กินเจครบ 9 วันแล้ว ก็ใช่ว่าเราจะกลับไปรับประทานอาหารหนัก ๆ ได้ทันที ควรเลือกรับประทานสักหน่อยเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว
เมื่อสิ้นสุดเทศกาลกินเจ ก็ได้เวลาที่เราจะกินอาหารกันได้ตามปกติ
แต่ถ้าใครรีบกลับไปกินเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่ย่อยยาก ๆ
อย่างไม่บันยะบันยังแล้วละก็ อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ค่ะ วันนี้ เราจึงมีคำแนะนำการรับประทานอาหารที่ถูกต้องหลังการออกเจ เพื่อสุขภาพที่ดีมาฝากกัน
หลังออกเจควรกินอาหารอย่างไร
1. ช่วง 2-3 วันแรกของการออกเจ ควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ๆ ก่อน เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพได้ เช่น นม ไข่ ผักและผลไม้ หากเป็นเนื้อสัตว์ ควรกินเนื้อปลาก่อน เพราะเนื้อปลาเป็นอาหารที่ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ มีโปรตีน
2. ควรปรุงอาหารด้วยการต้ม นึ่ง หรือย่าง แทนการทอด
4. วันที่ 4 เป็นต้นไปจึงเริ่มกินเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัวได้ในปริมาณน้อย ๆ แล้วค่อยกลับไปกินอาหารตามปกติ
5. หากดื่มนมวัวแล้วมีอาการท้องอืด ท้องเสีย ก็เป็นเพราะในช่วงกินเจ ร่างกายไม่ได้ผลิตน้ำย่อยนมออกมา จึงอาจยังปรับตัวไม่ได้เมื่อกลับมาดื่มนม ดังนั้นจึงต้องค่อย ๆ ปรับร่างกายด้วยการดื่มนมจืดอุ่น ๆ ทีละนิดหลังกินอาหารมื้อหลัก ไม่ควรดื่มรวดเดียวหมด และไม่ควรดื่มตอนท้องว่าง แล้วหลังจากนั้นไม่กี่วัน เมื่อร่างกายปรับสภาพได้แล้วก็จะกลับมาดื่มนมได้โดยไม่มีอาการท้องอืด ท้องเสีย
นอกจากนี้ หลังออกเจ ควรชั่งน้ำหนักดูด้วยว่า น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกิน 2 กิโลกรัมหรือไม่ หากน้ำหนักเพิ่มขึ้นแสดงว่า กินอาหารเจที่เป็นแป้ง และไขมันมากเกินไป เพราะฉะนั้น ก็ต้องหมั่นออกกำลังกาย และควบคุมอาหารเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง และปราศจากโรคภัยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้องกับกินเจ
- ประวัติและตำนานการกินเจ
- ข้อห้ามการกินเจ การกินเจที่ถูกต้อง กินเจห้ามกินอะไรบ้าง
- 10 คำถามคาใจเรื่องกินเจ ได้เวลาต้องขอเคลียร์
- ประโยชน์ของการกินเจ เสกสุขภาพดีได้ ไม่ใช่แค่อิ่มบุญ