แชร์เทคนิคการลอยตัวในน้ำโดยไม่ขยับร่างกาย ทักษะการเอาชีวิตรอดที่ทุกคนควรรู้ !

          แม้จะว่ายน้ำไม่เป็น แต่ก็สามารถเอาตัวรอดจากการจมน้ำได้ ถ้ารู้จักวิธีลอยตัวที่ถูกต้อง 
ลอยตัวในน้ำ

          สาเหตุการเสียชีวิตของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี อันดับหนึ่ง คือการจมน้ำ ดังนั้นในวันนี้เราจึงนำเทคนิคการลอยตัวในน้ำโดยไม่ขยับร่างกาย จาก คุณเจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม และเฟซบุ๊ก ฮุก 31 ทีม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ มาบอกต่อให้เป็นความรู้  เพราะถึงแม้บางคนจะว่ายน้ำเป็นอยู่แล้ว แต่หากเกิดอุบัติเหตุทางน้ำแล้วได้รับการช่วยเหลือช้า ก็อาจหมดแรง จนจมน้ำก่อนได้ แต่ถ้าใช้เทคนิคลอยตัวในน้ำโดยไม่ขยับร่างกายและเป็นการลอยตัวพร้อมเสื้อผ้าแบบนี้จะช่วยทุ่นแรงได้มากขึ้น หรือต่อให้เราว่ายน้ำไม่เป็นก็สามารถใช้เทคนิคนี้เอาชีวิตรอดได้ค่ะ

ลอยตัวในน้ำ

          เทคนิคการลอยตัวโดยไม่ขยับร่างกาย และการลอยตัวทั้งเสื้อผ้า ทักษะการเอาชีวิตรอดที่คุณควรรู้ โดยคุณเจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน

สวัสดีเพื่อน ๆ พี่น้องพันทิปครับ

          กระทู้นี้จะขอบอกเล่าเทคนิคการลอยตัว โดยไม่ขยับร่างกายพร้อมภาพประกอบครับ
ซึ่งเทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ผมเรียนรู้เอง เมื่อประมาณ 9 ปีก่อนโดยบังเอิญครับ

          ซึ่งมาทราบทีหลังว่ามันเป็นเทคนิคที่มีการสอนต่อ ๆ กันมา และในประเทศอื่นก็ใช้วิธีคล้าย ๆ กับที่ผมทำได้ครับ วันนี้เลยจะมาขอเขียนเทคนิคการลอยตัวไว้ เพื่อเป็นข้อมูลและเพื่อให้ฝึกฝนทักษะการลอยตัวนี้ไว้ใช้ยามฉุกเฉินครับ

          คำถาม : ฉันว่ายน้ำเป็นอยู่แล้ว จะต้องลอยตัวไปทำไม ?
          ตอบ : เพราะการจมน้ำ ตกน้ำ มันมักมาตอนเราไม่ทราบ ว่ามันจะมาตอนไหน
          เช่น คุณพลัดตกเรือ กว่าเรือจะวกกลับมาหาคุณ หรือมีคนมาช่วย คุณจำเป็นต้องเก็บแรงไว้ และลอยตัวให้นานที่สุด เพื่อรอความช่วยเหลือ ดังนั้นการว่ายน้ำไม่ใช่คำตอบที่ถูกทั้งหมดครับ เพราะการว่ายน้ำหรือการลอยตัวด้วยท่าลูกหมาตกน้ำ
 
          ลองถามตัวเองก่อนว่า ครั้งล่าสุดที่คุณทำท่าลูกหมาตกน้ำ คุณทำได้กี่นาที ?
          ถึง 5 นาทีหรือไม่ ? เกิน 10 นาทีหรือเปล่า ?
          ดังนั้น ควรจะฝึกฝนทักษะการลอยตัวแบบไม่เปลืองแรงเอาไว้ครับ

          คำถาม : ฝึกยากไหม ?
          ตอบ : เรามาดูกันเลยครับ

          อนึ่ง : เนื้อหาภาพประกอบที่นำเสนอ มาจากตอนท้ายเล่มของการ์ตูนเรื่อง Wa ga Na wa Umishi หรือในชื่อไทย "อุมิชิ มารฺสเตอร์ ออฟ ซี" ลิขสิทธิ์โดย สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ

          ใครที่สนใจหาอ่านบ้าง บอกก่อนนะครับ ว่า มันคือเรื่องเดียวกับ "ไคชิ"  ซึ่งในเล่มแรก ๆ ชื่อผิดเนื่องจากเกิดความผิดพลาดด้านการเทียบเสียงชื่อเรื่อง

เทคนิคการลอยตัว

เทคนิคการลอยตัว


          สรุป 2 เรื่องนี้เรื่องเดียวกันนะครับ

          "อุมิชิ มาร์สเตอร์ ออฟ ซี"  เป็นอีก 1 การ์ตูนเกี่ยวกับการกู้ภัยและดำน้ำชั้นเยี่ยมในวงการ ซึ่งนอกจากสนุกแล้ว ในท้ายเล่มยังมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการดำน้ำและอื่น ๆ ด้วย

          ซึ่งในวันนี้เราจะมากันที่ ท้ายเล่ม 11

          เริ่มกันเลยครับ

เทคนิคการลอยตัว

          ก่อนอื่น อ.ทาเคมูระ ได้ไปศึกษาและเก็บข้อมูลจริงกับทางสมาคม "ว่ายน้ำทั้งเสื้อผ้า"  มาจริง ๆ แล้วจึงนำข้อมูลมาเขียนให้เราได้อ่านกันครับ

เทคนิคการลอยตัว

          TIP : การใส่เวตสูท หรือ ซอฟต์สูท จะทำให้ลอยตัวในน้ำได้ง่ายขึ้น และนานขึ้น

เทคนิคการลอยตัว

เทคนิคการลอยตัว

          ในตอนนี้ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้มาก ๆ ครับ

          คือเมื่อตกน้ำ คนเรามักตกใจ และมักใช้แรงของเราไป 25-50% ในช่วง 1 นาทีแรกที่ตกน้ำ เมื่อเกิดเหตุการณ์ตกน้ำ ให้ควบคุมสติครับ ตกใจมีแน่ ๆ แต่ขอให้ใจเย็นไว้ พยุงร่างกายขึ้นจากน้ำ ให้ศีรษะอยู่พ้นน้ำก่อน และพยุงตัวไว้

ลอยตัวในน้ำ

          ทีนี้เรามาถึงขั้นตอนการลอยตัวกันครับ
          ใครที่ไม่เคยฝึกลองทำครั้งแรกจะทำไม่ได้แน่นอนครับ ทั้งคนที่ว่ายน้ำเป็น ว่ายน้ำเก่ง หรือว่ายน้ำไม่เป็น ก็ไม่สามารถทำได้ครับ ต้องผ่านการฝึกฝนก่อนซึ่งเมื่อทำได้ คุณจะได้ทักษะการลอยตัว โดยไม่ขยับร่างกายไว้เป็นทักษะในการเอาตัวรอดเลยละครับ

          เอาล่ะ ขั้นตอนที่ 1

ลอยตัวในน้ำ

          ใครที่ต้องการฝึกจำดี ๆ นะครับ
          ถ้าฝึกคนเดียวจะลำบากนิดนึง เพราะพอเราเริ่มหงายหลังแผ่ไปกับน้ำและเหยียดแขนออก คุณจะจมครับ ซึ่งขอให้จำจังหวะการจมของคุณไว้ด้วย
          ถ้ามีเพื่อนร่วมฝึกด้วย แนะนำให้เพื่อนเอามือช่วยประคองหลังไว้ครับ เพื่อชะลอการจม

          ขั้นตอนที่ 2

ลอยตัวในน้ำ

          สูดลมเข้าไปในปอดแล้วเก็บไว้ครับ จังหวะที่คุณเก็บลมเต็มปอด จะเริ่มรู้สึกได้ว่าตัวคุณจะเริ่มลอยขึ้นช้า ๆ แบบในภาพ

          ซึ่งเคล็ดลับอยู่ตรงนี้ครับ

ลอยตัวในน้ำ

          จังหวะสูดเข้าปอดเต็ม = ร่างกายจะลอย

          เมื่อคุณปล่อยลมออกขอให้เร็ว สมมติว่า สูดเข้าปอดแล้วกลั้นไว้ 5 วินาที จังหวะปล่อย ควรปล่อยเร็วแบบรวดเดียวภายใน 1-2 วินาที

          แล้วสูดเข้าไปใหม่อย่างเร็วจนรู้สึกเต็มปอด แล้วกลั้นไว้ สัก 5-10 วินาทีแล้วแต่คุณสะดวก

          เมื่อลองทำซ้ำ ๆ กันสลับไป คุณจะรู้สึกว่า สามารถประคองตัวเองโดยที่ไม่ขยับ และร่างกายสามารถลอยอยู่บนน้ำได้

          ตรงนี้เมื่อจำจังหวะได้ ให้ลองทำซ้ำครับ พอคุณเริ่มจับจังหวะลอยของร่างกายได้ผ่านการเก็บอากาศไว้ คุณจะเริ่มหายใจแบบปกติได้ ในระหว่างการลอยตัว

          ซึ่งตอนลองคุณจะพบปัญหาช่วงสะโพกจมก่อน ตรงนี้มีเทคนิคคือ ให้กางขาไว้ และจังหวะลอยตัวให้หลังส่วนไหล่ติดน้ำไว้ มันจะช่วยให้การควบคุมจุดศูนย์ถ่วงในขณะลอยตัวดีขึ้น

          บทที่ 2 เมื่อจมน้ำพร้อมรองเท้า

ลอยตัวในน้ำ

          ซึ่งเทคนิคนี้อ้างอิงจากความเป็นจริงนะครับ เรามักตกน้ำ ตอนที่ไม่ได้ตั้งใจ และมักจะใส่รองเท้าอยู่ ซึ่งในรองเท้าหลายชนิดสามารถเป็นทุ่นลอยให้กับเราได้ในเวลาจม

ลอยตัวในน้ำ

          ซึ่งแน่นอน ไม่ใช่ทุกชนิด
 
          ยกตัวอย่าง บูต ส้นสูง หุ้มข้อ รองเท้าหนัง ถ้าคุณใส่อยู่ตอนจม ขอให้รีบถอดออกนะครับ เพราะมันถ่วงมากกว่า

          แต่ถ้าเป็นรองเท้า เช่น บางชนิดที่มีพื้นอัดอากาศ, ทำจากโฟมเบา รองเท้าแตะ พวกนี้จะช่วยให้คุณลอยตัวได้ครับ

ลอยตัวในน้ำ

          ในกรณีเสื้อผ้า ถ้าในเทคนิคการลอยตัวนั้น ถ้าใส่เสื้อยืดไม่ต้องถอด กางเกงถ้าเป็นการเกงยีนส์ที่ค่อนข้างคับ ควรถอดออก แต่ถ้าเป็นชุดเสื้อผ้าธรรมดา คุณสามารถใส่แล้วลองลอยตัวได้เลย

ลอยตัวในน้ำ

          เอาล่ะครับ เทคนิคการลอยตัว ก็มีคร่าว ๆ เท่านี้
          มาดูเกร็ดเกี่ยวกับอุบัติเหตุจมน้ำ ตกน้ำ ในญี่ปุ่นกันครับ

ลอยตัวในน้ำ

          ส่วนในประเทศไทย

          ข้อมูลจาก สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปสถานการณ์การตกน้ำ-จมน้ำของเด็ก พบว่า ประเทศไทยมีเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว 5-15 เท่าตัว เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี

          ซึ่งเมื่อเทียบกับการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น ๆ จะสูงกว่าอุบัติเหตุจราจรประมาณ 2 เท่าตัว และมากกว่าไข้จากไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะและไข้เลือดออกถึง 24 เท่าตัว คิดเป็นจำนวนปีละ 1,420 คน หรือวันละ 4 คน
     
          โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด รองลงมาคือภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ จังหวัดนครราชสีมา กรุงเทพมหานคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุดรธานี และขอนแก่น มีจำนวนการเสียชีวิตมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 5 ปี : ปี 2547-2551)

          ในขณะที่ช่วงปิดภาคการศึกษาฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) มีเด็กตกน้ำ จมน้ำ สูงถึงเกือบ 500 คน

          แหล่งน้ำที่มีเด็กเสียชีวิตจากการตกน้ำจมน้ำสูงสุดคือ แหล่งน้ำธรรมชาติ (ร้อยละ 49.9)
          รองลงมาคือสระว่ายน้ำ (ร้อยละ 5.4) และอ่างอาบน้ำ (ร้อยละ 2.5) (ค่าเฉลี่ย 10 ปี : ปี 2541-2550)

ลอยตัวในน้ำ

ลอยตัวในน้ำ

          เอาล่ะครับ เทคนิคก็มีเท่านี้ล่ะครับ

          ใครที่สนใจแนะนำให้มีบัดดี้หรือเพื่อนร่วมฝึกด้วยนะครับ
          เพราะอย่างไร อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้ ควรฝึกการลอยตัวในน้ำที่สามารถยืนถึงได้ และควรเป็นสระเท่านั้นนะครับ

          ในส่วนของภาพประกอบ ขอขอบคุณ สำนักพิมม์วิบูลย์กิจ

ลอยตัวในน้ำ

          ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบการสอนในกระทู้นี้
          และขอขอบคุณที่อนุญาตให้นำภาพท้ายเล่มมาทำเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กให้กับกลุ่มที่สอนทักษะการลอยตัวทั่วประเทศครับ

          ตรงนี้ขอกราบขอบคุณ สนพ.วิบูลย์กิจ ที่สนับสนุนภาพสื่อการสอน และเล็งเห็นประโยชน์ที่จะได้กับเด็กและเยาวชนของชาติ ในการมีทักษะการเอาตัวรอด มา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ 

          โดยในส่วนสื่อการสอนผมกำลังจะทำและส่งต่อให้กับกลุ่ม ฮุก 31 โคราช หน่วยกู้ภัยทางน้ำที่ตระเวนสอนทักษะการลอยตัวให้เด็กและเยาวชน ในจังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียง

ลอยตัวในน้ำ

          ซึ่งในกรุงเทพฯ ไม่มีหน่วยงานไหนที่ออกมาสอนเด็กในทักษะการเอาตัวรอดแบบนี้เลยครับ

          ทั้งนี้ กลุ่มฮุก 31 เริ่มต้นตระเวนสอนทักษะให้แก่เด็ก เพราะจำนวนเด็กจมน้ำในแต่ละปีมีสูงมาก และสาเหตุหลัก ๆ ที่เสียชีวิตคือ ไม่มีทักษะ
          ทั้งในการลอยตัวรอความช่วยเหลือ
          ทั้งในการช่วยคนที่ตกน้ำ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งคนที่เสียชีวิตเป็นคนที่ลงไปช่วยคนที่จมน้ำ

ลอยตัวในน้ำ

          ซึ่งการสอนของกลุ่มฮุก 31 นั้นสอนเทคนิคทั้งการลอยตัว

ลอยตัวในน้ำ

          การช่วยคนตกน้ำ

ลอยตัวในน้ำ

          การปฐมพยาบาล

ลอยตัวในน้ำ

          และทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นครบวงจร

ลอยตัวในน้ำ

          รวมถึงให้ท่องจำคำขวัญ
        
 
         เมื่อเจอคนตกน้ำให้ "ตะโกน โยน ยื่น"
          ตะโกน คือ ให้คนอื่น ๆ ทราบและมาช่วย
          โยน คือ โยนของลอยได้ให้เขาเกาะ เช่น ถังน้ำ ลังโฟม
          ยื่น คือ ยื่นหรือโยนเชือก กิ่งไม้ ให้เขาเกาะแล้วลากเข้ามา

          โดยเด็กได้ฝึกและได้ลองทำเองจริง ๆ ทำให้มีทักษะติดตัว

ลอยตัวในน้ำ

          ใครที่มีลูกหลานอยู่ในพื้นที่ลองติดต่อทางกลุ่มฮุก 31 ดูครับว่ามีคิวจะมาสอนทักษะที่อำเภอไหนอย่างไรบ้าง หรือโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียงสนใจก็ลองสอบถามไปดูครับ

          ขอบคุณหน่วยฮุก 31 ที่มุ่งมั่นลดอุบัติเหตุจมน้ำจากรากของสาเหตุ "การขาดทักษะ" ของเยาวชนในพื้นที่ด้วยครับ

          ท้ายสุดนี้         
          "การลอยตัวไม่ใช่ปาฏิหาริย์ ทุกคนสามารถฝึกฝนได้ และเมื่อมีทักษะติดตัว ในยามตกน้ำ คุณก็จะมีโอกาสรอดมากกว่า"

          จ ญ น ห อ ด ม
          เรื่องและเรียบเรียง


          เพจฮุก 31 ทีม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ
 
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
คุณเจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน และเฟซบุ๊ก ฮุก 31 ทีม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แชร์เทคนิคการลอยตัวในน้ำโดยไม่ขยับร่างกาย ทักษะการเอาชีวิตรอดที่ทุกคนควรรู้ ! อัปเดตล่าสุด 6 กรกฎาคม 2561 เวลา 13:26:33 86,575 อ่าน
TOP
x close