4 โรคเสี่ยงถึงตาย สายชาบู ปิ้งย่างระวังไว้ สุดอันตรายถ้าไม่แยกตะเกียบ

           คีบหมูดิบแล้วต้องแยกตะเกียบ อย่าใช้คีบหมูสุกใส่ปากต่อ ถ้าไม่อยากเสี่ยงถึงตาย เพราะอันตรายใช่เล่น
           เชื้อโรคจากหมูดิบทำเราเสี่ยงอันตรายได้หลายโรค ทั้ง ไข้หูดับ หรือพยาธิก่อโรคต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ต้องระวังเนื้อหมูปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ตามเมนูอาหารเท่านั้น แต่การกินเมนูปิ้งย่างอย่างหมูกระทะ หรือพวกจิ้มจุ่ม ชาบู หากใช้ตะเกียบคู่เดียวตลอดทั้งมื้อ คีบหมูดิบไปปิ้ง ไปจุ่ม แล้วคีบหมูที่สุกเข้าปาก ก็อาจได้เชื้อปนเปื้อนติดมากับอาหารที่กินได้ ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพหลายประการเลยทีเดียว

โรคเสี่ยงอันตราย ถ้าไม่แยกตะเกียบ

ชาบู ปิ้งย่าง

           ลองมาดูกันว่าถ้าใช้ตะเกียบที่คีบหมูดิบมาคีบอาหารเข้าปากด้วย จะเสี่ยงโรคอะไรบ้าง

1. อาหารเป็นพิษ ติดเชื้อในลำไส้

          การรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือแค่ได้รับเชื้อจากตะเกียบที่คีบหมูดิบ จะเพิ่มความเสี่ยงให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ และเจ้าเชื้อโรคหรือแบคทีเรียที่ไม่ได้ถูกความร้อนฆ่าเชื้อให้ตาย อาจทำให้เราติดเชื้อในลำไส้ มีอาการอาหารเป็นพิษ ท้องเสีย ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งหากปริมาณเชื้อมากก็อาจทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น จนบางรายก็รักษาไม่ทัน เสียชีวิตจากอาการท้องร่วงได้เช่นกันนะคะ
 

อาหารเป็นพิษ ความทรมานทางกาย เป็นแล้วกี่วันหาย กินอะไรได้บ้าง

2. พยาธิตัวตืดหมู

           หากเรากินหมูไม่สุก หรือใช้ตะเกียบที่คีบหมูดิบมาคีบอาหารเข้าปาก ก็อาจเปิดโอกาสให้ร่างกายได้รับพยาธิตัวตืดหมู ที่ทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ท้องร่วงเรื้อรัง หรือมีรอยบวมแดงบนผิวหนังที่เคลื่อนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ จากการชอนไชของพยาธิ หรืออาการคันก้น เนื่องจากพยาธิจะออกมาวางไข่รอบ ๆ ทวารหนักตอนกลางคืน ซึ่งใครพบอาการดังที่กล่าวมาควรไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัย และรักษาด้วยยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมกับชนิดพยาธิที่ได้รับ เพราะในกรณีที่รุนแรง พยาธิอาจขึ้นสมองจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
 

รู้เรื่องพยาธิ อาการแบบไหนต้องสงสัยว่ามีพยาธิ ใช้ยาถ่ายพยาธิดีไหม ?

3. เชื้อไวรัสตับอักเสบอี

           เชื้อไวรัสตับอักเสบอี เป็นเชื้อที่แฝงมากับเนื้อหมูที่ติดโรค และพบว่าสามารถติดต่อสู่คนได้จากการใช้ตะเกียบคีบหมูดิบที่ปนเปื้อนเชื้อ แล้วใช้ตะเกียบเดียวกันนั้นคีบอาหารเข้าปาก โดยไวรัสตัวนี้จะฟักตัวประมาณ 15-60 วัน แต่การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง เว้นแต่การติดเชื้อในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่เปลี่ยนอวัยวะ ผู้ที่กินยากดภูมิต้านทาน ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจเสี่ยงมีภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบอีได้

4. โรคไข้หูดับ

          โรคไข้หูดับ (Streptococcus suis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดที่พบในสุกรเกือบทุกตัว โดยเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะติดต่อสู่คนได้จากการรับประทานเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ หรือการได้รับเชื้อจากตะเกียบที่คีบหมูดิบ และหากร่างกายได้รับเชื้อเข้าไปก็จะมีอาการไข้ภายใน 3 วัน ร่วมกับอาการคลื่นเหียน ปวดศีรษะ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที เชื้อก็จะเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าไปสู่เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ ตามมา

          และเนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับปลายประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลามและทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียงและประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนหูหนวก ร่วมกับอาการเวียนศีรษะและเดินเซตามมาได้ รวมทั้งเกิดอาการ Toxic Shock Syndrome ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไข้นะคะ กรณีเป็นมากอาจเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็วดังที่ปรากฏให้เห็นในหลาย ๆ ข่าว
 

โรคหูดับ พิการหรือถึงตาย แค่กินหมูไม่สุก-เชื้อเข้าได้ทางบาดแผล !

วิธีกินหมูกระทะ-ชาบูให้ปลอดภัย
ป้องกันอันตรายจากหมูดิบ

ชาบู ปิ้งย่าง

          หมูกระทะ ชาบู จิ้มจุ่ม หรือเมนูไหน ๆ ก็รับประทานได้อย่างปลอดภัย ไม่เสี่ยงเชื้อโรคที่มากับหมูดิบ แค่ทำตามนี้

  • ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร

  • แยกอุปกรณ์ที่ใช้คีบเนื้อดิบ เนื้อปรุงสุก อย่าใช้ร่วมกันเด็ดขาด ไม่ว่าจะไม้คีบ ตะเกียบ ช้อน หรือส้อมก็ตาม 

  • รับประทานเนื้อหมู เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่ปรุงสุก 100% เท่านั้น

  • หากรับประทานอาหารที่ร้าน ควรเลือกร้านอาหารที่สะอาด มีการดูแลเรื่องสุขอนามัยที่ดี 

  • หากทำอาหารเอง ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่สด ใหม่ ดูสะอาด ถูกสุขลักษณะ 

           โรคภัยจากการกินอาหารไม่สุก อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคใด ๆ ก็ตาม เป็นโรคที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนดูแลตัวเองให้ดี เพราะเชื่อเหลือเกินว่าคงไม่มีใครอยากเจ็บอยากไข้หรอกเนอะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 โรคเสี่ยงถึงตาย สายชาบู ปิ้งย่างระวังไว้ สุดอันตรายถ้าไม่แยกตะเกียบ อัปเดตล่าสุด 22 มกราคม 2567 เวลา 17:36:15 58,655 อ่าน
TOP
x close