x close

อ.เจษฎา เตือนคลิปนอนดิ้น ไม่ใช่วิธีรักษาโรคหมอนรองกระดูกที่ถูกต้อง

คลิปนอนดิ้น

          โซเชียลแชร์คลิปรักษาโรคหมอนรองกระดูก แก้ด้วยการนอนดิ้น ๆ ไม่ต้องหาหมอ-ไม่ต้องผ่าตัด ด้าน อ.เจษฎา เตือนเป็นการรักษาที่ผิด ชี้ควรให้หมอวินิจฉัยอาการ ไม่ใช่ไปดิ้นอยู่อย่างนั้น ขณะที่เพจ Drama-addict เตือนอย่าหลงเชื่อ อาจถึงขั้นพิการได้

          จากกรณีโลกโซเชียลได้มีการแชร์คลิปจาก เพจเฟซบุ๊กใช้ชื่อ สีไพร ภิกขุ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ที่ได้มีการเผยแพร่คลิปการรักษาโรคหมอนรองกระดูก  ด้วยวิธีการนอนดิ้นไปมาบนพื้น และมีการระบุว่าได้แนวคิดนี้มาจากการที่เคยเห็นหมาและแมวถูกรถชน แล้วเกิดอาการชักดิ้นชักงอ แต่ปรากฏว่าสักพักก็สามารถลุกขึ้นวิ่งได้ตามปกติ จึงนำวิธีนี้มารักษาคนที่มีอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อน เมื่อเขย่าตัวก็จะสามารถทำให้กระดูกกลับเข้าที่ได้ นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก พร้อมกับตั้งคำถามว่า วิธีการรักษารูปแบบนี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับหรือไม่

คลิปนอนดิ้น
          เกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว ล่าสุด (26 มิถุนายน 2560) รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่าน เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า การนอนดิ้น ๆ ไม่ใช่วิธีรักษาโรคหมอนรองกระดูก โรคนี้เกิดจากการที่หมอนรองกระดูกที่คั่นระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง อันเนื่องจากการใช้หลังผิดท่า เช่น ยกของหนัก นั่งนาน เล่นกีฬาที่ใช้แรงผ่านหลัง ฯลฯ จนหมอนรองกระดูกทะลักออกมา แล้วไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่ข้างเคียง ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง ร้าวไปถึงขาหรือหลังเท้า โดยการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ตั้งแต่การกินยาแก้ปวด การทำกายภาพ การฉีดยาลดเส้นประสาทอักเสบ ไปจนถึงกับการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันนี้การผ่าตัดก็มีทั้งแบบจุลศัลยกรรม และแบบส่องกล้องภายใน

          สำหรับการบริหารร่างกาย รักษาโรคหมอนรองกระดูก แพทย์แนะนำให้หมั่นบริหารกล้ามเนื้อหลัง และหน้าท้องให้แข็งแรง เช่น

               1. นอนหงาย ยกขาขึ้นข้างหนึ่งให้สูงจากพื้นประมาณ 1 คืบ เข่าเหยียดตรง กระดกปลายเท้าเข้าหาตัว ค้างไว้ 5 วินาที แล้วทำสลับกับขาอีกข้าง

               2. ท่านอนหงาย ใช้มือทั้ง 2 กอดเข่าข้างหนึ่ง โน้มเข่าลงมาให้ชิดลำตัว ค้างไว้ 5 วินาที แล้วทำสลับกับเข่าอีกข้าง

               3. ท่านอนหงาย ชันเข่าขึ้น ประสานมือสองข้างไว้ด้านหลังบริเวณเอว จากนั้นแขม่วท้อง กดหลังลงค้างไว้ 5 วินาที

          ทั้งนี้ ทุกท่าจะเป็นการเกร็งกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น ไม่ใช่การไปดิ้น ๆ อยู่กับพื้นเหมือนในคลิปดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการ และจะได้วางแผนการรักษาได้ทัน ไม่ใช่ไปดิ้น ๆ อยู่อย่างนั้น

คลิปนอนดิ้น




          เช่นเดียวกับเพจ Drama-addict ซึ่งเจ้าของเพจประกอบอาชีพแพทย์ ก็ได้ออกมาโพสต์เตือนถึงเรื่องนี้ว่า อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด เพราะหากหมอนรองกระดูกไปกดทับเส้นประสาทมาก ๆ แล้วไม่ยอมไปพบแพทย์ เอาแต่นอนกลิ้งไปกลิ้งมาจะยิ่งทำให้เส้นประสาทเสียหาย จนถึงขั้นพิการตลอดชีวิตได้

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท


หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท


ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์, สีไพร ภิกขุ, เฟซบุ๊ก Drama-addict

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ.เจษฎา เตือนคลิปนอนดิ้น ไม่ใช่วิธีรักษาโรคหมอนรองกระดูกที่ถูกต้อง อัปเดตล่าสุด 26 มิถุนายน 2560 เวลา 16:29:28 6,920 อ่าน
TOP