x close

7 โรคที่ควรระวังช่วงน้ำท่วม

นํ้าท่วม

          ฝนฟ้าคะนองที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ในหลายพื้นที่ แม้แต่ในกรุงเทพมหานครเองที่ชาวกรุงน่าจะเคยชินกับการเดินลุยน้ำรอการระบายที่ท่วมขังไปแล้ว ซึ่งการเดินลุยน้ำหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังนาน ๆ ยังนำโรคภัยมาถึงตัวเราได้อีกหลายโรค กระปุกดอทคอมวันนี้จึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับโรคที่มากับน้ำท่วมมาฝากกันไว้ให้ระวัง

โรคผิวหนัง

          เท้าของเราต้องสัมผัสน้ำสกปรกเต็ม ๆ จากการเดินลุยน้ำที่ท่วมขัง เสี่ยงต่อการเกิดโรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการเท้าเปื่อย คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวตามซอกนิ้วเท้าลอกเป็นขุยขาว ๆ หรือเปียกยุ่ย หรืออาจถึงขั้นเป็นแผล

          หากมีอาการดังที่ว่ามา ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและซับให้แห้ง และซื้อยาในกลุ่มแก้แพ้มาทาน แต่หากมีอาการบวมแดงบริเวณที่เกิดแผลหรือตามทางเดินของเส้นน้ำเหลือง มีหนอง และมีไข้ร่วม ให้สันนิษฐานว่าเกิดการอักเสบติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และควรรีบไปหาแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะโดยเร็ว 

          วิธีป้องกัน : ถ้าต้องเดินย่ำน้ำให้สวมใส่รองเท้าบูท เพื่อป้องกันเท้าสัมผัสกับน้ำสกปรกโดยตรง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องเดินลุยน้ำจริง ๆ เมื่อถึงที่หมายแล้วให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผลแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ

          อ่านข้อมูลของโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นกับเท้าได้ที่ ผื่นภูมิแพ้-น้ำกัดเท้า แก้ได้

นํ้าท่วม

 
โรคตาแดง

           เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส Chlamydia trachomatis และ Bacterial Conjunctivitis อาจมาจากภูมิแพ้ หรือสัมผัสสารที่เป็นพิษต่อตา มักเกิดจากการเอามือที่สกปรกไปขยี้หรือสัมผัสดวงตา รวมถึงใช้ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าเช็ดหน้าไปสัมผัสกับดวงตา

         อาการของโรค : ผู้ป่วยจะมีอาการคันตาจนหลายรายต้องขยี้บ่อย หรือบางคนแค่เคืองตาเท่านั้น และมีขี้ตามากกว่าปกติ มีลักษณะเป็นหนองและมีสะเก็ดปิดตาตอนเช้า และมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ตามัว หรืออาจปวดตา

         วิธีป้องกัน : ควรล้างมือให้สะอาด ไม่ใช้เครื่องสำอาง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับคนอื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาในทุกกรณี และอย่าใช้ยาหยอดตาร่วมกับคนอื่น หากเริ่มเคืองตาหรือคันตา ให้รีบปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์

          อ่านข้อมูลของโรคตาแดงแบบเต็ม ๆ ได้ที่ โรคตาแดง วิธีรักษาโรคตาแดง


หนู


โรคฉี่หนู

          ฉี่หนูเป็นโรคระบาดในคนที่ติดต่อมาจากสัตว์ มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira sp.) ที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ ตั้งแต่หนู วัว ควาย ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวเลยทีเดียว โดยคนจะสามารถรับเชื้อฉี่หนูนี้เข้าไปทางบาดแผล หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงเยื่อเมือกอย่างตาและปากอีกด้วย

         อาการของโรคฉี่หนู มี 2 แบบ คือแบบไม่รุนแรงจะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรู้ตัวและรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ กับอาการรุนแรงที่จะทำให้ตาอักเสบแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ และเมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในสมองจะทำให้เกิดอาการเพ้อ ไม่รู้สึกตัว และยิ่งไปกว่านั้นหากติดเชื้อทั่วร่างกายจะทำให้เลือดออกในร่างกายจนเสียชีวิต

         วิธีป้องกัน : หลีกเลี่ยงการเดินอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง การเล่นน้ำ โดยเฉพาะในเด็กที่มักจะสนุกสนานไปกับการย่ำน้ำหรือเล่นน้ำในช่วงน้ำท่วม แต่หากจำเป็นต้องเดินผ่านบริเวณน้ำท่วมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ให้รีบเดิน อย่าแช่น้ำจนผิวหนังเปื่อยเพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และควรใส่รองเท้าบูททุกครั้งเมื่อเดินลุยน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลที่เท้า และป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลที่เท้าหรือน่อง ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์ที่หนีน้ำกัดได้ ส่วนในผู้ที่เริ่มมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ให้รีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน อย่ารอให้อาการหนักเพราะอาจจะรักษาไม่หายและเสียชีวิตก็เป็นได้

          อ่านข้อมูลของโรคฉี่หนูแบบเต็ม ๆ ได้ที่ โรคฉี่หนู โรคร้ายที่มาในช่วงฝนตกและน้ำท่วมขัง

 อหิวาตกโรค

          เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ที่แพร่กระจายอยู่ในน้ำดื่มและอาหาร โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค และแน่นอนว่าโรคนี้แพร่ระบาดได้โดยการกินและดื่มอาหารที่มีแมลงวันตอมและมีเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ รวมทั้งอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ด้วย

          อาการของโรค : ผู้ป่วยจะอุจจาระเหลวเป็นน้ำวันละหลายครั้ง แต่ไม่เกินวันละ 1 ลิตร อาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนได้ ซึ่งถือว่าเป็นอาการในระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 1-5 วัน แต่หากติดเชื้อขั้นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเดิน อุจจาระมากและมีลักษณะอุจจาระเป็นน้ำซาวข้าว มีกลิ่นเหม็นคาว และอุจจาระได้โดยไม่ปวดท้องและไม่รู้สึกตัว สามารถหายได้ภายใน 2-6 วันหากได้รับเกลือแร่และน้ำชดเชยน้ำที่เสียไป แต่หากได้รับไม่พอดีกับที่เสียไปแล้ว ผู้ป่วยก็จะมีอาการหมดแรง หน้ามืด อาจช็อกเสียชีวิตได้

         วิธีป้องกัน : ควรรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก รวมถึงรักษาสุขภาพอนามัยด้วยการล้างมือ และภาชนะใส่อาหารให้สะอาดทุกครั้ง แต่ไม่ควรนำน้ำท่วมมาล้าง หรือทำความสะอาดภาชนะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค หรือหากติดเชื้ออหิวาตกโรคแล้วก็ควรพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

          อ่านข้อมูลของโรคอหิวาตกโรคแบบเต็ม ๆ ได้ที่ อหิวาตกโรค โรคระบาดที่ยังอันตราย ชะล่าใจอาจเสียชีวิต


นํ้าท่วม


ไข้ไทฟอยด์

          เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi  ที่อยู่ในน้ำและอาหารเช่นเดียวกับอหิวาตกโรค แพร่ระบาดโดยการดื่มน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค

          อาการของโรค : เมื่อได้รับเชื้อนี้เข้าไปจะไม่แสดงอาการทันที แต่จะแสดงอาการหลังจากรับเชื้อประมาณ 1 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว เบื่ออาหาร มีไข้สูงมาก ท้องร่วง บางรายมีผื่นขึ้นตามตัว แน่นท้อง สามารถหายได้เองภายใน 1 เดือน แต่ผู้ป่วยควรจะพบแพทย์หลังจากมีอาการแล้ว เพราะอาจจะเสียชีวิตจากภาวะปอดบวมได้

         วิธีป้องกัน : หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเชื้อโรคทุกชนิด และนั่นหมายถึงว่า ให้ทานอาหารที่สะอาด อยู่ในภาชนะที่สะอาด รวมถึงล้างมือให้สะอาดก่อนทานทุกครั้ง และควรจะหลีกเลี่ยงอาหารจากร้านค้าข้างถนนที่อยู่ในบริเวณที่ไม่สะอาด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรืออีกทางหนึ่งคือฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์


          อ่านข้อมูลของโรคไข้ไทฟอยด์แบบเต็ม ๆ ได้ที่ รู้จัก ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย


โรคตับอักเสบ

          เป็นภาวะที่มีการอักเสบของเซลล์ตับ ทำให้ตับทำงานผิดปกติ จนทำให้มีอาการเจ็บป่วยได้ และไวรัสตับอักเสบที่มาจากภาวะน้ำท่วม ก็คือไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ที่มีสาเหตุมาจากการทานอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ทำให้สุก

          อาการของโรค
: เมื่อแสดงอาการแล้วผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ปวดตัวแถวชายโครงขวา และมีปัสสาวะเป็นสีชาแก่ เริ่มมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองในสัปดาห์แรก และจะหายเป็นปกติภายใน 2-4 สัปดาห์

         วิธีป้องกัน : ทานอาหารที่สุกและสะอาด ไม่ใช้แก้วน้ำและช้อนร่วมกับผู้อื่น


นํ้าท่วม


ไข้เลือดออก

          เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในเด็ก มักระบาดในฤดูฝน ที่มีการแพร่พันธุ์ของยุงลาย

          อาการของโรค : ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 2-7 วัน เบื่ออาหาร อาเจียนออกมามีสีน้ำตาลปนอยู่ ปวดกล้ามเนื้อ ตัวแดง หรืออาจมีผื่นหรือจุดเลือดตามผิวหนัง หากเข้าสู่ภาวะวิกฤตผู้ป่วยจะไข้ลด มือเท้าเย็น ตัวเย็น ชีพจรเต้นเร็ว อาเจียนมาก ปัสสาวะน้อย ทำให้เข้าสู่ภาวะช็อกได้ หากมีอาการควรรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

         วิธีป้องกัน : พยายามอย่าให้ยุงกัดโดยทายากันยุงเป็นวิธีที่ดีที่สุด และอย่าปล่อยให้ภาชนะต่าง ๆ ภายในบ้านมีน้ำขังนานเพราะจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หรือหากเป็นไข้เลือดออกแล้วไม่ควรให้ยุงกัดเพราะจะทำให้แพร่เชื้อไปสู่คนใกล้ชิดได้ผ่านยุง


          อ่านข้อมูลของโรคไข้เลือดออกแบบเต็ม ๆ ได้ที่ ไข้เลือดออก โรคตัวร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะ อันตรายถึงชีวิต !


          และนั่นก็คือ 7 โรคที่ป่วยกันเยอะในช่วงน้ำท่วมและฤดูฝน ดังนั้น ทุก ๆ คนที่ประสบภาวะน้ำท่วม รวมถึงคนทั่วไปก็ควรที่จะระวังการระบาดของโรคเหล่านี้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร การป้องกันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการรักษาเมื่อเป็นโรคแล้วเสมอ เพราะฉะนั้น อย่าลืมใส่ใจสุขภาพอนามัยและพิถีพิถันกับการใช้ชีวิตในช่วงน้ำท่วมและช่วงฤดูฝนมากขึ้นกันสักนิดนะคะ

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 โรคที่ควรระวังช่วงน้ำท่วม อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2564 เวลา 17:20:31 18,929 อ่าน
TOP