติหวาน สรรพคุณหญ้าหวาน และประโยชน์หญ้าหวาน มีมากมายจนคุณต้องประหลาดใจเลยเชียวล่ะ


          ในทุกวันนี้ผู้คนต่างหันมาให้ความสนใจกับสุขภาพมากขึ้น มีหลายคนที่เลือกใช้สมุนไพรในการช่วยรักษาสุขภาพ และหนึ่งในสมุนไพรที่ปัจจุบันนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมากนั่นก็คือ หญ้าหวาน ที่เริ่มมีหลาย ๆ คนนำมาใช้ในการผสมเครื่องดื่มหรือทำอาหารด้วย เพราะเป็นพืชที่มีรสชาติหวานกว่าน้ำตาลแต่ไม่ทำให้อ้วน จึงถูกนำมาใช้เพิ่มความหวานแทนน้ำตาลกันมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่ายังมีหลายคนที่ยังไม่รู้จักหญ้าหวานกันใช่ไหมล่ะ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับหญ้าหวานให้ดีมากขึ้นกันเถอะ

หญ้าหวาน สมุนไพรรสหวานเจี๊ยบ เปี่ยมคุณค่า

          หญ้าหวาน ภาษาอังกฤษคือ Stevia มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana Bertoni เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ถูกจัดอยู่ในวงศ์ ASTERACEAE เป็นพืชล้มลุกระยะยาว มีลักษณะคล้ายต้นกะเพราหรือต้นแมงลัก ลำต้นกลมและแข็ง มีใบเดี่ยว รูปหอก ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย ใบให้สารที่มีรสหวาน และมีช่อดอกสีขาว
  หญ้าหวานเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศบราซิลและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปารากวัย ซึ่งมีการค้นพบว่าชาวพื้นเมืองปารากวัย ได้ใช้หญ้าหวานนี้ผสมกับชาเพื่อดื่มมาแล้วมากกว่า 1,500 ปี ต่อมาประเทศญี่ปุ่นก็ได้นำมาใช้อย่างกว้างขวาง สำหรับในประเทศไทยได้เริ่มมีการนำหญ้าหวานมาใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาเองค่ะ โดยนิยมปลูกในภาคเหนือ เพราะหญ้าหวานขึ้นได้ดีในสภาพอากาศค่อนข้างเย็น

หญ้าหวาน

สรรพคุณหญ้าหวาน กับประโยชน์ทางยา

          หญ้าหวานถึงแม้จะเป็นสมุนไพรที่ไม่ได้ให้พลังงานกับร่างกายเหมือนพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ แต่หญ้าหวานก็มีสรรพคุณทางยาที่สำคัญหลายประการ โดยเฉพาะช่วยลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยบำรุงตับอ่อน ลดไขมันในเส้นเลือดและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงและโรคอ้วนได้ แถมยังช่วยสมานแผลทั้งภายนอกและภายใน ทำให้แผลหายไวขึ้นได้ รวมทั้งทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ใครที่รู้สึกไม่ค่อยมีแรงละก็ลองดื่มเครื่องดื่มที่ผสมหญ้าหวานก็จะช่วยให้มีกำลังวังชาเพิ่มขึ้นด้วยล่ะ และด้วยความที่หญ้าหวานเป็นพืชที่ไม่มีพลังงานนี่ล่ะ จึงมีการนำไปใช้ในการลดความอ้วนกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะใช้ผสมดื่ม หรือไปผลิตเป็นอาหารเสริม

หญ้าหวาน สมุนไพรรสหวานเจี๊ยบ เปี่ยมคุณค่า

หญ้าหวาน สมุนไพรพิชิตเบาหวาน

          แม้ว่าหญ้าหวานจะเป็นสมุนไพรที่ให้ความหวานได้มากกว่าน้ำตาล 300 เท่า แต่ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์เพราะระดับความหวานเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น แถมยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และบำรุงตับอ่อนได้อีกต่างหาก ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานไม่ต้องกลัวถึงผลข้างเคียงของหญ้าหวานกันแล้วล่ะค่ะ สามารถบริโภคหญ้าหวานได้อย่างแน่นอนค่ะ
 
หญ้าหวาน สมุนไพรรสหวานเจี๊ยบ เปี่ยมคุณค่า

ประโยชน์หญ้าหวาน สิ่งดี ๆ ไม่ควรมองข้าม

          ในปัจจุบันหญ้าหวานถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ใบอบแห้ง, ใบแห้งบดสำหรับชงแบบสำเร็จรูป (ชาหญ้าหวาน), ใบสด, ใบแห้งบดสำหรับใช้แทนน้ำตาล (หญ้าหวานผง) และแบบสารสกัดจากใบแห้งด้วยน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะนำมาชงดื่มหรือนำไปผสมกับเครื่องดื่มเสียมากกว่า เพราะในหญ้าหวานมีสารที่เรียกว่า สารสตีวิโอไซด์ ซึ่งให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 200-300 เท่า มีความทนทานต่อกรดและความร้อน และไม่ถูกย่อยสลายด้วยสารจุลินทรีย์ เมื่อใช้หญ้าหวานกับอาหารหรือเครื่องดื่มจึงไม่ทำให้เกิดการเน่าเสีย และไม่กลายเป็นสีน้ำตาลเมื่อผ่านความร้อนสูงอีกด้วย ซึ่งก็ทำให้ถูกนำไปใช้ในการผลิตอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดอย่างเช่น น้ำอัดลม น้ำชาเขียว เบเกอรี่ แยม เยลลี่ ไอศกรีม ฯลฯ 

หญ้าหวาน สมุนไพรรสหวานเจี๊ยบ เปี่ยมคุณค่า

หญ้าหวาน อันตรายหรือไม่ กินแล้วเป็นหมันจริงหรือ

          แม้ว่าจะเคยมีการรายงานว่ามีชาวปารากวัยที่กินหญ้าหวานแล้วทำให้กลายเป็นหมันหรือไปลดจำนวนอสุจิให้น้อยลงก็ตาม แต่จากงานวิจัยก็พบว่า การใช้หญ้าหวานก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียงแต่อย่างใด เพราะได้มีการวิจัยแล้วกับหนูทดลองถึง 3 ชั่วอายุ ก็ไม่พบว่าจะมีหนูในรุ่นใดที่มีการกลายพันธุ์หรือกลายเป็นหมัน ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นก็มีการใช้หญ้าหวานมายาวนานถึง 17 ปี และมีรายงานการแพทย์ของอิเคดะ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 ซึ่งได้รายงานรับรองไว้ในเอกสารทางการแพทย์ว่า ไม่พบแนวโน้มความเป็นพิษในหญ้าหวานแต่อย่างใด ดังนั้นหญ้าหวานจึงสามารถใช้ได้แต่ก็ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมค่ะ

          นอกจากนี้ อาจารย์วีรสิงห์ เมืองมั่น จาก รพ.รามาธิบดี ก็ยังได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับหญ้าหวานว่าควรกินปริมาณเท่าใดจึงจะปลอดภัย คือ ประมาณ 1-2 ใบต่อเครื่องดื่ม 1 ถ้วย หรือสูงสุดกินได้ถึง 7.9 กรัม/วัน ซึ่งสูงมากเปรียบได้กับกินผสมกาแฟหรือเครื่องดื่มได้ถึง 73 ถ้วย/วัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ดื่มกาแฟประมาณวันละ 2-3 ถ้วยเท่านั้น

          ทั้งนี้ ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้หญ้าหวานเป็นวัตถุดิบสำหรับชาสมุนไพร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องกำหนดรายชื่อพืชหรือส่วนของพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับชาสมุนไพร ประกาศ ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

         เห็นไหมล่ะคะว่าหญ้าหวานมีประโยชน์และสรรพคุณที่น่าอัศจรรย์มากเพียงใด ใครที่กำลังหนักใจเพราะตัวเองชอบรสหวานแต่ก็กลัวอ้วนละก็ ลองหาหญ้าหวานมาใส่แทนน้ำตาลดูนะ รับรองว่าได้ผลดีแน่นอนจ้า


ขอขอบคุณข้อมุลจาก

สถาบันการแพทย์แผนไทย
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หญ้าหวาน สมุนไพรรสหวานเจี๊ยบ เปี่ยมคุณค่า อัปเดตล่าสุด 21 กรกฎาคม 2564 เวลา 08:44:59 178,961 อ่าน
TOP
x close