ถั่วฝักยาว ประโยชน์ไม่ธรรมดา สรรพคุณทางยาไม่น้อยหน้าใคร !


          ถั่วฝักยาว ผักธรรมดา ๆ ที่เรามักนำไปประกอบอาหารหรือทานเป็นเครื่องเคียงจะมีประโยชน์มากมายสักแค่ไหน ถ้าอยากรู้ ต้องอ่าน ! 


          สำหรับใครที่สงสัยว่าถั่วฝักยาวนั้นมีประโยชน์แค่นำมาประกอบอาหารหรือเปล่า วันนี้เรามีคำตอบที่จะทำให้ทุกคนต้องตะลึงมาฝาก เพราะผักธรรมดา ๆ อย่างถั่วฝักยาวที่เราทานกันบ่อย ๆ นั้น มีสรรพคุณเยอะ ประโยชน์แยะ ถึงขนาดป้องกันโรคมะเร็งได้เลยทีเดียว แต่ก่อนจะไปดูสรรพคุณและประโยชน์ที่มากมายของถั่วฝักยาว เรามาทำความรู้จักถั่วฝักยาวให้มากขึ้นกันก่อนค่ะ

ถั่วฝักยาว

            
ทำความรู้จักกับ “ถั่วฝักยาว”

          ถั่วฝักยาว ภาษาอังกฤษคือ yardlong bean มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vigna unguiculata subsp. เป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับพวกถั่วต่าง ๆ อย่าง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแปบ คืออยู่ในวงศ์ Fubaceae มีลักษณะพิเศษที่ทำให้แตกต่างจากถั่วชนิดอื่นอย่างชัดเจน ด้วยฝักสีเขียวที่ยาวสะดุดตา โดยคนไทยเรานิยมนำไปประกอบอาหารหลากหลายประเภท ทั้ง ผัด แกง ตำแทนมะละกอ และใช้เป็นส่วนผสมของอาหารอื่น ๆ แต่ที่นิยมที่สุดคือนำมากินสด ๆ หรือเป็นเครื่องเคียงคู่กับน้ำพริกและอาหารรสจัด เพราะถั่วฝักยาวจะช่วยลดความเข้มข้นของอาหารลงได้
            
ถั่วฝักยาว

ภาพจาก pixabay
 
ถั่วฝักยาวมีคุณค่าทางโภชนาการอาหารอะไรบ้าง ?

          คุณค่าทางโภชนาการอาหารของถั่วฝักยาว 100 กรัม มีดังนี้

          - พลังงาน 47 กิโลแคลอรี
          - คาร์โบไฮเดรต 8.35 กรัม
          - โปรตีน 2.8 กรัม
          - ไขมัน 0.4 กรัม
          - วิตามินเอ 865 ไอยู
          - วิตามินบี 1 (ไทอามีน) 0.107 มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) 0.110 มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 3 (ไนอะซิน) 0.410 มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 5 (แพนโทเทนิก) 0.055 มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 6 (ไพริดอกซิน) 0.024 มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 9 (โฟเลต) 62 ไมโครกรัม
          - วิตามินซี 18.8 มิลลิกรัม
          - โซเดียม  4 มิลลิกรัม
          - โพแทสเซียม 240 มิลลิกรัม
          - แคลเซียม 50 มิลลิกรัม
          - ทองแดง 0.048 ไมโครกรัม
          - เหล็ก 0.47 มิลลิกรัม
          - แมกนีเซียม 44 มิลลิกรัม
          - แมงกานีส 0.205 มิลลิกรัม
          - ฟอสฟอรัส 59 มิลลิกรัม
          - ซีลีเนียม 1.5 ไมโครกรัม
          - สังกะสี 0.37 มิลลิกรัม
 
ถั่วฝักยาว มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์แบบไหน ?

          ต้น : ถั่วฝักยาวเป็นพืชล้มลุก เลื้อยไปตามไม้ค้ำ มีข้อปล้อง กิ่ง ก้าน และรากที่ไม่ลึกมาก ทั้งรากแก้วและรากแขนง
          ใบ : ใบของถั่วฝักยาว เป็นใบประกอบที่มีใบย่อยประมาณ 3 ใบ สลับกันอยู่บนต้น มีขนาดเล็ก รูปไข่ ปลายแหลม สีเขียว โดยที่โคนใบจะมีหูใบเส้นเล็ก ๆ อยู่ 2 เส้น
          ผล : ผลของถั่วฝักยาว จะออกเป็นฝักสีเขียว ผิวขรุขระ ยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร ซึ่งเป็นส่วนที่เราทำมาประกอบอาหารกันนั่นเอง
          เมล็ด : เมล็ดถั่วฝักยาวจะมีลักษณะคล้ายไต กลมเล็กน้อย และมีหลายสี เช่น ขาว ดำ น้ำตาล และสีสลับ
          ดอก :  ดอกของถั่วฝักยาวออกเป็นช่อ มีดอกย่อยประมาณ 2-3 ดอก โดยจะบานตอนเช้า และหุบตอนบ่าย

ถั่วฝักยาว กับสรรพคุณทางยาดี ๆ

          ราก : รักษาโรคหนองในและโรคบิด ทำให้เจริญอาหาร และช่วยบำรุงม้ามได้
          ฝักสด : ระงับอาการปวด หรือตำคั้นเอาน้ำมาดื่มแก้ท้องอืดแน่น เรอเปรี้ยว เนื่องจากกินมากไป
          เปลือกฝัก : ลดอาการปวดบวม และช่วยรักษาแผลที่เต้านม
          ใบ : ใช้ต้มน้ำกิน แก้ปัสสาวะพิการ รักษาหนองใน และปัสสาวะเป็นหนองได้
          เมล็ด : แก้กระหายน้ำ อาการอาเจียน โรคบิด ปัสสาวะกะปริบกะปรอย และตกขาว อีกทั้งยังช่วยบำรุงม้ามและไตด้วย
         
ถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาวกับประโยชน์มหาศาล 

1. นำมาประกอบอาหาร


          แน่นอนว่าประโยชน์อันดับหนึ่งของถั่วฝักยาวก็คือนำมาทำเป็นอาหาร เช่น ตำ ผัด แกง ทำของหวาน และลวกเป็นเครื่องเคียง เพราะเป็นผักที่ฉ่ำน้ำ กรอบ มีรสหวานมัน และไม่เหม็นเขียว ยิ่งถ้าทานคู่กับอาหารรสจัดจะช่วยลดความเข้มข้นของอาหารนั้น ๆ ให้กลมกล่อมพอดีได้ นอกจากนี้ ยังมีการนำถั่วฝักยาวไปบรรจุกระป๋องหรือแช่แข็งเพื่อส่งออกไปขายยังต่างประเทศ และนำไปใช้เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย

2. ดูแลผิวพรรณ

          ในถั่วฝักยาวมีวิตามินซีเป็นส่วนประกอบอยู่ค่อนข้างมาก และอย่างที่เรารู้กันดีว่าวิตามินซีเป็นสารสำคัญที่ช่วยดูแลผิว ทั้งลดริ้วรอย รอยแดง ยืดอายุผิว และช่วยบำรุงไม่ให้ผิวแห้ง อีกทั้งยังเป็นสารที่สำคัญต่อผิวหนัง หลอดเลือด และเส้นเอ็นในร่างกายเรา แถมถ้าเรากินอาหารที่มีวิตามินซีสูงบ่อย ๆ สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้ด้วยนะ

3. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

          ใคร ๆ ก็อยากมีภูมิคุ้มกันสูงเพื่อจะได้ป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วยใช่ไหมคะ งั้นเราขอแนะนำถั่วฝักยาวเป็นทางเลือกในการช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะการทานถั่วฝักยาวจะไปช่วยเสริมการทำงานของฮีโมโกลบิน ทำให้มีออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้ทั่วถึง ส่งผลให้เราไม่อ่อนเพลีย แถมในถั่วฝักยาวยังมีวิตามินซีที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ป้องกันโรคหวัด

ถั่วฝักยาว

4. ช่วยให้นอนหลับสนิท

          ถ้าร่างกายเราขาดแมกนีเซียม อาจทำให้เรามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอนได้ เพราะแมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุจำเป็นที่ช่วยบรรเทาความเครียดและทำให้สมองผ่อนคลาย หากขาดไปก็ทำให้เราวิตกกังวล เครียด จนนอนไม่หลับได้ง่าย ฉะนั้นการทานถั่วฝักยาวซึ่งมีแมกนีเซียมสูง จึงช่วยให้สมองผ่อนคลายมากขึ้น และเครียดน้อยลง ซึ่งทำให้เรานอนหลับได้สนิทขึ้นค่ะ

5. บำรุงสายตา

          วิตามินเอและวิตามินบี 1 สามารถบำรุงสายตา ป้องกันไม่ให้ประสาทตาเสื่อม ป้องกันโรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคต้อกระจก ต้อหิน และยังช่วยให้สายตาเรามองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถ้าใครที่ยังไม่มีปัญหาสายตา เราขอแนะนำให้กินถั่วฝักยาวหรืออาหารที่มีวิตามินเอและวิตามินบี 1 เยอะ ๆ เพื่อช่วยบำรุงสายตาและป้องกันโรคเกี่ยวกับตาไว้ก่อนเลย หรือถ้าใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตาแล้ว ก็สามารถทานถั่วฝักยาว เพื่อช่วยบำรุงให้สายตากลับมาเป็นปกติได้นะคะ

6. ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง

          เพราะว่าในถั่วฝักยาวมีแคลเซียม ธาตุเหล็ก และฟอสฟอรัสอยู่เยอะ เมื่อธาตุทั้งสามทำงานรวมกันก็ช่วยทำให้เส้นผม ฟัน และกระดูกของเราแข็งแรงขึ้นได้ ลดความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนสบาย ๆ เลยค่ะ

7. ป้องกันเบาหวาน

          ถั่วฝักยาวมีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลที่ดีต่อสุขภาพ แถมยังมีไฟเบอร์เยอะ ซึ่งช่วยให้น้ำตาลย่อยช้าลง จึงสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี และช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้

ถั่วฝักยาว

8.  บำรุงครรภ์


          มีการศึกษาพบว่าการทานอาหารที่ประกอบไปด้วยโฟเลต หรือวิตามินบี 9 เยอะ ๆ สามารถลดความเสี่ยงภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (neural tube defect, NTD) ได้ถึง 26% เลยทีเดียว ซึ่งภาวะหลอดประสาทไม่ปิดนี้เป็นอันตรายกับลูกในท้องมากเลยนะคะ  เพราะอาจทำให้เด็กพิการตั้งแต่กำเนิด ดั้งนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ควรรับประทานถั่วฝักยาวและอาหารที่มีโฟเลตบ่อย ๆ เพื่อช่วยให้ลูกน้อยลดความเสี่ยงโรคนี้และให้ได้รับสารอาหารอื่น ๆ เพื่อช่วยบำรุงครรภ์ค่ะ

9. ลดความเสี่ยงเป็นเกาต์

          อาการเท้าบวมของโรคเกาต์นั้นมีสาเหตุมาจากการสะสมของกรดยูริกในข้อเท้าที่มากเกินไป ซึ่งจริง ๆ แล้วเราสามารถลดกรดยูริกและลดความเสี่ยงโรคเกาต์ได้ง่าย ๆ เพียงแค่ทานวิตามินซีให้มากขึ้น อ้างอิงจากการศึกษาที่พบว่าผู้ที่ทานวิตามินซีประมาณ 1,000-1,499 มิลลิกรัมเป็นประจำ สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเกาต์ได้ถึง 31% ฉะนั้นแค่เราทานผัก-ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง ๆ อย่างเช่น ถั่วฝักยาวก็สามารถป้องกันโรคเกาต์ได้ง่าย ๆ แล้ว

10. มีสารต้านอนุมูลอิสระ

          ในเมื่อถั่วฝักยาวเป็นผักที่มีวิตามินซีสูง จึงมีสารต้านอนุมูลอิสระมากไปด้วยค่ะ เพราะวิตามินซีก็คือสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยปกป้องเซลล์ร่างกายไม่ให้ถูกสารพิษ สารเคมี อนุมูลอิสระมาทำลาย  พร้อมกับช่วยลดอาการอักเสบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย
        
11. บำรุงหัวใจให้แข็งแรง

          ประโยชน์ดี ๆ ของถั่วฝักยาวยังไม่หมดค่ะ เพราะนอกจากสิ่งดี ๆ ข้างบนแล้ว ถั่วฝักยาวยังสามารถลดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจได้ด้วย เพราะในถั่วฝักยาวอุดมไปสารอาหารมากมายที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และลดความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน และบำรุงหัวใจให้แข็งแรง ห่างไกลโรคหัวใจแบบสบาย ๆ เลย

12. นำมาทำเป็นอาหารสัตว์

          นอกเหนือจากประโยชน์ต่าง ๆ ข้างบนแล้ว ถั่วฝักยาวยังนำมาทำเป็นปุ๋ยพืช เพื่อบำรุงดินและควบคุมวัชพืช แถมยังนำเมล็ด ยอด และลำต้นมาทำเป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย เพราะถั่วฝักยาวเป็นแหล่งที่มีโปรตีนสูงนั่นเองค่ะ   

กินถั่วฝักยาว อ้วนไหม ช่วยลดน้ำหนักได้หรือเปล่า ?

          ไม่ต้องกังวลไปเลยค่ะ เพราะถั่วฝักยาวเป็นผักที่มีโปรตีนเยอะแต่ไขมันน้อย แถมยังมีแคลเซียมสูง ฟอสฟอรัสสูง ไฟเบอร์ก็สูงอีกต่างหาก จึงช่วยดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้ดี ทำให้เราอิ่มเร็ว อิ่มนาน และเผาผลาญได้ง่ายขึ้น พร้อมกับช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีเยี่ยม ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงบอกได้ว่า การทานถั่วฝักยาวในปริมาณที่เหมาะสมนอกจากจะไม่ทำให้อ้วนแล้ว ยังช่วยให้เราลดน้ำหนักได้สบาย ๆ อีกนะ

ข้อควรระวังในการทานถั่วฝักยาว

          ถึงจะมีประโยชน์มากมายอย่างไร แต่หากทานถั่วฝักยาวแบบสด ๆ ดิบ ๆ หรือทานมากไปก็อาจทำให้ท้องอืดได้ เพราะในถั่วฝักยาวดิบจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และมีเทนอยู่มาก ซึ่งแก๊สพวกนี้ทำให้เกิดกรดเกินในกระเพาะอาหาร จนมีอาการท้องอืด แถมการทานถั่วฝักยาวดิบ ๆ ยังทำให้เราได้รับสารไกลโคโปรตีนเข้าไปเต็ม ๆ  ซึ่งสารตัวนี้สามารถทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และเวียนหัวได้ ส่วนใครที่เคี้ยวถั่วฝักยาวไม่ละเอียดแล้วกลืน ก็ต้องระวังว่าถั่วฝักยาวอาจจะไปอุดตันในกระเพาะอาหารและลำไส้ เพราะเป็นผักดิบที่ค่อนข้างเหนียวและแข็งค่ะ
       
          เห็นแล้วใช่ไหมคะ ว่าถั่วฝักยาวที่เราทานนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสารอาหาร แถมให้ประโยชน์ครบถ้วน ถือเป็นผักที่ไม่ธรรมดาอีกหนึ่งชนิดเลย แต่อย่างไรก็อย่าลืมระมัดระวังในการทานถั่วฝักยาว โดยไม่ทานถั่วฝักยาวแบบดิบ ๆ และควรทานในปริมาณที่เหมาะสมด้วยนะคะ ไม่เช่นนั้นถั่วฝักยาวอาจให้โทษมากกว่าประโยชน์ก็เป็นได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สมุนไพรดอทคอม
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์
Healthvbenefits times
Nutrition and you
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถั่วฝักยาว ประโยชน์ไม่ธรรมดา สรรพคุณทางยาไม่น้อยหน้าใคร ! อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2565 เวลา 10:24:04 136,235 อ่าน
TOP
x close