โรคฉี่หนู โรคร้ายที่มาในช่วงฝนตกและน้ำท่วมขัง


           โรคฉี่หนู หรือ ไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคระบาดในคน พบได้บ่อยในช่วงที่มีฝนตก หรือในพื้นที่น้ำท่วมขัง หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้


โรคฉี่หนู

          หนึ่งในโรคหน้าฝนที่พบได้บ่อยก็คือ โรคฉี่หนู ซึ่งมากับน้ำท่วม น้ำขัง ฟังดูเหมือนไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หารู้ไม่ว่าโรคนี้กลับทำให้คนเสียชีวิตได้ แล้วสาเหตุของโรคฉี่หนูเกิดจากอะไร มีอาการเป็นอย่างไร ใครอยู่กลุ่มเสี่ยงบ้าง มาติดตามกัน

โรคฉี่หนู สาเหตุเกิดจากอะไร


          โรคฉี่หนู สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เลปโตสไปรา (Leptospira sp.) ซึ่งเป็นเชื้อที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะ โดยส่วนใหญ่คือ หนู แต่ก็ยังรวมถึงสุกร โค กระบือ แพะ แกะ หรือสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวอย่างแมวและสุนัขด้วย

โรคฉี่หนู ติดต่อได้อย่างไร


           ปกติแล้วโรคฉี่หนูจะติดต่อกันโดยการสัมผัส เช่น ปัสสาวะ เลือด เนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค และจะติดต่อจากคนสู่คนได้น้อยมาก โดยเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดย

           - การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป

           - การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะหรือของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป

           - ผ่านเข้าทางเยื่อเมือก เยื่อบุต่าง ๆ เช่น ตาและปาก

           - ชอนไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน

           - ชอนไชเข้าทางผิวหนังปกติที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำนาน ๆ เช่น ในสภาวะน้ำท่วม

           ทั้งนี้ ระยะฟักตัวของโรคฉี่หนูใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ แต่อาจนานได้ถึง 3 สัปดาห์ ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะหายไปภายใน 1 สัปดาห์แรก และหลังจากนั้นอีก 1-3 วัน จะเข้าสู่ระยะที่สอง คือ ระยะมีเชื้อในปัสสาวะ

โรคฉี่หนู ใครคือกลุ่มเสี่ยง


โรคฉี่หนู

           - ผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ต้องเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำท่วม

           - ผู้ที่อยู่ในบ้านที่มีหนูมาก

           - เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน

           - คนทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ปศุสัตว์ ประมง

           - สัตวแพทย์ แพทย์ เจ้าหน้าที่ในห้องทดลอง

           - คนงานในเหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์

           - ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามป่าเขา

           - คนที่ชอบเดินป่า ท่องเที่ยวตามน้ำตก

           - กลุ่มผู้เล่นกิจกรรมทางน้ำ เช่น การว่ายน้ำ การเล่นเรือแคนู วินด์เซิร์ฟ สกีน้ำ ไตรกีฬา ฯลฯ

โรคฉี่หนู อาการเป็นอย่างไร


อาการของผู้ติดเชื้อ โรคฉี่หนู มี 2 แบบ คือ

1. แบบติดเชื้อไม่รุนแรง หรือโรคเลปโตสไปโรซิสแบบไม่เหลือง (Anicteric Leptospirosis) 


         คือ กลุ่มที่ไม่มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

           - ระยะเชื้อเข้ากระแสเลือด (Leptospiremic Phase) จะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ รู้สึกหนาวสั่น ปวดศีรษะบริเวณหน้าผาก หรือปวดหลังเบ้าตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยโรคฉี่หนูนี้จะต่างจากโรคอื่นตรงที่จะปวดบริเวณน่อง โคนขา หลัง และหน้าท้องด้วย นอกจากนี้อาจมีอาการเจ็บคอ ไอ เจ็บหน้าอก ผื่น สับสน ไอเป็นเลือด มีไข้

           อาการแสดงที่อาจตรวจพบ ได้แก่ มีเยื่อบุตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต คอแดง กดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ ตับ-ม้ามโต อาจพบอาการดีซ่านได้เล็กน้อย มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง บางรายมีผื่นตามตัว ซึ่งอาการในระยะนี้จะหายไปได้เองภายใน 1 สัปดาห์ และจะไม่มีอาการอยู่ช่วงหนึ่งนาน 1-3 วัน ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่สอง คือ "ระยะมีเชื้อในปัสสาวะ"

           - ระยะมีเชื้อในปัสสาวะ (Leptospiruric Phase) หรือระยะร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีอาการจำเพาะและความรุนแรงน้อยกว่าระยะแรก ผู้ป่วยราวร้อยละ 15 จะมีอาการแสดงออกถึงภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไร้เชื้อ แต่ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก และเป็นเพียงไม่กี่วัน หรือนานเป็นสัปดาห์ จากนั้นจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ม่านตาอักเสบ จอตาอักเสบ ซึ่งมักเป็นหลังอาการเริ่มแรกของโรคนานหลายเดือน และคงอยู่ได้นานเป็นปี

2. แบบติดเชื้อรุนแรง (Severe Leptospirosis) หรือแบบที่มีอาการเหลือง


โรคฉี่หนู

           โรคเลปโตสไปโรซิสรุนแรง หรือกลุ่มอาการเวล (Weil\'s Syndrome) พบในกลุ่มที่ได้รับเชื้อในซีโรวาร์ อิกเทอโรฮีมอราเจียอี/โคเปนเฮเกน ซึ่งอาการเริ่มแรกจะไม่ต่างจากโรคฉี่หนูที่ไม่รุนแรง แต่ไม่มีลักษณะอาการที่แบ่งออกเป็น 2 ระยะชัดเจน โดยอาการรุนแรง หรืออาการเหลือง จะแสดงออกมาใน 4-9 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ โดยกลุ่มคนไข้ที่ติดเชื้อรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ประมาณร้อยละ 5-15

           ทั้งนี้ เชื้อต่าง ๆ จะเข้าไปอยู่ในบริเวณที่ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน เช่น ลูกตา จะทำให้มีอาการตาอักเสบแดง ตาเหลือง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ คือ

           - มีอาการเพ้อ ไม่รู้สึกตัว หากเชื้อเข้าไปอยู่ในสมอง

           - หากเชื้ออยู่ในท่อไต จะทำให้ไตวายเฉียบพลันได้

           - เกิดผื่น เช่น ลมพิษ ผื่นแดง

           - กล้ามเนื้อที่น่องกดเจ็บอย่างรุนแรง

           - มีอาการดีซ่าน คือ ผิวหนังจะมีสีเหลืองมาก ตับโต ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ติดเชื้อมีอาการม้ามโตร่วมด้วย

           - มีอาการทางปอด คือ ไอ มีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย จนถึงระบบหายใจล้มเหลว

           - มีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาการมีตั้งแต่แบบเล็กน้อย เช่น มีเลือดกำเดา จ้ำเลือดตามผิวหนัง ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในช่องเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

           - อาการอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อลายสลายตัว เม็ดเลือดแดงแตก เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอ่อนอักเสบรุนแรง ภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ เป็นต้น

โรคฉี่หนู วินิจฉัยได้อย่างไร

โรคฉี่หนู

           ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ อยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง เล่นน้ำหรือย่ำน้ำในช่วงนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อให้ตรวจและวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เนื่องจากผู้ป่วยโรคฉี่หนูส่วนใหญ่ที่เสียชีวิต มักจะไม่ได้รับการรักษาโรคฉี่หนูอย่างทันท่วงที เนื่องจากคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา

โรคฉี่หนู รักษาหายไหม อันตรายหรือเปล่า


          โรคฉี่หนู สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะอย่างยาเพนิซิลลิน หรือดอกซีไซคลิน ซึ่งควรให้ยารักษาโดยเร็วที่สุด ไม่ควรเกิน 4 วัน หลังจากมีอาการ และควรให้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน นอกจากนี้หากมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ สามารถรับประทานยาแก้ปวดไอบูโพรเฟนหรือพาราเซตามอลก็ได้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรง แพทย์จะให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล และฉีดยาปฏิชีวนะเข้ากระแสเลือดโดยตรง ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอยู่ประมาณร้อยละ 5-15 ที่ติดเชื้อรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้

โรคฉี่หนู ป้องกันอย่างไร

โรคฉี่หนู

การป้องกันโรคฉี่หนูสามารถทำได้โดย

            1. กำจัดหนูในบริเวณสถานที่อยู่อาศัย

            2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคฉี่หนู รวมทั้งการสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร

            3. หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ หรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลน เป็นเวลานาน ๆ

            4. หลีกเลียงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่

            5. ไม่ใช้น้ำจากแหล่งที่ต้องสงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อโรค

            6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่วางทิ้งไว้ค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปกปิด

            7. เกษตรกร หรือคนทำงานปศุสัตว์ ที่ต้องย่ำในน้ำ ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบูต ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า ให้เรียบร้อย

            8. ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว หากเดินลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ

          เชื้อโรคมักอยู่ในแหล่งที่มีน้ำขังและสกปรก ดังนั้นเราควรพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ป้องกันตัวให้พร้อม เพื่อไม่ให้เชื้อโรคทำอันตรายเราได้
 

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคหน้าฝน






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคฉี่หนู โรคร้ายที่มาในช่วงฝนตกและน้ำท่วมขัง อัปเดตล่าสุด 27 กรกฎาคม 2566 เวลา 16:58:29 78,463 อ่าน
TOP
x close