เท้าเหม็นแก้ได้ง่ายนิดเดียว

กำจัดกลิ่นเท้า

เท้าเหม็นแก้ได้ง่ายนิดเดียว (Health Plus)

          หลายคนอาจเคยมีปัญหาเท้าเหม็น แต่ถ้าเท้าของคุณเป็นต้นเหตุของกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ทุกวันติดต่อกัน ไม่ต้องตกใจ เรามีสารพัดวิธีที่จะช่วยดับกลิ่นเท้าของคุณ

ความจริงเกี่ยวกับเท้า

          เท้ามีต่อมเหงื่ออยู่มากกว่า 250,000 ต่อม หรือเท่ากับ 3,000 ต่อมต่อตารางนิ้ว ซึ่งเมื่อเทียบต่อพื้นที่ผิวหนังหนึ่งนิ้วพบว่า มีต่อมเหงื่ออยู่มากกว่าต่อมอื่น ๆ เหงื่อที่ถูกผลิตออกมามากมายทำให้ผิวที่เท้าอ่อนนุ่ม ถ้าไม่มีเหงื่อ ผิวก็จะแห้งแตก ทำให้เจ็บเวลาเดิน

          ต่อมเหงื่อที่เท้าต่างจากต่อมเหงื่อบริเวณอื่นของร่างกาย ต่อมเหงื่อที่เท้าผลิตเหงื่อตลอดเวลา ไม่ว่าจะในช่วงอากาศร้อน หรือระหว่างออกกำลังกาย และเมื่อเท้าสามารถผลิตเหงื่ออกมาได้ถึงสัปดาห์ละ 4.5 ลิตร ทำให้เกิดความขึ้นมากมายกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่อยู่ในจุดซ่อนเร้น และนี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหา

          เหงื่อไม่ได้มีกลิ่นเหม็น แต่แบคทีเรียที่อยู่บนผิวต่างหากที่เป็นต้นตอของกลิ่นอับชื้น เท้าซุกซ่อนอยู่ในรองเท้าตลอดวัน นั่นอาจทำให้อุณหภูมิที่เท้าพุ่งสูงขึ้น ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยกินของเสียที่อยู่ในเหงื่อและอินทรีย์วัตถุอื่น ๆ ที่อยู่ในถุงเท้าและรองเท้า ยิ่งแบคทีเรียขยายพันธ์มากเท่าไร กลิ่นก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

ป้องกันได้อย่างไร

          ล้างเท้าให้สะอาด ล้างเท้าด้วยน้ำอุ่นอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ห้ามใช้น้ำร้อน เด็ดขาด ใช้หินพัมมิซขัดผิวหนังเท้าที่หยาบกร้านออก เพราะผิวที่ตายแล้วเหล่านี้จะเป็นจุดอับชื้น ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นการเช็ดเท้าให้แห้งสนิทจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรโรยแป้งทาตัวให้ทั่วเท้าและซอกเท้า

          พักเท้า ไม่ควรใส่รองเท้าที่คับเกินไป เพราะจะทำให้เหงื่อออกมากขึ้น ดังนั้นควรสวมรองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า และหาโอกาสให้เท้าได้พักบ้าง

          ปลดปล่อยเท้า เพื่อให้เท้าได้หายใจ ระบายเหงื่อและกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้อย่างปลอดโปร่ง ควรถอดรองเท้าและถุงเท้าออก หัดเดินเท้าเปล่าบ้าง

          สวมถุงเท้าผ้าฝ้าย ถุงเท้าควรดูดซับน้ำได้ดี ถุงเท้าผ้าฝ้ายเหมาะที่สุด ถุงเท้าที่ทำจากขนสัตว์อุ่นเกินไป ไม่เหมาะกับเท้าที่มีเหงื่อออกมาก หลีกเลี่ยงถุงเท้าในลอน เปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน อย่าสวมถุงเท้าที่สกปรกซ้ำ ๆ

          ซักถุงเท้าอย่างถูกวิธี นำถุงเท้าไปแช่ในน้ำร้อน แล้วค่อยซักกับผงซักฟอก จะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซักเสร็จตากให้แห้ง

          สวมรองเท้าหนัง อย่าสวมรองเท้าผ้าใบนาน ๆ เพราะทำจากใยสังเคราะห์ จึงมีอุณหภูมิที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เช่นเดียวกับรองเท้าที่ทำจากพลาสติก

          สวมรองเท้าคู่อื่นบ้าง อย่าสวมรองเท้าคู่เดิม 2 วันต่อเนื่องกัน ใช้รองเท้าสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เพื่อให้รองเท้ามีโอกาสแห้ง นำรองเท้าออกมาผึ่งลมอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เก็บรองเท้าที่ไม่ใช้ไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี

          ทำความสะอาดรองเท้า ถ้ารองเท้าอับชื้น นำไปผึ่งแดด จนแห้งสนิทจริง ๆ รวมถึงแกะเชือกรองเท้าออกทั้งหมด ยกลิ้นรองเท้าขึ้นเพื่อให้อากาศได้ถ่ายเททั่วถึงทั้งรองเท้าด้านใน ใช้แอลกอฮอล์เช็ดภายในรองเท้า สำหรับรองเท้าที่ซักล้างได้สามารถทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก และน้ำร้อนได้ หากทำความสะอาดแล้วยังไม่หายเหม็น โยนรองเท้าคู่นั้นทิ้งซะ

ทะนุถนอมเท้าของคุณ

          ล้างเท้าด้วยทีทรีออยล์ หรือน้ำมันสะระแหน่ ช่วยระงับกลิ่นเท้าได้ เพราะมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่พึงระวังหากคุณมีผิวแพ้ง่าย อย่าใช้น้ำมันสะระแหน่ หากคุณกำลังตั้งครรภ์

          แช่เท้าในชาดำ (ชา 2 ถุงแช่ในน้ำ 8 ถ้วย) กรดแทนนิกในชาช่วยระงับกลิ่นได้ ขณะเดียวกันชายังมีสรรพคุณเป็นยาสมานแผลด้วย

          ใช้สเปรย์ระงับกลิ่นเท้าฉีดพ่นบริเวณฝ่าเท้าก่อนสวมรองเท้าทุกครั้ง เพื่อกดดันแบคทีเรียที่ออกมากับเหงื่อให้ทำงานไม่สะดวก

          ใช้ยาดับกลิ่น ถ้าเท้ามีกลิ่นแรง อาจใช้ยาดับกลิ่นที่มีสารอลูมิเนียม เช่น aluminium chlorohydrate ทาเท้า แล้วสวมถุงเท้าก่อนนอน

คุณหมอช่วยด้วย

          แพทย์จะจ่ายยาที่ทำให้เท้าแห้งหรือยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย การรักษาวิธีอื่น ๆ เช่น การทำไอออนโตโฟเรวิส โดยให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านน้ำขณะที่เท้าแช่น้ำ เพื่อลดเหงื่อที่ออกมากให้เป็นปกติ โบท็อกซ์ที่ใช้รักษาเหงื่อออกมากขึ้นรักแร้ ก็สามารถนำมาใช้รักษาโรคเท้าเหม็นได้ด้วย โดยการฉีดโบท็อกซ์เข้าไปที่ฝ่าเท้าเพื่อลดเหงื่อที่ออกมาก ๆ ประมาณ 6-12 เดือนก็จะเห็นผล แต่พึงระวังฝ่าเท้า และผิวหนังที่เท้าเป็นจุดที่อ่อนไหว จึงอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้

เกร็ดความรู้

          เหงื่อที่ออกถึงสัปดาห์ละมากกว่า 4 ลิตร ทำให้เท้าของคุณกลายเป็นสวรรค์ของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เท้าเหม็นแก้ได้ง่ายนิดเดียว อัปเดตล่าสุด 1 ตุลาคม 2553 เวลา 17:42:02 25,501 อ่าน
TOP
x close