x close

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนพิษแมงกะพรุน ลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากพิษร้าย

          พิษของแมงกะพรุนอันตรายจนอาจทำให้มนุษย์อย่างเรา ๆ เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะหากโดนพิษของแมงกะพรุนแล้วเราปฐมพยาบาลไม่ถูกวิธี นำไปสู่การรักษาที่ไม่ทันกาล

แมงกะพรุน

          เราอาจได้ยินข่าวบ่อย ๆ ว่านักท่องเที่ยวโดนพิษแมงกะพรุนเล่นงาน บางเคสอาจเป็นแค่แผลแสบร้อนเบา ๆ แต่บางเคสก็มีอันตรายถึงชีวิตกันเลย ดังนั้นการมารู้จักวิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนพิษแมงกะพรุนก็เป็นสิ่งที่เราควรเรียนรู้ไว้ เพราะเราเองก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าไปเที่ยวทะเลครั้งไหนแล้วจะเจอกับแมงกะพรุนมีพิษบ้าง เพราะแมงกะพรุนบางชนิดก็มีต่อมพิษและเข็มพิษอยู่ที่ตัว ซึ่งสามารถปล่อยพิษเหล่านั้นมาตามกระแสน้ำทะเล หรือสัมผัสที่ผิวหนังของเรา ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน มีผื่นแดงและตุ่มใส เหมือนโดนน้ำร้อนลวก หรือหากเป็นแมงกะพรุนชนิดมีพิษร้ายแรง ก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้ และเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเช่นนั้นขึ้นกับเรา ในวันนี้กระปุกดอทคอมก็นำการปฐมพยาบาลเมื่อถูกพิษแมงกะพรุนมาบอกต่อตามนี้เลยค่ะ

วิธีแก้พิษแมงกะพรุนเบื้องต้น
   
          หากโดนพิษแมงกะพรุนสัมผัสที่ผิว ให้รีบใช้น้ำทะเลหรือน้ำส้มสายชูล้างบริเวณบาดแผลอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พิษแมงกะพรุนที่ติดอยู่บนผิวเราหลุดไปให้หมด และหากมีผักบุ้งทะเลอยู่ใกล้ ๆ ให้ขยำผักบุ้งทะเลแล้วประคบที่แผลเพื่อลดความรุนแรงของพิษแมงกะพรุน จากนั้นให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

          ทั้งนี้การปฐมพยาบาลแผลโดนพิษแมงกะพรุนนั้นห้ามล้างแผลด้วยน้ำจืด แอลกอฮอล์ ประคบน้ำแข็ง หรือใช้ทรายขัดแผลเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้ถุงพิษที่อยู่บนผิวเราแตกและสารพิษแมงกะพรุนจะสัมผัสผิวเรามากขึ้น บาดแผลก็จะยิ่งทวีความรุนแรง รวมทั้งอย่าขยี้ผักบุ้งทะเลบนแผลด้วยนะคะ เพราะพิษแมงกะพรุนอาจกระจายตัวบนผิวหนังเราได้เร็วขึ้น อาการบาดเจ็บก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

ผักบุ้งทะเล
ผักบุ้งทะเล

          อย่างไรก็ตาม การปฐมพยาบาลแผลโดนพิษแมงกะพรุนดังกล่าว สามารถนำไปใช้กับแผลที่ถูกพิษของแมงกะพรุนไฟและแมงกะพรุนกล่อง โดยมีข้อแนะนำให้ล้างแผลด้วยน้ำส้มสายชูหรือน้ำทะเลอย่างน้อย 30 วินาทีต่อเนื่อง เพื่อให้เข็มพิษของแมงกะพรุนหลุดจากผิวเราได้หมด ทั้งนี้ การล้างแผลอาจช่วยลดอาการแสบร้อน แต่ไม่ช่วยลดอาการปวด ดังนั้นอาจต้องให้ยาแก้ปวดร่วมกับการล้างแผล และพยายามส่งตัวผู้ป่วยให้ถึงมือหมอโดยเร็วจะดีกว่า

          และอย่างที่เราบอกค่ะว่าแมงกะพรุนมีพิษมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ซึ่งนอกจากแมงกะพรุนไฟและแมงกะพรุนกล่องแล้ว แมงกะพรุนอีกชนิดที่มีพิษร้ายแรงมาก ๆ คือ แมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส ซึ่งมีพิษร้ายแรงถึงตาย และวิธีการปฐมพยาบาลก็ต่างไปจากแมงกะพรุนชนิดอื่นด้วย โดยวิธีแก้พิษแมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส สามารถทำได้ตามนี้

แมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส

การปฐมพยาบาลเมื่อถูกพิษแมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส   
   
          เมื่อโดนพิษแมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส ให้รีบใช้น้ำทะเลล้างที่แผล เพื่อกำจัดเข็มพิษออกให้หมดก่อน และห้ามใช้น้ำส้มสายชูหรือน้ำจืดล้างแผลโดยเด็ดขาด รวมทั้งต้องสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

          อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญของการเอาชีวิตรอดจากพิษแมงกะพรุนคือการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธี เพราะหลาย ๆ เคสอาการจากพิษแมงกะพรุนมีความรุนแรงมากขึ้นก็เพราะการปฐมพยาบาลอย่างไม่เข้าใจ โดยบางคนเอาน้ำแข็งประคบแผล บางคนพยายามดึงเอาตัวแมงกะพรุนออกจากผิว ซึ่งก็จะยิ่งทำให้แมงกะพรุนตื่นตกใจและปล่อยพิษเข้าสู่ร่างกายเรามากขึ้น หรือบางคนเอาน้ำเปล่าราดที่แผลอย่างต่อเนื่องเพื่อหวังจะล้างแผล ซึ่งอาจทำให้ถุงพิษแมงกะพรุนยิ่งแตกและไม่หายไป จนแผลเริ่มลุกลามมากขึ้นได้ ดังนั้นหากเจอคนโดนพิษแมงกะพรุนเล่นงาน หรือเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเราเอง ก็อย่าลืมนำวิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้องไปใช้กันด้วยนะคะ

          แต่หากไม่อยากพาตัวเองไปเสี่ยงกับพิษแมงกะพรุนไม่ว่าจะชนิดไหนก็ตาม เราก็มีวิธีป้องกันตัวเองจากพิษแมงกะพรุนมาฝากด้วย ตามนี้เลย

แมงกะพรุน

วิธีป้องกันพิษแมงกะพรุน

          - หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำทะเลในช่วงหลังฝนตกใหม่ ๆ หรือหลังจากเกิดพายุ เพราะกระเปาะพิษของแมงกะพรุนอาจลอยตามกระแสน้ำมาอยู่บริเวณชายฝั่งอย่างหนาแน่น และแมงกะพรุนเองก็อาจมาล่าเหยื่อ เช่น กุ้ง ปู หอย ตามฝั่งชายหาดด้วย

          - หากจะลงเล่นน้ำทะเลควรสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด เช่น ชุดว่ายน้ำแบบแขนยาว ขายาว หรือเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เป็นต้น

          - หากเล่นน้ำทะเลอยู่แล้วสังเกตเห็นสัตว์คล้ายวุ้นใส ๆ อย่าเข้าใกล้ ให้เลี่ยงออกมาเล่นห่าง ๆ หรือขึ้นฝั่งไปเลยยิ่งดี

          ทั้งนี้แผลจากพิษแมงกะพรุนอาจต้องใช้เวลาในการรักษาอย่างต่ำ 2 สัปดาห์ แผลจึงจะตกสะเก็ด และอาจต้องรักษาแผลอีกกว่า 2 เดือนจึงจะหายดีในที่สุด
   
*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 

ขอบคุณข้อมูลจาก
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนพิษแมงกะพรุน ลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากพิษร้าย อัปเดตล่าสุด 22 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10:10:57 37,332 อ่าน
TOP