9 สัตว์ที่มากับฝน มีอะไรบ้าง พร้อมวิธีปฐมพยาบาลและป้องกัน


          สัตว์ร้ายที่มากับสายฝน มีอะไรที่เราควรรู้จักและป้องกันบ้าง จะได้ไม่เจ็บป่วยหรือเดือดร้อนเพราะสัตว์หน้าฝนเหล่านี้

สัตว์มีพิษหน้าฝน

          สายฝนนำพาความชุ่มฉ่ำมาให้เราได้ชื่นใจ แต่นอกจากความเย็นสบายก็อย่าลืมว่าฝนตก น้ำท่วมทีไร สัตว์ทั้งร้ายและไม่ร้ายก็ชอบหนีน้ำมาแอบเข้าบ้านเราบ้าง หรืออยู่ตามแหล่งน้ำท่วมขังให้เราเสี่ยงต่ออันตราย ดังนั้นก่อนที่เราจะโดนสัตว์ที่มากับหน้าฝนกัดหรือทำให้รำคาญใจ ลองมาสำรวจกันค่ะว่าสัตว์ที่มาพร้อมกับสายฝนจะมีตัวอะไรบ้าง

1. งู


สัตว์มีพิษ

          สัตว์มีพิษร้ายแรงอันดับต้น ๆ ที่เราอยากเตือนให้ระวังกันให้ดี เพราะในฤดูฝนแบบนี้งูมักจะหนีน้ำมาอาศัยบ้านคนอยู่ ไม่ก็มักจะเจองูขดตัวอยู่ในรองเท้า ตู้ไปรษณีย์ เป็นต้น บางทีก็อาจโผล่มาจากชักโครกอย่างที่เคยเห็นข่าวกัน

          ทั้งนี้จากข้อมูลของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ระบุว่า งูพิษที่พบมากที่สุดในไทยคือ งูพิษที่มีผลต่อระบบประสาท อันได้แก่ งูเห่า งูเห่าพ่นพิษสยาม งูจงอาง งูสามเหลี่ยม โดยพิษงูจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต โดยเริ่มจากกล้ามเนื้อมัดเล็กไปจนถึงมัดใหญ่ อาการหลังโดนงูกัดเริ่มต้นจึงจะหนังตาตก กลืนน้ำลายลำบาก พูดอ้อแอ้ ไปจนถึงหยุดหายใจ หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต

          งูมีพิษอีกหนึ่งชนิดที่พบได้บ่อยก็คืองูมีพิษต่อระบบเลือด เช่น งูแมวเซา และงูกะปะ หากถูกกัดจะมีอาการปวดบวมรอบแผล หรือพบตุ่มน้ำเลือดและมีเลือดออกจากแผล ส่วนพิษงูเขียวหางไหม้จะทำให้เกิดอาการบวมลุกลาม เพราะพิษทำให้เลือดในกายไม่แข็งตัว จะพบเลือดออกไม่หยุดในอวัยวะภายใน อย่างช่องท้อง ไรฟัน สมอง หรืออาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจนถึงแก่ชีวิตได้

          * วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด

          งูมีอยู่หลายชนิด ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ หากถูกงูพิษกัดจะมีรอยเขี้ยว 1-2 แผลเสมอ เขี้ยวมีลักษณะเป็นรูกลวงคล้ายเข็มฉีดยา และมีเลือดออกซึม ๆ แต่ถ้าถูกงูกัดแล้วไม่พบรอยเขี้ยว เป็นแต่รอยถลอกหรือรอยถากเท่านั้น แสดงว่านั่นไม่ใช่งูพิษ

          ทั้งนี้ หากโดนงูพิษกัดให้รีบโทร. แจ้งสายด่วน 1669 และปฐมพยาบาลตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยพยายามอย่าขยับอวัยวะที่ถูกงูกัดเพราะการเคลื่อนไหวจะเร่งให้พิษกระจายไปตามร่างกายได้เร็วขึ้น จากนั้นให้ใช้ผ้าพันแผลชนิดยืดหยุ่นพันตั้งแต่เหนือรอยแผลที่โดยกัด ไปจนถึงเหนือข้อต่อของแขนหรือขา และต้องคลายผ้าทุก ๆ 15-20 นาที เพื่อป้องกันส่วนปลายขาดเลือด และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

          เรื่องที่ต้องเตือนดัง ๆ ก็คืออย่าใช้เหล้า ยาสีฟัน หรือสิ่งอื่น ๆ ทาแผล และห้ามใช้ปากดูดพิษออกมาเด็ดขาด
 

          - งูกัด ปฐมพยาบาลอย่างไร
 
          * วิธีป้องกันงูเข้าบ้าน

          เราสามารถป้องกันไม่ให้งูเข้าบ้านได้ หรือหากงูเข้าบ้านมาแล้วก็ยังพอมีวิธีรับมือกับงูได้อย่างปลอดภัย โดยทำตามนี้เลยค่ะ

          - วิธีป้องกันงูเข้าบ้าน รู้ไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย

          - งูเข้าบ้าน รับมืออย่างไรดี อ่านทางนี้ด่วน !


2. ตะขาบ

สัตว์มีพิษ

          ไม่ใช่รูปร่างหน้าตาน่ากลัวเท่านั้น แต่พิษของตะขาบก็อันตรายใช่ย่อยค่ะ ยิ่งในหน้าฝนที่สภาพภูมิอากาศชื้น ๆ อย่างนี้ เราก็จะเห็นตะขาบชุกชุมมากขึ้น ซึ่งตัวตะขาบเองจะมีพิษอยู่ที่เขี้ยว 1 คู่ โดยอยู่ที่ปล้องแรกของลำตัว เมื่อโดนตะขาบกัดจึงจะเห็นเป็นรอยเขี้ยวมีจุดเลือด 2 จุด ลักษณะแผลเหมือนจะเป็นรอยไหม้ ซึ่งหลังจากกัดไปแล้ว พิษของตะขาบจะแผ่ซ่าน เกิดอาการบวมแดง ปวด แสบร้อน อาเจียน ปวดหัว มึนงง จนกระทั่งเป็นอัมพาตในบริเวณแผลที่ถูกตะขาบกัด หรืออาจได้รับเชื้อแบคทีเรียจากคมเขี้ยวของตะขาบแทรกซ้อนไปในแผลด้วยนะคะ แต่ทั้งนี้พิษของตะขาบก็ไม่รุนแรงถึงกับทำให้เสียชีวิตได้

          * วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกตะขาบกัด

          การดูแลเบื้องต้นเมื่อถูกตะขาบกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่นาน 30 วินาที (ร้องเพลงช้างจบ 1 รอบ) แล้วใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบ เพื่อช่วยลดอาการปวดบวม หรือรับประทานยาแก้ปวดเมื่อรู้สึกปวด ทว่าหากมีอาการแพ้พิษตะขาบมาก ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

          * วิธีป้องกันตะขาบเข้าบ้าน

          พยายามเคลียร์จุดอับในบ้านให้โปร่งและโล่ง เพื่อลดพื้นที่ให้ตะขาบซุกซ่อนตัว ทว่าหากพบเจอตะขาบในบ้านเข้าให้ เรามีวิธีไล่ตะขาบมาฝาก

          - วิธีไล่ตะขาบ ตะขาบเข้าบ้านทำอย่างไร อ่านด่วน !
   

3. แมงป่อง

สัตว์มีพิษ

          แค่รูปลักษณ์ภายนอกของแมงป่องก็น่าขยาดมาก ๆ แล้ว แต่พิษของสัตว์ชนิดนี้ยิ่งทำให้สยองเข้าไปใหญ่ค่ะ เพราะพิษร้ายของแมงป่องซึ่งจะอยู่ที่ปลายหาง ทำให้ปวดแสบปวดร้อนทรมาน หรือร้ายแรงถึงตายได้เพียงแค่จึ๊กเดียว โดยแรก ๆ ที่โดนต่อยจะรู้สึกปวดแปล๊บทันที หลังจากนั้นใน 30 นาทีต่อมาจะรู้สึกปวดมาก มีอาการบวมแดงและแสบร้อนที่แผล ปวดหัว อาเจียน มีไข้สูง หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจมีอาการชัก น้ำคั่งปอด และอาจเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว

          * วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมงป่องต่อย

          เมื่อถูกแมงป่องต่อยให้ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ จากนั้นประคบแผลด้วยผ้าห่อน้ำแข็ง เพื่อบรรเทาอาการปวดและให้เส้นเลือดหดตัว ซึ่งจะช่วยให้พิษกระจายตัวได้ช้าลง จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์

          * วิธีป้องกันแมงป่องเข้าบ้าน

          - ทำความสะอาดสวนในบ้านให้โล่ง โปร่ง ทุกซอกทุกมุม โดยพยายามอย่าให้มีซอกหลืบ เช่น ใต้กระถาง พื้นใต้หิน ให้แมงป่องเข้าไปหลบซ่อนตัว

          - ปิดทุกทางเข้า-ออก โดยเฉพาะร่องใต้ประตู หรือกำแพงที่มีรูโหว่ก็ควรซ่อมแซมให้มิดชิด และพยายามอย่าเปิดประตูทิ้งไว้

          - ท่อน้ำก็ควรปิดด้วยฝาตะแกรง หรือจะใช้แผ่นไม้ แผ่นหิน ปิดกันไว้ก็ได้

          - วางน้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์หรือกลิ่นซิตรัสในจุดเสี่ยง เช่น รอบ ๆ บ้าน ประตูที่เชื่อมออกไปยังสวน หรือจุดที่มีความอับชื้นค่อนข้างสูงอย่างห้องน้ำ ในครัว บริเวณซักล้าง เพราะแมงป่องจะไม่เข้าใกล้กลิ่นหอม ๆ เหล่านี้

4. คางคก

สัตว์มีพิษ

          คางคกเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีพิษเป็นเมือกสีขาว ซึ่งเราจะคุ้นหูมากกว่าถ้าเรียกยางคางคก โดยต่อมพิษของคางคกจะอยู่ที่เส้นสันหลัง และเครื่องในบางส่วน ซึ่งหากเราโดนพิษคางคกสัมผัสผิว จะเกิดอาการระคายเคืองแต่ไม่มากพอจะส่งผลต่อระบบอื่น ๆ อีกได้

          ทว่าสำหรับคนที่กินคางคกเพื่อหวังเป็นยาชูกำลัง (ซึ่งไม่ช่วยบำรุงสุขภาพได้จริง) อาจเกิดอันตรายได้ค่ะ โดยอาการแพ้พิษจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ส่วนมากจะเกิดหลังจากกินคางคกไปแล้วหลายชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง โดยบางคนอาจมีอาการวิงเวียน สับสน เห็นภาพเป็นสีเหลือง และสติเริ่มลดน้อยลง บางคนมีอาการเพ้อ ง่วงซึม มีอาการทางจิตประสาทร้ายแรงถึงขั้นชักและหมดสติ หรือหากถอนพิษไม่ทัน ผู้ป่วยจะมีอัตราการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ จนกระทั่งตกอยู่ในสภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

          * การรักษาเมื่อโดนพิษคางคกเล่นงาน

          ในกรณีโดนพิษคางคกที่ผิวหนัง ให้รีบล้างทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำและสบู่ให้หมดจด ส่วนหากกินคางคกเข้าไป ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยด่วน

          * วิธีป้องกันคางคกเข้าบ้าน

          แม้คางคกจะดีต่อระบบนิเวศในสวน คือ เป็นตัวช่วยกำจัดสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น หอยทาก ทว่าหากไม่อยากให้มีคางคกป้วนเปี้ยนในบ้าน ลองนำผงคลอรีนโรยรอบ ๆ บ้าน โดยเน้นบริเวณพื้นที่อับชื้นมากเป็นพิเศษ กลิ่นฉุนของคลอรีนจะทำให้คางคกไม่เข้าใกล้บ้านเราเลยค่ะ

5. แมลงก้นกระดก

สัตว์มีพิษ

          แมลงก้นกระดก (Rove Beetle) หรือในชื่อ ด้วงก้นกระดก ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน และแมลงเฟรชชี่ จะพบได้มากบริเวณใกล้แหล่งน้ำ นาข้าว หรือตามพงหญ้า โดยเฉพาะในหน้าฝนจะมีการระบาดของแมลงชนิดนี้ในต่างจังหวัด หรือบนตึกสูง ๆ ก็พบได้บ้างเช่นกัน

          ทั้งนี้ แมลงก้นกระดกก็ไม่ใช่สัตว์ปีกที่น่าคบหาเท่าไรค่ะ เพราะมีพิษแสบร้อนมาก เนื่องจากของเหลวในร่างกายของแมลงก้นกระดกจะมีสาร พีเดอริน (Paederin) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารพิษชนิดนี้สามารถทำลายผิวหนังและเซลล์เนื้อเยื่อ เมื่อเราสัมผัสโดน แมลงก้นกระดกก็จะปล่อยของเหลวออกมา ทำให้ปวดร้อน คัน ปวดแสบ ผิวไหม้ มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ เป็นหนองขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่โดนสัมผัส 

 สัตว์มีพิษ
          * วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนพิษแมลงก้นกระดก

          หากแมลงก้นกระดกมาสัมผัสตัวเราแล้ว ให้รีบล้างผิวด้วยน้ำเปล่า ฟอกสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสกับแมลงโดยตรง จากนั้นให้คอยสังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง หากเกิดรอยแดงเล็กน้อยสามารถหายเองได้ใน 2-3 วัน ไม่จำเป็นต้องทายาใด ๆ แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้นหรือมีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

          ทั้งนี้แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ครีมสเตียรอยด์ทาผื่นแดงระยะเริ่มแรก แต่ถ้าผื่นมีตุ่มน้ำพองเป็นบริเวณกว้าง หรือแผลไหม้ ก็ควรต้องประคบแผลด้วยน้ำเกลือครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้งจนกระทั่งแผลแห้ง ร่วมกับพิจารณายาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม และการรับประทานยาแก้คันเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันในผู้ป่วยบางรายด้วยค่ะ

          * วิธีไล่แมลงก้นกระดก

          ร้ายขนาดนี้ก็อย่าปล่อยให้แมลงก้นกระดกเข้าใกล้เราได้เด็ดขาด มาดูวิธีไล่แมลงก้นกระดกกันเลย ! และขอเตือนว่าถ้าเจอแล้วให้รีบกวาดทิ้ง แต่อย่าไปบี้หรือสัมผัสถูกตัว เพราะสารพิษจะกระจายไปตามมือและทำให้เกิดรอยไหม้ตามมือได้เลย

          - 10 วิธีไล่แมลงก้นกระดก ภัยร้ายในบ้านที่มาพร้อมหน้าฝน


6. กิ้งกือ

สัตว์มีพิษ

          สัตว์ร้อยขาอีกชนิดที่หลายคนเห็นแล้วขนลุกซู่ซ่าอย่างกิ้งกือ ก็เป็นสัตว์ที่มากับหน้าฝนและความอับชื้นเช่นกันค่ะ และเห็นกิ้งกือม้วนตัวกลม ๆ แข็งทื่ออย่างนี้ เขาก็มีพิษเหมือนกันนะ โดยกิ้งกือบางชนิดสามารถปล่อยพิษที่เป็นของเหลวออกจากบริเวณรอยต่อของข้อปล้องได้ หรือบางชนิดอาจปล่อยก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ออกมาเพื่อป้องกันตัว ซึ่งจริง ๆ แล้วสารพิษดังกล่าวไม่ค่อยส่งผลกับมนุษย์เราเท่าไร เว้นแต่ว่าคนที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย อาจเกิดอาการแสบ คัน หรือเห็นเป็นรอยแดง ๆ ตามผิวหนังที่สัมผัสกิ้งกือได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่เป็นอันตรายมากจนน่าห่วงค่ะ

          * วิธีปฐมพยาบาลหากถูกพิษกิ้งกือ

          เมื่อโดนพิษกิ้งกือเล่นงานให้รีบทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่โดนพิษด้วยน้ำสะอาด และฟอกสบู่หลาย ๆ รอบ ซึ่งการทำความสะอาดอาจไม่ทำให้รอยแดง ๆ จางหาย แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดพิษกิ้งกือ แบคทีเรีย และเชื้อโรคที่มาพร้อมกับกิ้งกือได้ หรือหากบางคนมีอาการแพ้ ก็ให้กินยาแก้แพ้ หากปวดก็กินยาแก้ปวด แล้วแผลจากกิ้งกือจะหายในที่สุด

          * วิธีไล่กิ้งกือออกจากบ้าน

          ใครไม่อยากเห็นกิ้งกืออยู่ในบ้านให้ขนลุกและเสี่ยงอันตรายอีก ลองกำจัดกิ้งกือด้วยวิธีเหล่านี้ดูนะคะ

          - วิธีไล่กิ้งกือในบ้าน กำจัดสัตว์ร้อยขาสุดอี๋

7. ยุง

สัตว์มีพิษ

          น้ำขังตามแหล่งต่าง ๆ เป็นแหล่งกำเนิดยุงมากมายหลายสายพันธุ์ แต่หนึ่งในนั้นคือยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกนั่นเองค่ะ ดังนั้นในช่วงหน้าฝนอย่างนี้เราก็ควรป้องกันยุงลายออกอาละวาดจนทำให้เสี่ยงโรคไข้เลือดออกด้วยนะคะ

          * อันตรายจากยุง

          นอกจากยุงจะกัดเราจนเป็นตุ่มคันแล้ว ยุงยังอาจนำโรคติดต่ออื่น ๆ มาให้เราล้มหมอนนอนเสื่อด้วย ลองมาดูกันว่ามีโรคอะไรบ้าง อาการที่สังเกตได้เป็นอย่างไร และควรต้องรักษาด้วยวิธีไหน

          - ไข้เลือดออก โรคตัวร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะ อันตรายถึงชีวิต !

          - โรคไข้สมองอักเสบเจอี ยุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค

          - โรคเท้าช้าง ระวังไว้ให้ดี โรคติดต่อนี้มียุงเป็นพาหะ !

          - ไวรัสซิกา  โรคติดต่อที่ไร้วัคซีนป้องกัน ภัยเงียบจากยุงลาย

          * วิธีลดอาการบวมเมื่อถูกยุงกัด

          โดนยุงกัดทีก็ทั้งคันทั้งเจ็บ แถมเป็นผื่นแดงทิ้งหลักฐานไว้บนผิวเราอีก ยิ่งกับคนที่แพ้น้ำลายยุงเป็นทุนเดิม ก็จะยิ่งทรมานจากการโดนยุงกัดมากขึ้น มาดูวิธีลดอาการบวมเมื่อถูกยุงกัดกัน

          - ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับยุง และวิธีลดอาการบวม เมื่อถูกยุงกัด

          * วิธีป้องกันยุงกัด

          เราสามารถป้องกันยุงบินป้วนเปี้ยนในบ้านได้ด้วยการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ตามวิธีง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ
 
สัตว์มีพิษ

          - คำแนะนำง่าย ๆ กำจัดลูกน้ำยุงลายที่เกิดในแต่ละภาชนะ

          หรือหากใครต้องการวิธีป้องกันยุงกัด เราก็มีมาฝาก

          - 11 วิธีไล่ยุงแบบธรรมชาติ กำจัดยุงไม่ให้กลับมากัดเราได้อีก !

สัตว์มีพิษ
 
          - 12 วิธีป้องกันยุงกัดส่งตรงจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี

8. หนู

สัตว์มีพิษ

          หนูเป็นสัตว์อีกชนิดที่ไม่ชอบน้ำ และมักจะหนีน้ำขึ้นมาแอบตามบ้านเรือน ร้านค้า ซึ่งหนูก็เป็นสัตว์ที่มีเชื้อโรคเต็มไปหมด และยังเป็นพาหะนำโรคฉี่หนูที่มักจะระบาดในหน้าฝนด้วย ที่สำคัญหนูเป็นสัตว์ที่เพิ่มประชากรได้เร็วมาก ดังนั้นหากในบ้านมีหนูก็ควรต้องรีบกำจัดโดยด่วนก่อนที่คนในบ้านจะป่วยเพราะหนูกัน

          * วิธีกำจัดหนู

          มีวิธีกำจัดหนูมากมายแบบที่ไม่ต้องทำร้ายกันมากด้วยนะคะ ลองเลือกไปใช้ได้เลย

          - วิธีไล่หนูออกจากบ้าน โดยไม่ต้องฆ่า
  
9. แมลงชนิดต่าง ๆ

สัตว์มีพิษ

          นับว่าเป็นแขกประจำช่วงหน้าฝนเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะแมงเม่า มด แมลงสาบ ที่พากันหนีน้ำมาอยู่ในบ้านของมนุษย์ ซึ่งนอกจากจะก่อความรำคาญใจแล้ว แมลงบางชนิดยังอาจเป็นต้นเหตุของโรคภัยและอาการบาดเจ็บได้ค่ะ โดยเฉพาะแมลงตัวเล็ก ๆ ที่อาจบินเข้าหู หรือแมลงสาบที่อาจนำเชื้อโรคมาสู่ตัวเราได้ หรือบางคนอาจเกิดอาการแพ้จากแมลงเหล่านี้ก็เป็นได้เช่นกัน โดยบางคนที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย อาจมีอาการบวมแดงที่ผิวหนัง บางคนเป็นลมพิษเลยก็มี

          * วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

          หากแมลงบินเข้าหู ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามนี้

          - แมลงเข้าหู ควรทำอย่างไร วิธีปฐมพยาบาลง่าย ๆ ยามฉุกเฉิน

          แต่หากโดนแมลงสัตว์กัดต่อย ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ จากนั้นทายาหม่องให้ทั่วแผล และคอยสังเกตอาการบ่อย ๆ หากอาการกำเริบเกินจะรักษาได้ในเบื้องต้น ให้พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ในทันที

          * วิธีป้องกันแมลงเข้าบ้าน

          - พยายามเปิดไฟให้น้อยที่สุด เพราะแมลงจะชอบบินมาเล่นไฟ

          - อย่าเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ และควรอุดรูรั่วภายในบ้านให้สนิทดี

          - ถ้าที่บ้านไม่ได้ติดมุ้งลวด ในหน้าฝนควรนอนกางมุ้งด้วย

          - ใช้ยากำจัดแมลงฉีดรอบ ๆ บ้าน โดยเฉพาะตามซอกมุมต่าง ๆ

          สำหรับคนที่ต้องการกำจัดแมลงสาบ มด และแมงเม่า ลองทำตามนี้

    สัตว์มีพิษ

          - วิธีกำจัดแมลงสาบสูตรธรรมชาติ ไม่ให้ยั้วเยี้ยในบ้าน

          - 10 วิธีกำจัดแมลงสาบตัวเล็ก ให้หมดไปจากบ้านเราสักที !

          - สูตรน้ำยากำจัดมด วิธีไล่มดได้อยู่หมัด
 
          - วิธีไล่มดไม่ให้มากวนใจ ได้ผลชะงัด ! 

          - 10 วิธีกำจัดแมลงเม่า ตัดวงจรก่อนกลายเป็นปลวกกินบ้าน

          ได้ทราบกันแล้วว่าสัตว์ที่มากับหน้าฝนมีอะไรที่ควรต้องระมัดระวังบ้าง ซึ่งเราก็หวังว่า ข้อมูลข้างต้นคงช่วยให้ทุกคนดูแลตัวเองและครอบครัวให้ห่างไกลอันตรายที่อาจมาพร้อมสัตว์เหล่านี้ได้นะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
โครงการ Biodiversity Research and Training Program- BRT, คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, สสวท, ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันอาการบาดเจ็บในเด็ก, ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี,  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, wikihow

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 สัตว์ที่มากับฝน มีอะไรบ้าง พร้อมวิธีปฐมพยาบาลและป้องกัน อัปเดตล่าสุด 3 มีนาคม 2564 เวลา 15:17:14 111,366 อ่าน
TOP
x close