
ผักหนาม คืออะไร ? เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงไม่คุ้นหูกับผักชนิดนี้ แต่น่าจะพอเดาได้ว่าต้องมีหนามเยอะแน่ ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วผักหนามเป็นผักที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในป่า และพื้นที่ชื้น บริเวณริมแม่น้ำ ลำคลอง คนทั่วไปที่รู้จักผักหนามส่วนมากจะนำมาทำเป็นอาหารทานค่ะ เพราะผักหนามถือเป็นผักที่มีประโยชน์และให้คุณค่าทางโภชนาการมากทีเดียว วันนี้เราเลยนำเรื่องราวและประโยชน์ของผักหนามมาฝากกันค่ะ
ผักหนาม หรือกะลี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Lasia spinosa (L.) Thwaites. เป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี อยู่ในวงศ์ ARACEAE ตระกูลเดียวกับบอน มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ต้นตั้งตรง มีหนามแหลมตามลำต้นและใบ ชอบขึ้นตามดินโคลนและพื้นที่ชื้นริมน้ำ พบในเอเชียเขตร้อนอย่างตอนใต้ของจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย นิยมเด็ดมาต้มกินกับน้ำพริก ซึ่งนอกจากจะกินกับน้ำพริกอร่อยแล้ว ประโยชน์ของผักหนามยังมีอีกเยอะเลยค่ะ แต่ก่อนจะไปดูประโยชน์ของผักหนาม เรามาทำความรู้จักผักหนามให้มากกว่านี้กันก่อนค่ะ
ลำต้น : ลำต้นผักหนามเป็นเหง้าแข็งอยู่ใต้ดิน เลื้อยขนานกับพื้น มีหนามแหลมอยู่ตามลำต้น โดยลำต้นจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร ชอบขึ้นบริเวณที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง
ใบ : ใบของผักหนามเป็นใบเดี่ยวทรงหัวลูกศร ผืนใบเรียบ สีเขียวเข้ม ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉกเกือบถึงเส้นกลางใบ เรียงสลับกัน โดยใบมีความกว้างมากกว่า 25 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร มีหนามอยู่บริเวณด้านหลังและเส้นกลางใบ ส่วนใบอ่อนจะม้วนเป็นแท่งกลม ปลายแหลม
ก้าน : ก้านของผักหนามมีรูปทรงกระบอก แข็ง ยาวประมาณ 40-120 เซนติเมตร และมีหนามแหลมตามก้านใบ
ดอก : ดอกของผักหนามเป็นช่อเชิงลด คือเป็นช่อดอกแบบไม่สิ้นสุด มีรูปทรงกระบอก เป็นแท่งยาวเท่ากับใบ ประมาณ 4 เซนติเมตร ออกมาจากกาบใบ ก้านของดอกมีหนามและสามารถยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร มีดอกย่อยเยอะ ใบประดับเป็นกาบสีน้ำตาลปนเขียวถึงสีม่วง ยาวถึง 55 เซนติเมตร โดยกาบจะม้วนเป็นเกลียวไปจนสุดความยาว ช่อดอกมีสีน้ำตาล มีดอกตัวผู้จำนวนมากอยู่ด้านบน และดอกตัวเมียอยู่ด้านล่างในจำนวนไม่มาก ดอกจะออกช่วงพฤษภาคมถึงมิถุนายน
ผล : ผลของผักหนามเรียงชิดติดกันเป็นแท่งทรงกระบอก ผลสดจะหนาและเหนียว ผลอ่อนจะนุ่มและมีสีเขียว ผลแก่จะมีสีเหลืองแกมแดง ผลจะออกช่วงมิถุนายนถึงสิงหาคม



ภาพจาก araceum.abrimaal.pro-e.pl
คุณค่าทางโภชนาการของผักหนาม
- พลังงาน 18 กิโลแคลอรี
- ความชื้น 94.1%
- โปรตีน 2.1 กรัม
- แป้ง 2.0 กรัม
- ใยอาหาร 0.8 กรัม
- แคลเซียม 14 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม
- เหล็ก 0.9 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 6383 IU
- วิตามินบี1 0.92 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.4 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.91 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 23 มิลลิกรัม

ภาพจาก องค์การสวนพฤกษศาสตร์
สรรพคุณผักหนาม ตามตำรับยา
ผักหนามสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ทั้งใบ ราก เหง้า และทั้งต้นเลย
ใบ : ช่วยรักษาอาการไอ และปวดท้อง
ราก : สามารถต้มดื่มแก้เจ็บคอ หรือต้มให้เด็กแรกเกิดอาบ
เหง้า : สามารถใช้เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ หรือต้มน้ำอาบแก้คัน จากพิษหัด อีสุกอีใสสุกใส และโรคผิวหนัง
ทั้งต้น : ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะพิการ โดยนำลำต้นแห้ง 10-15 กรัม มาต้มน้ำกิน
ยอดอ่อนและใบอ่อน : นำมารับประทานได้ แต่ต้องนำไปทำให้สุกหรือดองก่อนรับประทานเพื่อกำจัดพิษ
ข้อควรระวัง
ถึงจะมีสรรพคุณรักษาโรคมากมาย แต่ในการทานผักหนามก็ต้องระวังด้วยนะคะ เพราะว่าผักหนามมีสารไซยาโนจินิกไกลโคไซด์ (Cyanogenic. Glycosides) ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นสารไฮไดรไซยาไนต์ (hydrocyanic acid) ซึ่งเป็นสารพิษที่มีฤทธิ์ระงับการเจริญเติบโต และยับยั้งกระบวนการสร้างและสลายของเซลล์สิ่งมีชีวิต ยับยั้งกระบวนการหายใจและเนื้อเยื่อไม่ให้ดึงออซิเจนออกมาใช้ อาจส่งผลต่อชีวิตได้ ดังนั้นก่อนทานจึงต้องทำไปล้างสะอาด และทำให้สุกหรือดองก่อนจึงจะรับประทานได้

1. ประกอบอาหารได้หลากหลาย
ยอดอ่อน ใบอ่อนของผักหนามสามารถนำมาทำอาหารได้ทั้งต้ม ผัด แกง นึ่ง ดอง ลวก เหมือนกับผักทั่วไปที่เราทานกันเลยนะคะ นอกจากนี้ยังนำส่วนต่าง ๆ มาต้มดื่มตามตำรับยา เป็นยาบำรุงหรือรักษาโรคได้อีกด้วย
2. อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย
อย่างที่บอกไปในคุณค่าทางโภชนาการของผักหนาม จะเห็นได้ว่าผักหนามอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย เช่น โปรตีน ใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ บี และซี ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ช่วยบำรุงร่างกายของเราให้แข็งแรงขึ้นได้นั่นเองค่ะ
3. แก้ไอ แก้เจ็บคอ ดับกระหาย
หนึ่งจุดเด่นของผักหนามที่หลาย ๆ คนรู้ก็คือช่วยรักษาอาการเจ็บคอ โดยนำรากมาต้มน้ำ แล้วดื่ม แค่นี้อาการไอ เจ็บคอ และเสมหะก็หายไปแล้วค่ะ แถมน้ำรากผักหนามยังช่วยดับกระหายได้ดีอีกด้วย
4. เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย
ต้นผักหนามสามารถนำมาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อยได้ โดยนำต้นผักหนาม ไม้เปา และไม้จะลานมาต้ม แล้วใช้อาบหรือดื่มกิน วิธีนี้ได้มาจากชาวไทใหญ่ค่ะ
5. รักษาอาการปวดท้องและลำไส้
ในอินเดียจะใช้ผักหนามเป็นยาบรรเทาอาการปวดท้อง ปวดข้อ และรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับสำไส้

ภาพจาก araceum.abrimaal.pro-e.pl
6. กินเป็นยาถ่ายพยาธิ
ผักหนามนำมาทำเป็นยาถ่ายพยาธิได้โดยนำหัวเหง้ามาฝนกับน้ำ จากนั้นก็ดื่มกินได้เลยค่ะ
7. แก้อาการเน่าเปื่อยและแผลเรื้อรัง
ผักหนามสามารถรักษาอาการเท้า ศีรษะ และผิวหนังเน่าเปื่อย เป็นแผลเรื้อรังได้ด้วยนะคะ โดยให้นำลำต้นของผักหนามมาต้ม แล้วนำน้ำไปล้างบริเวณแผล หรือจะนำลำต้นมาบดเป็นผงแล้วทาก็ได้
8. ใช้รักษาอาการริดสีดวงทวาร
น้ำที่คั้นได้จากต้นผักหนามสามารถนำมาใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารได้
9. ช่วยถอนพิษ
หากมีอาการคัน เพราะหัด อีสุกอีใส หรือพวกโรคผิวหนังต่าง ๆ สามารถนำผักหนามมาต้มแล้วใช้อาบ เพื่อถอนพิษพวกนั้นให้หายเร็วขึ้นได้ค่ะ
10. เพิ่มปริมาณข้าวให้มากขึ้น
ชาวกะเหรี่ยงในเชียงใหม่ มักจะนำก้านและใบอ่อนของผักหนามมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมกับข้าวสาร แล้วนำไปหุง เพื่อเพิ่มปริมาณของข้าวสุก
11. ผสมอาหารเลี้ยงไก่ และโคกระบือ
นอกจากจะมีประโยชน์กับคนแล้ว ผักหนามยังมีประโยชน์กับสัตว์ด้วยนะคะ โดยก้านและใบสามารถนำไปให้โค-กระบือกินเป็นอาหาร เพื่อช่วยให้โค-กระบืออ้วนสมบูรณ์ได้ เนื่องจากในผักหนามมีฮอร์โมนบางชนิดที่ส่งผลด้านบวกต่อการเจริญเติบโต และมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียซึ่งไปเสริมระบบภูมิคุ้มกันโรคได้ด้วย
ส่วนในไก่มีการนำก้านและใบแก่ของผักหนามมาใช้แทนยาปฏิชีวนะ แล้วพบว่าให้ผลเหมือนกันกับยาปฏิชีวนะ คือไก่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และการใช้ผักหนามยังทำให้อาหารไก่มีต้นทุนที่ต่ำลงด้วย

ภาพจาก araceum.abrimaal.pro-e.pl
ผักหนาม ทำอะไรกินได้บ้าง
- นำยอดอ่อนมาทำเป็นผักลวก ผักนิ่ง หรือต้มกิน
- ทำผักดองเปรี้ยว กินกับแกงไตปลาและขนมจีน
- ทำเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือลาบ
- ใช้ยอดอ่อนทำเป็นแกงต่าง ๆ แกงส้ม แกงไตปลา
- ผัดผักหนาม
- ดื่มบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย
- สับลำต้นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมในข้าวสาร แล้วนำไปหุง เพิ่มปริมาณได้
การปลูกผักหนาม
โดยปกติแล้วผักหนามจะขึ้นเองตามธรรมชาติ บริเวณดินเลน ริมคลอง หนองน้ำ หรือริมแม่น้ำในป่า แต่ถ้าหากอยากปลูกสามารถนำเมล็ดสุกมาเพาะเมล็ด หรือแยกหน่อจากเหง้าหรือหัวใต้ดินได้ แต่ต้องปลูกในบริเวณที่ดินชื้นหรือริมหนองน้ำนะคะ เพราะผักหนามเป็นพืชที่ชอบความชื้น และแสงแดดเต็มวันมาก
เห็นแล้วใช่ไหมคะว่าผักตามธรรมชาติอย่างผักหนามก็ประโยชน์มากมาย เพราะฉะนั้นถ้าพบเจอจะเก็บมากินหรือใช้เป็นยารักษาร่างกายก็ได้ แต่อย่าลืมทำให้สุกเพื่อป้องกันพิษของผักหนามก่อนนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
องค์การสวนพฤกษศาสตร์
ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ
สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน)
Samunpri