อะไรที่มากเกินไปย่อมไม่ดีในทุกกรณีค่ะ ยิ่งหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ ความปลอดภัยของชีวิตแล้ว ยิ่งต้องดูแลกันให้มากขึ้น อย่างวันนี้กระปุกดอทคอมก็จำเป็นต้องออกมาเตือนทุกคนจริง ๆ ว่า อย่ากินคาเฟอีนมากเกินไป เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้เลย (อ่านข่าว สลด.. หนุ่มวัย 16 ดับเพราะคาเฟอีน หลังดื่มกาแฟ-น้ำอัดลม-เครื่องดื่มชูกำลัง ใน 2 ชม.)
เกริ่นไปขนาดนี้เหล่าคอฟฟี่เลิฟเวอร์อาจมีสะดุ้งกันบ้าง เพราะยังไม่รู้ชัดว่าปริมาณคาเฟอีนแค่ไหนถึงจะเรียกว่ามากเกินไปจนเสี่ยงต่ออันตราย ดังนั้นเราขอบอกให้ทราบไปพร้อมกันเลยว่า สำหรับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังหรือโรคอันตรายใด ๆ ไม่ควรได้รับคาเฟอีนเกินวันละ 200-400 มิลลิกรัม โดยคำนวณง่าย ๆ จะได้กาแฟไม่เกิน 4 แก้ว หรือน้ำอัดลมไม่เกิน 10 กระป๋อง หรือเครื่องดื่มชูกำลังไม่เกิน 2 ขวด โดยประมาณ แต่หากได้รับคาเฟอีนเกินกว่านี้ องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ก็ออกโรงเตือนเลยว่าอยู่ในเกณฑ์ที่อันตราย
เอาล่ะ...หลายคนอาจยังไม่เห็นภาพว่าหากดื่มกาแฟหรือปล่อยให้ร่างกายรับคาเฟอีนมากเกินปริมาณที่แนะนำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเราได้บ้าง ดังนั้นเราจะไม่รอช้าค่ะ ขอแฉโทษของคาเฟอีนต่อสุขภาพให้เห็นตามนี้เลย
1. กระตุ้นอาการปวดหัว
แม้คาเฟอีนในจำนวนเล็กน้อยจะช่วยบรรเทาอาหารปวดหัวได้ในบางคน แต่หากร่างกายได้รับคาเฟอีนมากเกินไป ฤทธิ์ของคาเฟอีนอาจส่งผลตรงกันข้าม คือกระตุ้นอาการปวดหัวหนัก ๆ ได้ และอาจพัฒนาไปเป็นโรคไมเกรนในที่สุด
นี่เป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ร่างกายบอกให้เรารู้ว่าตอนนี้รับคาเฟอีนมามากเกินขีดจำกัดแล้ว โดยคนที่ดื่มกาแฟหลายแก้วใน 1 วัน หรือกินอาหารที่มีคาเฟอีนเข้มข้นมาก ๆ จะรู้สึกได้เลยว่าเกิดอาการใจสั่น ใจเต้นเร็วผิดปกติ นั่นก็เพราะคาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นประสาท โดยจะออกฤทธิ์กระตุ้นสมองส่วนกลาง ก่อให้เกิดอาการผิดปกติดังกล่าวได้
3. ความดันโลหิตสูงขึ้น
งานวิจัยจาก Mayo Clinic เผยว่า ปริมาณคาเฟอีน 160 มิลลิกรัมก็เพียงพอให้ความดันโลหิตในร่างกายเราสูงขึ้นได้ ดังนั้นคนที่มีโรคความดันโลหิตสูงจึงควรต้องระมัดระวัง พร้อมทั้งจำกัดปริมาณคาเฟอีนที่ควรได้รับต่อวันให้ไม่เกิน 250 มิลลิกรัม (กาแฟประมาณ 2 แก้วกว่า ๆ) ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังดื่มกาแฟเข้าไป เพราะนั่นเป็นช่วงที่คาเฟอีนซึมเข้ากระแสเลือดได้อย่างเต็มที่แล้ว
4. เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจในวัยรุ่น
ดร.Lucio Mos หัวหน้าทีมวิจัยพบว่า ในกลุ่มวัยรุ่นที่ดื่มกาแฟเกินขนาด หรือได้รับคาเฟอีนมากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ถึง 4 เท่า (กรณีที่ดื่มกาแฟเกิน 4 แก้วต่อวัน) ทั้งนี้ไม่เพียงแต่กาแฟเท่านั้นที่มีคาเฟอีนนะคะ แต่ยังรวมไปถึงน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ยาพาราเซตามอล ยาแก้ปวด ช็อกโกแลต หรือชาชนิดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งหากบริโภคอาหารที่มีคาเฟอีนเหล่านี้มากเกินไป โอกาสที่ร่างกายจะได้รับคาเฟอีนเกินขนาดก็ย่อมมีมากขึ้น
5. เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมและซีสต์ในผู้หญิง
ผลการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่รับคาเฟอีนเข้าร่างกายมากกว่า 500 มิลลิกรัมต่อวัน จะมีความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมและการเกิดซีสต์เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าเลยทีเดียว
หากเราบริโภคคาเฟอีนมากกว่า 500-600 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบกับกาแฟ 5-6 แก้ว อาจเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์เป็นสารขับน้ำอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย อีกทั้งคาเฟอีนยังมีฤทธิ์เป็นยาระบาย คนที่ได้รับคาเฟอีนมากเกินไปจึงอาจมีอาการท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย หรือมีอาการลำไส้แปรปรวนได้
ถ้าอยากรู้ว่าเราบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปหรือเปล่าก็สังเกตได้ง่าย ๆ จากอาการตะคริวค่ะ เพราะหากบริโภคคาเฟอีนมากเกินขนาด แน่นอนว่าร่างกายเราจะตกอยู่ในสภาวะขาดน้ำอันเนื่องมาจากฤทธิ์ขับน้ำของคาเฟอีนนั่นเอง และหากร่างกายมีคาเฟอีนในปริมาณที่สูงภายในเวลาสั้น ๆ อาการตะคริวก็อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันด้วยนะคะ
8. พูดเร็วและรัว
อาการทางประสาทที่เห็นได้ชัดจากภาวะที่ร่างกายมีคาเฟอีนมากเกินไปคืออาการพูดไม่รู้เรื่อง พูดเร็วและรัว ซึ่งเป็นผลจากการที่สมองส่วนกลางถูกกระตุ้นและสั่งงานมายังระบบประสาทให้ตื่นตัวเร็วเกินไปนั่นเอง
นอกจากคาเฟอีนจะกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางให้เรารู้สึกกระวนกระวาย ใจเต้นเร็วแล้ว หากบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปก็จะทำให้เรานอนไม่หลับทั้งที่รู้สึกเพลียหนักมากด้วยนะคะ สัญญาณนี้ดูไม่ค่อยดีกับสุขภาพโดยรวมเลยใช่ไหมล่ะ
10. ประสาทหลอน
ในทางการแพทย์เชื่อว่า อาการประสาทหลอนจากภาวะคาเฟอีนเกินขนาดเป็นผลมาจากความเครียดและการที่ร่างกายไม่ได้พักผ่อน รวมไปถึงฮอร์โมนอะดรีนาลินที่ถูกกระตุ้นหลั่งมากเกินไปจนร่างกายเกินลิมิตที่จะควบคุมได้ด้วย
ผลการวิจัยจากพาร์ทเนอร์รายหนึ่งของ Mayo Clinic เผยว่า ผู้ชายที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ และไม่ค่อยออกกำลังกาย หากดื่มกาแฟขนาด 8 ออนซ์เกิน 4 แก้วเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงตายก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น 21% ด้วยกัน ทว่าแม้จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ความเสี่ยงของการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเหมือนกันหากคุณดื่มกาแฟเกิน 4 แก้ว หรือรับคาเฟอีนเกินกว่าที่ร่างกายจะรับมือได้ไหว
ยิ่งหากเหตุผลที่คุณดื่มกาแฟอัด ๆ เข้าไปเป็นเพราะต้องการปลุกให้ร่างกายตื่น ฟื้นจากความอ่อนเพลีย แทนที่จะเลือกวิธีนอนหลับพักผ่อนให้ร่างกายได้ฟื้นฟูตัวเองจริง ๆ ก็แน่นอนว่าสุขภาพของคุณจะค่อย ๆ เสื่อมโทรมลงไปเรื่อย ๆ เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้วการที่เราดื่มกาแฟเข้าไปแล้วมีเรี่ยวแรงขึ้นได้ก็ไม่ใช่ฤทธิ์ของกาแฟโดยตรง แต่เป็นร่างกายเองที่ดึงกำลังสำรองมาใช้ ซึ่งเมื่อถึงคราวที่จำเป็นต้องอาศัยกำลังสำรองขึ้นมาจริง ๆ แล้วร่างกายไม่มีกำลังเหล่านั้นเหลืออยู่ ภูมิต้านทานของเราจะต่ำลง ล้มป่วยได้ง่าย หรือป่วยแล้วไม่ยอมหายเลยก็เป็นได้
12. เสียชีวิตกะทันหัน !
เมื่อร่างกายได้รับคาเฟอีนที่มากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะเสียสมดุลของสารเกลือแร่ในร่างกาย ก่อให้เกิดอาการชักเกร็ง หลังแอ่น ปอดแฟบ ความดันโลหิตพุ่งสูงอย่างเฉียบพลัน หัวใจบีบรัดมากเกินไป ส่งผลให้ภาวะการหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตได้ โดยปริมาณคาเฟอีนที่อันตรายต่อร่างกายถึงเพียงนี้ก็จะอยู่ที่ราว ๆ 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว หรือประมาณ 5,000-10,000 มิลลิกรัมในผู้ใหญ่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขับคาเฟอีนออกจากร่างกายของแต่ละคนด้วยนะคะ
โทษของคาเฟอีนที่มากเกินไปน่ากลัวน้อยซะเมื่อไรจริงไหมคะ ดังนั้นจึงอยากเตือนทุกคนอีกครั้งว่าพยายามหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในกรณีที่ไม่จำเป็นจริง ๆ จะดีกว่า หรืออย่างน้อยจำกัดปริมาณคาเฟอีนที่ร่างกายจะได้รับต่อวันก็ยังดี และอย่าลืมเด็ดขาดด้วยนะคะว่า ไม่ใช่แค่กาแฟเท่านั้นที่มีคาเฟอีน แต่อาหารและเครื่องดื่มชนิดอื่นก็มีคาเฟอีนด้วยเช่นกัน
- 6 อาหารที่มีคาเฟอีนแฝงอยู่ บอกเลย ถึงไม่ดื่มกาแฟก็หนีไม่พ้น
และสำหรับใครที่อยากโบกมือลากาแฟเพื่อลดปริมาณคาเฟอีนในร่างกายลงบ้าง เราก็มีวิธีเลิกกาแฟมาบอกต่อ
- วิธีเลิกกาแฟ อยากบอกลาคาเฟอีน ทำตามนี้
ภาพจาก pexels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
mayoclinic
caffeineinformer
healthline
authoritynutrition
inc