x close

จิ้มจุ่ม ช้อน ส้อม ตะเกียบ ระวังเชื้อโรค


เคล็ดลับสุขภาพ
 
จิ้มจุ่ม ช้อน ส้อม ตะเกียบ (Modernmom)

โดย: ผศ.น.สพ.ดร.ศุภชัย เนื้อนวลสุวรรณ
ภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
คราวนี้ เราจะว่าด้วยเรื่องที่ใกล้ตัวอีกเช่นกัน

          หลาย ๆ คน คงจะเคยไปลิ้มรสอาหารในศูนย์อาหาร หรือที่เรียกว่า ฟู้ดเซ็นเตอร์ หรือ ฟู้ดคอร์ท กันมานักต่อนักแล้วนะครับ และคงเห็นหม้อน้ำร้อนที่เจ้าของสถานที่หวังดีจัดบริการให้ไว้ โดยมักจะตั้งไว้ใกล้ ๆ กับที่วางช้อน ส้อม และ ตะเกียบ ให้ได้ใช้ลวก หรือ ถ้าจะให้ถูกน่าจะเรียกว่า "จิ้มจุ่มด่วน" เนื่องจากคนที่มากินในศูนย์อาหารก็มักจะไม่ต้องการพิธีรีตองมากมายในการกินอาหาร สำหรับท่านที่ไม่เคยเฉียดใกล้พวกห้างสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ก็อย่าค้อนหลายวงนะครับ จริง ๆ แล้ว หม้อน้ำร้อนนี้ไม่เพียงแต่จะพบได้เฉพาะในศูนย์อาหาร ฟู้ดเซ็นเตอร์ หรือ ฟู้ดคอร์ทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่เท่านั้น ระดับโรงอาหาร ศูนย์อาหาร ในสถานที่ราชการ เอกชน หรือมหาวิทยาลัยทั่วไป ก็สามารถพบวัตถุดังกล่าวนี้ได้หนาตาโดยทั่วไปเช่นเดียวกันครับ
 
ใช้หม้อจิ้มจุ่มทำอะไร?

          ฟังคำถามอาจจะดูเหมือนง่าย คำตอบก็ดูเหมือนง่ายเหมือนคำถามนั่นแหละ แต่ปฏิบัติจริงอาจจะยากกว่าคำถามกับคำตอบที่คิดก็เป็นได้

          คำตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือ หม้อจิ้มจุ่มใช้ลวกช้อน ส้อม ตะเกียบ เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจจะสะสม หรือติดอยู่กับอาวุธในการเปิบอาหารเข้าปาก

          แต่อันที่จริงแล้ว ทุกคนก็คิดเหมือนกันว่า การจุ่มช้อน ส้อมและตะเกียบ เพียงชั่ววินาที หรือแค่ไม่กี่อึดใจลงในหม้อจิ้มจุ่มที่มีน้ำร้อนตั้งเอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้ เคยเปลี่ยนน้ำบ้างหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ จะสามารถทำลายเชื้อโรคได้ทุกชนิดได้อย่างหมดจดหมดคราบ ซอกซอนลึกเข้าถึงเนื้อโลหะ เนื้อไม้ได้หรือไม่

          แหมอะไรจะมหัศจรรย์เหมือนของเล่นวิเศษที่โนบิตะได้จากโดราเอมอนล่ะ
 
ประวัติที่มาของหม้อจิ้มจุ่ม

          บังเอิญเป็นอย่างยิ่งทีเดียว ที่หมอได้มีโอกาสเป็นอาจารย์พิเศษไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องเกี่ยวกับไวรัสที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยหนึ่งในไวรัสที่หมอไปบรรยาย คือ ไวรัสตับอักเสบเอ และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ทราบว่า เคยมีการระบาดของไวรัสโรคตับอักเสบเอในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งนั้นจึงได้มีความพยายามควบคุม หรือสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโรคตับอักเสบเอ ซึ่งเข้าใจว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะมีหลายมาตรการที่ออกมาในระยะนั้น และหนึ่งในมาตรการเหล่านั้น คือ การลวกช้อน ส้อมและตะเกียบในโรงอาหารที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อจากนั้นมา การปรากฏตัวของหม้อจิ้มจุ่มก็กลายเป็นวัฒนธรรม หรือประเพณีของโรงอาหาร หรือศูนย์อาหารระบาดไปทั่วประเทศ

          หมอเคยเดินทางหรือใช้ชีวิตในต่างแดนมาก็หลายประเทศ ยังไม่เคยเห็นหม้อจิ้มจุ่มแบบบ้านเราเลยครับ แนวคิดเรื่องการลวกช้อน ส้อมหรือตะเกียบนี้ มองดูเผิน ๆ คิดกันง่าย ๆ เหมือนจะเป็นหวังดี แต่ถ้าไม่ปฏิบัติดี ไม่ปฏิบัติชอบแล้วไซร้ ก็จะเป็นการประสงค์ร้ายต่อผู้อื่นแทนได้
 
หม้อจิ้มจุ่ม ทำผิดอะไรเหรอ?

          จริง ๆ แล้ว ตัวหม้อจิ้มจุ่มเองไม่ได้มีความผิดคิดคดทรยศ ทั้งผู้มีอุปการคุณที่มาเปิบอาหาร หรือกระทั่งเจ้าของสถานที่ แต่ความผิดอยู่ที่วิธีการใช้ "หม้อจิ้มจุ่ม" มากกว่า

          ถ้าคุณมีโอกาสนั่งเฝ้าเจ้าหม้อจิ้มจุ่มนี่ดูนะครับ ลองดูตั้งแต่เปิดโรงอาหารหรือศูนย์อาหาร จนกระทั่งศูนย์อาหารมาเชิญท่านกลับบ้าน เพราะได้เวลาปิดแล้ว ท่านอาจจะสังเกตได้ชัดเจนว่า ตั้งแต่เปิดบริการในแต่ละวัน หม้อน้ำร้อนนี้ไม่เคยได้มีโอกาสขยับไปไหน นั่งก้นร้อนติดอยู่กับที่ตลอดเวลา คาดว่า นานวันเข้าจะเป็นริดสีดวงทวารเอาได้ง่าย ๆ ครับ เจ้าของสถานที่ (หมายรวมถึง ศูนย์อาหาร โรงอาหารทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่) คงจะนึกเอาเองว่า ตั้งแต่เช้าที่เริ่มเปิดบริการ จนกระทั่งเย็นหรือดึก น้ำที่อยู่ในหม้อจิ้มจุ่มจะสามารถทำงานได้ตลอดรอดฝั่งในการปราบเหล่าร้ายเชื้อโรคที่อาจจะนั่งคอย นอนคอยในช้อน ส้อมหรือตะเกียบ รอว่าเมื่อไหร่จะมีเหยื่อมารับอุปการะเลี้ยงดูเชื้อโรคที่ตกทุกข์ได้ยาก กำพร้าตั้งแต่เกิด
 
          ถ้าคุณเป็นผู้โชคดี คือ ใช้หม้อจิ้มจุ่มเป็นคนแรก ๆ ตอนที่น้ำและหม้อจิ้มจุ่มยังสะอาดดีอยู่ เชื้อโรคที่อาจจะอยู่ที่ช้อน ส้อมหรือตะเกียบ ก็จะถูกเฉดหัวไปสู่บ้านใหม่ คือ น้ำในหม้อจิ้มจุ่ม พอเจอกับความร้อนสูง ก็จะลาโลกไปหมด
 
          ถ้าคุณเป็นผู้โชคดีกว่านั้น คือ ใช้หม้อจิ้มจุ่มในช่วงกลาง ๆ หรือ ช่วงท้าย ๆ ของวัน สถานการณ์จะเริ่มแย่ลง เพราะว่าน้ำในหม้อจิ้มจุ่มที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนเลย ปริมาณสิ่งสกปรกมีการสะสมตัวมากยิ่งขึ้น น้ำที่ร้อนก็อาจจะร้อนน้อยลงจนกระทั่งเปลี่ยนจาก "หม้อฆ่าเชื้อ" ไปเป็น "หม้อเพาะเชื้อ" ไปเสียฉิบ ทำให้น้องแบคจากช้อน ส้อมหรือตะเกียบแทนที่จะตายในหม้อจิ้มจุ่ม กลับเพิ่มจำนวนในหม้อจิ้มจุ่ม หรือ หม้อเพาะเชื้อ ซึ่งตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็นสวรรค์บนดินให้เชื้อโรคเพิ่มจำนวนออกลูกออกหลานมากมายยั้วเยี้ยได้ อันเนื่องจากมีอาหารเป็นบรรดาสิ่งสกปรกที่มาจากช้อน ส้อมหรือตะเกียบ สะสมในหม้อเพาะเชื้อ ในที่สุดก็จะสะสมเพิ่มจำนวนเชื้อโรคเป็นเท่าทวีคูณมากยิ่ งๆ ขึ้นไป คุ

          ผู้โชคดีกว่า ที่คิดว่า หม้อจิ้มจุ่มจะเป็นหนทางที่จะทำให้ช้อน ส้อมหรือตะเกียบสะอาดปลอดเชื้อโรค เมื่อใช้หม้อจิ้มจุ่มนี้ กลับไปเพิ่มทั้งความสกปรกและเชื้อโรคให้กับช้อน ส้อมหรือตะเกียบมากกว่าการไม่จุ่มเสียอีก เป็นงั้นไปได้ไงนี่
 
แล้วจะทำยังไงดีล่ะ

          คงต้องเป็นบทบาท หรือความอนุเคราะห์จากผู้ประกอบการเจ้าของสถานที่เป็นสำคัญครับในการแก้ไขปัญหา ก็เมื่อรู้แล้วว่าน้ำในหม้อจิ้มจุ่มที่ทิ้งไว้นาน จะเป็นแหล่งหมักหมมสะสมสิ่งสกปรกและเชื้อโรค ก็ควรจะต้องเปลี่ยนน้ำให้บ่อยขึ้น เท่าที่จะทำได้

          เรื่องความร้อนของน้ำ แม้ว่าการเพิ่มความร้อนให้สูงขึ้นอีก โดยหลักการและทฤษฎีจะช่วยลดเวลาในการจุ่มทำลายเชื้อโรคได้ก็ตามที (ผู้มีอุปการคุณก็อยากได้แบบเปิดปุ๊บ...ติดปั๊บอยู่แล้วนี่) แต่เชื้อโรคบางชนิด เช่น แบคทีเรียจะมีพรสวรรค์ หรือ พรแสวง บางอย่างในการรักษาเผ่าพงศ์วงศาคณาญาติไว้ จึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น สถานการณ์ที่ความร้อนสูงขึ้น แม้จะต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุเชื้อโรคก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่า น้องแบคทำได้
 
สรุป

          การใช้หม้อจิ้มจุ่มที่ถูกวิธี จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคที่อาจจะอยู่ในช้อน ส้อมหรือตะเกียบได้ แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนน้ำในหม้อจิ้มจุ่มเลย แทนที่จะทำให้ช้อน ส้อมหรือตะเกียบสะอาดขึ้น กลับจะทำให้สกปรกและอันตรายมากขึ้นเสียอีก ทางออกสุดท้าย ก็อาจจะไม่จุ่มเลยจะดีกว่า...เอวัง
 

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จิ้มจุ่ม ช้อน ส้อม ตะเกียบ ระวังเชื้อโรค อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2560 เวลา 17:57:07 2,601 อ่าน
TOP