การกินเจควรรู้อะไรบ้าง อาหารประเภทไหนกินได้ หรือไม่ได้ เข้าใจให้ชัดเพื่อปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง
สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งจะเข้าร่วมเทศกาลกินเจในปีนี้เป็นปีแรกนั้น อาจจะยังไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อห้ามการกินเจเท่าใดนัก หรือยังไม่ทราบข้อปฏิบัติในการกินเจอย่างถูกวิธี ดังนั้น เพื่อเป็นการต้อนรับเทศกาลกินเจ 2567 ในวันที่ 3-11 ตุลาคม ทีมงานกระปุกดอทคอม
จึงได้รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับ ข้อห้ามการกินเจ มาฝากกันค่ะ มาดูกันว่า
กินเจห้ามกินอะไรบ้าง

ข้อห้ามการกินเจ
1. งดเว้นเนื้อสัตว์ หรือทำอันตรายต่อสัตว์
2. งดนม เนย หรือน้ำมันที่มาจากสัตว์
3. งดอาหารรสจัด หมายถึง อาหารรสเผ็ดมาก เค็มมาก หวานมาก เปรี้ยวมาก
4. งดผักกลิ่นฉุน 5 ชนิด คือ กระเทียม, หัวหอม, หลักเกียว, กุยช่าย และใบยาสูบ
5. ไม่ใช้จาน-ชามปะปนกัน และต้องกินอาหารที่คนกินเจด้วยกันเป็นผู้ปรุงขึ้นมา (สำหรับคนที่เคร่ง)
ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงการกินเจ หรืออาหารเจ หลายคนมักนึกถึงแต่การหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ทุกชนิด ซึ่งบางคนอาจสงสัยว่าทำไมข้อห้ามการกินเจจึงต้องห้ามกินผักบางประเภทด้วย โดยเฉพาะผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม, หัวหอม, หลักเกียว, กุยช่าย, ใบยาสูบ หรือบางครั้งอาจรวมถึงเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุน

1. กระเทียม ทั้งหัวกระเทียม ต้นกระเทียม อาจส่งผลกระทบต่อธาตุไฟของร่างกาย แม้ว่ากระเทียมจะมีสารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล แต่กระเทียมมีความระคายเคืองสูง อาจไปทำลายการทำงานของหัวใจได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคตับ ไม่ควรกินกระเทียมมาก

3. หลักเกียว หรือที่รู้จักว่า กระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียมที่พบเห็นทั่วไป แต่จะมีขนาดเล็กและยาวกว่า ในทางการแพทย์ของจีนเชื่อว่า หลักเกียว ส่งผลกระทบต่อธาตุดินในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของม้าม
4. กุยช่าย เชื่อกันว่า กุยช่ายจะไปกระทบกระเทือนต่อธาตุไม้ในร่างกาย และทำลายการทำงานของตับ
5. ใบยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นยาเส้น บุหรี่ หรือของเสพติดมึนเมา เนื่องจากสิ่งเสพติดเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อธาตุโลหะในร่างกาย และทำลายการทำงานของปอด
ในขณะเดียวกัน การห้ามกินอาหารรสจัด ทั้งอาหารรสเผ็ดมาก เค็มมาก หวานมาก และเปรี้ยวมาก เนื่องมาจากปกติคนจีนจะไม่กินอาหารรสจัดอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าอาหารรสจัดจะเข้าไปทำลายสุขภาพในร่างกาย เช่น หากกินเผ็ดจัดก็จะไปทำลายกระเพาะ กินเค็มจัดจะไปทำลายไต ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้ถือว่าถูกหลักของการแพทย์ แต่บางคนที่ปฏิบัติไม่เคร่งครัดนัก เช่น ชอบรสเค็มจัด ก็สามารถใช้เกลือแทนน้ำปลาได้
ส่วนเรื่องห้ามใช้ถ้วย-ชามปนกันสำหรับผู้ที่กินเจอย่างเคร่งครัดนั้น เพราะคนจีนเชื่อกันว่าการใช้ภาชนะใส่อาหารคาว ซึ่งชาวจีนเรียกว่า ชอ นั้น ไม่ควรนำมาปะปนกับอาหารชนิดอื่น แม้จะล้างสะอาดหมดจดแล้วก็ตาม โดยผู้กินเจในปัจจุบันอาจไม่เคร่งครัดในเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากไม่ส่งผลกระทบต่อหลักในการกินเจมากเท่าใดนัก เช่นเดียวกับหลักที่ว่าต้องกินอาหารเจโดยคนปรุงที่กินเจ ซึ่งนับเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

ทั้งนี้ สำหรับคอกาแฟทั้งหลายที่กำลังสงสัยว่าในช่วงกินเจสามารถดื่มกาแฟได้หรือไม่นั้น ในเบื้องต้นมีข้อมูลว่า ในกาแฟสำเร็จรูป ทั้งประเภทซอง หรือประเภทกระป๋อง รวมทั้งครีมเทียม มักมีส่วนผสมของนมผงอยู่ด้วย นอกจากนี้บางร้าน บางยี่ห้อ อาจมีการนำเมล็ดกาแฟไปคั่วกับเนย เพื่อเพิ่มความหอมมัน ดังนั้น ผู้ที่ไม่เคร่งมากอาจเลือกดื่มกาแฟที่ชงเอง เช่น กาแฟดำ หรือโอเลี้ยง หรืออาจใช้กาแฟประเภทซองที่เขียนว่า เจ หรือการใช้ครีมเทียมที่ทำจากถั่วเหลือง แต่สำหรับผู้ที่เคร่งมาก ๆ อาจต้องงดเว้นกาแฟในช่วงนี้เพื่อความสบายใจ
จากข้อห้ามการกินเจในเบื้องต้นนี้จะเห็นได้ว่าการกินอาหารเจที่ถูกวิธีนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด
และข้อห้ามต่าง ๆ ได้ถูกกำหนดขึ้นจากการคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งผู้ที่กินเจนอกจากจะได้บุญจากการลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว
การกินเจยังถือเป็นช่วงปรับสมดุลในร่างกาย เพื่อให้ผู้กินเจมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง ในระยะยาวนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้องกับกินเจ
- ประวัติและตำนานการกินเจ
- 10 คำถามคาใจเรื่องกินเจ ได้เวลาต้องขอเคลียร์
- ประโยชน์ของการกินเจ เสกสุขภาพดีได้ ไม่ใช่แค่อิ่มบุญ