x close

วิธีเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปต่อกลับได้

อวัยวะขาด

          อุบัติเหตุที่ส่งผลให้นิ้วขาด เท้าขาด หรืออวัยวะอื่น ๆ ขาดออกจากร่างกาย เรายังสามารถเก็บอวัยวะที่ขาดกลับไปต่อใหม่ได้ หากรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้อง โดยเฉพาะวิธีเก็บอวัยวะที่ขาดเพื่อนำกลับมาต่อใหม่ให้ใช้ได้เหมือนเดิม

          จากกรณีหนุ่มโดนแท็กซี่เฉี่ยวเท้าขาด และพยายามจะเก็บเท้าที่ขาดมาผ่าตัดต่อใหม่ แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับต่อเท้าไม่ได้เพราะเก็บอวัยวะที่ขาดไม่ถูกวิธี (อ่านข่าว : หนุ่มถูกแท็กซี่เฉี่ยวจนขาขาด ขอบคุณทุกกำลังใจ แม้จะต่อขาไม่ได้) ทำให้เราตระหนักถึงการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง เพื่อช่วยชีวิตหรือเพิ่มโอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้นเลยนะคะ ดังนั้นเพื่อเป็นประโยชน์กับทุกคน กระปุกดอทคอมจึงนำวิธีเก็บรักษาอวัยวะที่ขาดอย่างถูกต้อง มาแชร์ต่อ ลองมาดูกันค่ะว่าการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดอย่างถูกต้อง ต้องทำอะไรบ้าง

          นิ้วขาด มือขาด เท้าขาด ปฐมพยาบาลอย่างไรดี

          เมื่อเกิดอุบัตเหตุที่ทำให้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งขาด สิ่งแรกควรตั้งสติให้ดีและรีบปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บดังนี้

          1. โทร. เรียกรถพยาบาล หรือสายด่วน 1669 จากนั้นควรห้ามเลือดให้เร็วที่สุด โดยใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซจำนวนมาก ๆ ปิดบาดแผล

          2. หากเลือดบริเวณบาดแผลยังไม่หยุดไหล ให้ใช้ผ้าสะอาดกดซ้ำให้แน่น เพื่อห้ามเลือด

          3. คอยสังเกตอาการผู้บาดเจ็บอย่างใกล้ชิด พยายามอย่าให้กินอะไร เพื่อเตรียมตัวในการผ่าตัด แต่หากปวดบาดแผลมาก สามารถจิบน้ำเล็กน้อยเพื่อกินยาแก้ปวดได้

          4. ในการห้ามเลือดไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัด หรือพยายามหลีกเลี่ยงการขันชะเนาะ เนื่องจากอาจทำให้รัดประสาทหลอดเลือดจนเนื้อเยื่อส่วนนั้นขาดเลือดได้

          5. หากมีเนื้อเยื่อบางส่วยติดกันอยู่ (ระหว่างร่างกายและอวัยวะที่ขาด) ให้พยายามประคองส่วนที่ขาดไม่ให้ถูกดึงรั้งไป-มา เพื่อป้องกันอันตรายไม่ให้มากไปกว่าที่เป็นอยู่

          6. เมื่อให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ให้โทร. สอบถามโรงพยาบาลที่จะส่งตัวผู้บาดเจ็บก่อนว่า สามารถผ่าตัดต่ออวัยวะที่ขาดของผู้บาดเจ็บได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาในการส่งตัวไปรักษาต่อโรงพยาบาลอื่น

อวัยวะขาด
          วิธีเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดอย่างถูกต้อง
         
          ไม่ว่าจะเป็นกรณีนิ้วขาด แขนขาด เท้าขาด ขาขาด หรือมือขาด ควรเก็บรักษาอวัยวะที่ขาดดังวิธีต่อไปนี

          1. เก็บชิ้นส่วนของอวัยวะที่ขาด หากมีน้ำสะอาดให้ล้างอวัยวะด้วยน้ำเพื่อกำจัดเศษฝุ่นหรือสิ่งสกปรกออกบางส่วน

          2. นำชิ้นส่วนที่ขาดใส่ถุงสะอาด มัดปากถุงให้แน่น และสำรวจให้แน่ใจว่าถุงไม่มีรอยรั่วให้น้ำหรืออากาศเข้าได้

          3. นำถุงหรือถังใส่น้ำแข็ง เติมน้ำเล็กน้อย แล้วนำถุงที่ใส่ชิ้นส่วนอวัยวะลงไปแช่ทั้งถุง โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการแช่ชิ้นส่วนอวัยวะจะอยู่ที่ประมาณ 4 องศาเซลเซียส

          4. รีบนำผู้บาดเจ็บพร้อมทั้งชิ้นส่วนอวัยวะที่ขาดส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

          การเก็บรักษาชิ้นส่วนอวัยวะที่ขาดด้วยวิธีเบื้องต้น จะทำให้ส่วนนิ้วทนการขาดเลือดได้นานถึง 24 ชั่วโมง ส่วนแขน ขา และมือจะทนการขาดเลือดได้นาน 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด

อวัยวะขาด
ภาพจาก Dr. Marx Medizintechnik GmbH

          วิธีเก็บอวัยวะที่ขาดแบบผิด ๆ !

          หลายกรณีที่เก็บอวัยวะไปให้แพทย์แล้ว แต่ไม่สามารถผ่าตัดต่ออวัยวะกลับไปใหม่ได้ เนื่องจากมีวิธีการเก็บรักษาแบบผิด ๆ ดังต่อไปนี้

          1. นำอวัยวะส่วนที่ขาดแช่ลงในน้ำแข็งโดยตรง ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อเย็นจนกลายเป็นน้ำแข็ง และเซลล์ก็จะตาย อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจปนเปื้อนกับน้ำแข็งที่นำมาแช่ด้วย

          2. แช่ถุงชิ้นส่วนอวัยวะในน้ำแข็งที่ไม่มีน้ำปน ซึ่งก็จะทำให้เนื้อเยื่อเย็นจนเซลล์ตายได้เช่นกัน

          3. นำอวัยวะแช่ช่องแข็งในตู้เย็น เนื้อเยื่ออาจเย็นจัดจนเซลล์ตายได้เหมือนกันค่ะ

          วิธีต่ออวัยวะที่ขาด ทำอย่างไร

          การผ่าตัดต่ออวัยวะที่ขาดจะต้องทำการผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทางหรือที่เรียกว่า จุลศัลยแพทย์ (Micro Surgeon) ซึ่งจะมีวิธีการผ่าตัดดังนี้

          - ยึดกระดูกที่หักเข้าด้วยกัน โดยใช้โลหะดาม

          - เย็บซ่อมเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดง และเส้นประสาทด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง

          - เย็บซ่อมแซมเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และเย็บตกแต่งบาดแผลที่ผิวหนัง

อวัยวะขาด

          อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนผ่าตัดต่ออวัยวะส่วนที่ขาด แพทย์เฉพาะทางจะเป็นผู้วินิจฉัยโอกาสในการต่ออวัยวะเป็นเคส ๆ ไป โดยแพทย์จะประเมินจากสภาพร่างกายของผู้บาดเจ็บ สภาพอวัยวะที่ขาด หากเป็นชิ้นส่วนอวัยวะที่ถูกบดทำลาย จนเนื้อเยื่อไม่อยู่ในสภาพที่ใช้การต่อได้ หรือเป็นชิ้นส่วนอวัยวะที่ขาดเลือดมานานเกิน 6-8 ชั่วโมง แพทย์จะไม่ทำการผ่าตัดต่ออวัยวะให้ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงชีวิตได้

          ทว่าหากเก็บรักษาชิ้นส่วนอวัยวะที่ขาดอย่างถูกวิธี และแพทย์สามารถผ่าตัดต่ออวัยวะให้ได้ หลังจากผ่าตัดจนกระดูก เส้นเอ็น เส้นประสาทเชื่อมต่อกันดีแล้ว ผู้ป่วยก็ควรเข้ารับการกายภาพบำบัด เพื่ออวัยวะชิ้นนั้นกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
โรงพยาบาลจุฬารัตน์

โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปต่อกลับได้ อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2560 เวลา 17:38:23 27,797 อ่าน
TOP