ไข้หูดับ หรือ โรคหูดับ โรคที่คนติดเชื้อได้ง่าย ๆ จากการกินเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ และเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis ก็อันตรายกว่าที่คิด ทำหูหนวก เป็นอัมพาต หรืออาจถึงตาย !
ในทุก ๆ
ปีเราจะเห็นข่าวว่ามีคนเสียชีวิตจากไข้หูดับ หรือโรค Streptococcus suis ซึ่งสาเหตุไข้หูดับก็เป็นโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาการไข้หูดับมีความรุนแรงตั้งแต่เป็นไข้ ท้องร่วง คอแข็ง ปวดศีรษะรุนแรง
หลอดเลือดอักเสบ เสียชีวิต หรือหากรอดชีวิตมาได้ อาจกลายเป็นคนพิการ หูหนวก
หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก
ซึ่งจุดเริ่มต้นของอาการเหล่านี้ก็มาจากพฤติกรรมกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ไม่สุก 100%
เอาเป็นว่าเรามาศึกษาให้ชัดกันอีกทีดีกว่าว่า โรคหูดับ หรือ ไข้หูดับ คือโรคอะไร สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดไหน เนื้อหมูมีความอันตรายถึงตายได้ยังไงกัน พร้อมวิธีป้องกันและรักษาไข้หูดับ
เอาเป็นว่าเรามาศึกษาให้ชัดกันอีกทีดีกว่าว่า โรคหูดับ หรือ ไข้หูดับ คือโรคอะไร สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดไหน เนื้อหมูมีความอันตรายถึงตายได้ยังไงกัน พร้อมวิธีป้องกันและรักษาไข้หูดับ
ไข้หูดับ หรือ โรคหูดับ คืออะไร
ไข้หูดับ หรือ โรคไข้หูดับ ชื่ออย่างเป็นทางการว่าโรคสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดที่พบในสุกรเกือบทุกตัว โดยเชื้อตัวนี้จะฝังตัวอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น ในโพรงจมูก และในต่อมทอนซิลของหมู หรืออาจพบเชื้อ Streptococcus suis ในช่องคลอดของแม่สุกรได้ ซึ่งจะเป็นแหล่งรังโรคที่สามารถแพร่เชื้อไปยังลูกสุกร หรือสุกรตัวอื่น ๆ ได้
กล่าวคือ สาเหตุโรคไข้หูดับมีแหล่งกำเนิดโรคมาจากหมู ที่เป็นอาหารของมนุษย์อย่างเรา ๆ นั่นเองค่ะ แต่เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ก็ไม่ได้จบลงที่หมูเท่านั้น ทว่ายังสามารถติดต่อมาสู่คนได้ด้วยนะ
ไข้หูดับ หรือ โรคหูดับ ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร
เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis สามารถติดต่อจากสุกรมาสู่คนได้ 2 ทาง ดังนี้
1. ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา
การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู เลือดของหมูที่เป็นโรค เป็นหนทางสู่การติดเชื้อจากสุกรสู่คนได้ เช่น มือเป็นแผลหรือมีรอยขีดข่วนแล้วไปหั่นหมูดิบที่มีเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส ปนเปื้อนอยู่
2. การบริโภคเนื้อหมูไม่สุก
การบริโภคเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ จากอาหารประเภทลาบ หลู้หมูดิบ หมูกระทะ ปิ้งย่าง สเต๊ก หรือหมูจุ่มที่เนื้อหมูสุกไม่ 100% ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการติดต่อของเชื้อ streptococcus suis จากสุกรสู่คนได้
ไข้หูดับ หรือ โรคหูดับ ใครเสี่ยงบ้าง
สำหรับ ไข้หูดับ หรือ โรคหูดับ คนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าว เช่น
- เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร
- ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ (ทุกหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดุแลสุกร การล้างทำความสะอาดคอกหมู)
- ผู้ชำแหละเนื้อสุกร
- สัตวบาล
- สัตวแพทย์
- คนที่ชอบรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
โรคหูดับ ไข้หูดับ อาการเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ Streptococcus suis เข้าสู่ร่างกายภายใน 3-5 วัน จะมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และในกรณีที่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและลุกลามไปสู่เยื่อหุ้มสมอง เจ้าเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบตามมา
เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับปลายประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลาม ทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียงและประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนกระทั่งมีอาการหูหนวก ร่วมกับอาการเวียนศีรษะและเดินเซตามมาได้ รวมทั้งเกิดอาการ Toxic Shock Syndrome ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไข้
ทว่าหากผู้ป่วยไข้หูดับเข้ารับการรักษาช้า อาจตกอยู่ในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงแก่ชีวิตได้ และแม้จะรักษาจนมีชีวิตรอดกลับมา ก็อาจตกอยู่ในสภาวะคนพิการ เช่น กลายเป็นคนหูหนวกทั้งสองข้าง และเป็นอัมพาตครึ่งซีก
ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อไข้หูดับ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ
โรคหูดับ ไข้หูดับ รักษาได้อย่างไร
โรคไข้หูดับสามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ซึ่งระยะเวลาในการรักษาอาจยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ และแม้แพทย์จะจัดการฆ่าเชื้อ Streptococcus suis ตัวร้ายได้ แต่การที่เชื้อเข้าไปทำลายเยื่อหุ้มสมองบางส่วน ก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีความพิการเหลืออยู่
อย่างไรก็ตาม การรักษาไข้หูดับที่ทันท่วงที (รักษาตั้งแต่เชื้อเข้าสู่ร่างกายในระยะต้น ๆ) จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และความพิการจากการติดเชื้อ Streptococcus suis ได้นะคะ
ไข้หูดับ โรคหูดับ ป้องกันได้
การไม่เปิดโอกาสให้เชื้อ Streptococcus suis เข้ามาสู่ร่างกายได้เป็นวิธีป้องกันโรคไข้หูดับที่ดีที่สุด ซึ่งวิธีป้องกันก็มีดังนี้ค่ะ
1. ควรบริโภคอาหารที่สุก ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมูควรผ่านการปรุงสุกที่ความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ในเวลา 10 นาทีเป็นอย่างต่ำ ก่อนนำมารับประทาน
2. หากกินอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ ต้องปรุงให้สุกก่อนเสมอ และแยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน
3. ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ
4. ดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้ดี หลีกเลี่ยงการสัมผัสหมู เนื้อสัตว์ เลือดสัตว์ ด้วยมือเปล่า และควรล้างมือ ฟอกสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสเนื้อหมูสด ๆ
5. ไม่ควรนำหมูที่ป่วยหรือตายอย่างไม่ทราบสาเหตุมาบริโภค
6. หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องร่วง หลังจากกินเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ ภายใน 3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ด่วน
ในส่วนของฟาร์มสุกร ก็ต้องหมั่นทำความสะอาด และฆ่าเชื้อในโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Beta-lactam กับแม่สุกรใกล้คลอด และสุกรที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อโรค ที่สำคัญ ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานทุกหน้าที่ในฟาร์มสุกรและโรงฆ่าสัตว์นั้น ควรต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล โดยสวมรองเท้าบูท และสวมถุงมือระหว่างปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยป้องกันไข้หูดับ หรือ โรคหูดับ หรือการแพร่เชื้อต่าง ๆ จากสุกรมาสู่คนได้นะคะ
บทความไข้หูดับ โรคหูดับ หรือโรคอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- วิธีแก้หูอื้อเบื้องต้น ปราบอาการหูดับด้วยตนเอง
- 4 โรคเสี่ยงถึงตาย สายชาบู ปิ้งย่างระวังไว้ สุดอันตรายถ้าไม่แยกตะเกียบ
- กินหมูไม่สุก ระวัง streptococcus suis คร่าชีวิต
- สุก ๆ ดิบ ๆ ต้องระวัง ตามใจปาก โรคหนอนพยาธิขึ้นสมองจะมาเยือน
ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานป้องกัน ควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก
กรมปศุสัตว์