9 โรคผิวหนังที่ต้องระวังในหน้าฝน รู้ให้ครบช่วยลดความเสี่ยง

          โรคผิวหนังกับหน้าฝน ของที่มักจะมาคู่กันเสมอ ๆ ฉะนั้นเราต้องรู้ให้ทันจะได้ป้องกัน+ระวังโรคผิวหนังที่มากับฝนก่อนป่วยไข้
โรคผิวหนัง

          สายฝนโปรยลงมาก็พาให้เกิดความชุ่มฉ่ำ แต่ภายใต้สายฝนที่ตกลงมารวมกันเป็นแอ่งน้ำ หรือน้ำรอระบาย แน่นอนค่ะว่าต้องมีเชื้อโรคที่อันตรายกับผิวพรรณของเราไม่มากก็น้อย ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและเพื่อป้องกันการเกิดโรคผิวหนัง ในหน้าฝนนี้ เราจะพามาทำความรู้จักโรคผิวหนังที่มักเกิดในฤดูฝน ลองมาดูกันค่ะว่าโรคผิวหนังในหน้าฝนที่เราควรระวังมีโรคอะไรบ้าง

1. โรคผิวแพ้เสื้อผ้า

          โรคผิวหนังสุดฮิตที่มักจะเจอกันบ่อยในหน้าฝนก็คือโรคผิวติดเชื้อ หรือผื่นแพ้จากเชื้อราและความอับชื้นของเสื้อผ้าที่สวมใส่ โดยเฉพาะกับชุดชั้นใน ผ้าหนา ๆ อย่างยีนส์ หรือกางเกงวอร์ม บางทีก็ซัก-ตาก ไม่ทันแห้งสนิทดี เสื้อผ้ายังมีความอับชื้นอยู่แต่ก็จำเป็นต้องใส่

          ซึ่งนี่ล่ะค่ะจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ที่อาจทำให้เกิดอาการคันยุบยิบใต้ร่มผ้า โดยเฉพาะในจุดที่อับชื้น เช่น รอบอกและร่องอกจากเสื้อชั้นในที่อับชื้น หรือผู้ชายที่ผูกเนคไทที่มีความอับชื้นก็อาจมีผื่นตามลำคอ นอกจากนี้ยังอาจพบผื่นคันตามข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ ในกรณีที่สวมเสื้อผ้ารัดรูปจนเกินไปได้อีกด้วยนะคะ


          วิธีรักษา

          หากมีอาการคันที่เกิดจากเชื้อรา ผิวติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถรักษาให้หายด้วยยาฆ่าเชื้อราชนิดทาทั่วไป หรือปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมก็ได้เช่นกัน

          วิธีป้องกัน

          วิธีป้องกันการแพ้เสื้อผ้า คือ ควรซักล้างเสื้อผ้าอย่างสะอาด และระวังไม่ให้มีผงซักฟอกตกค้างอยู่ หลังจากนั้นให้นำเสื้อผ้ามาผึ่งแดดจนแห้งสนิท

          และสำหรับใครที่อ้วนก็ขอให้พยายามลดน้ำหนักตัวลงด้วย เพราะคนอ้วนเสื้อผ้ามักจะเสียดสีกับผิวหนังมาก ส่วนกางเกงยีนส์แฟชั่นรัดรูปนั้นสวมใส่ได้ หากใส่เป็นครั้งคราว ไม่ได้ใส่ทุกวัน หรือใส่นอน เวลานอนควรสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่จำเป็นต้องใส่ยกทรง หรือกางเกงในเวลานอน เพื่อปล่อยให้จุดอับชื้นต่าง ๆ ได้มีอากาศหายใจบ้าง


          - เปียก อับ ชื้น ! เรื่องน่ารู้ ดูแลชุดชั้นในหน้าฝน

โรคผิวหนัง

2. สังคัง

          ความอับชื้นของเสื้อผ้าหรือการแช่น้ำท่วมขังเป็นเวลานานเกินชั่วโมง จะทำให้เราเสี่ยงต่อเชื้อราอันเป็นสาเหตุของโรคสังคังได้ โดยเฉพาะในเพศชายที่แช่น้ำนาน ๆ หรือปล่อยให้กางเกงเปียกชื้น ไม่เปลี่ยน ไม่ทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังลุยน้ำท่วมมา เชื้อราที่ว่าอาจเจริญเติบโตและแพร่กระจายบริเวณขาหนีบ ถุงอัณฑะและคอพับอวัยวะเพศ มีอาการคันอย่างรุนแรงในบริเวณดังกล่าว และเกิดเป็นผื่นแดงที่ผิวหนัง ต่อมาจะเป็นตุ่มแดงขยายออกไปเป็นวงกว้างขึ้นเป็นนูนแดงและมีขุยขาว ๆ เกิดขึ้น หรือในบางคนชอบสวมกางเกงในก่อนถุงเท้า จึงอาจติดเชื้อราจากเท้าไปที่ขาหนีบได้

          วิธีรักษา

          ถ้าพบว่าตนเองเป็นโรคสังคัง ในเบื้องต้นให้หมั่นทำความสะอาด อาบน้ำเช็ดตัวให้แห้ง และทาแป้งบริเวณขาหนีบ อย่าให้ร่างกายอับชื้น รวมทั้งทายาฆ่าเชื้อราแก้คัน หากเป็นรุนแรงให้รีบพบแพทย์ทันที

          วิธีป้องกัน

          ไม่ควรนุ่งกางเกงยีนส์ เพื่อลดความชื้นที่ขาหนีบ (ป้องกันสังคัง) และลดกลิ่นเหม็นบริเวณอวัยวะเพศ เพราะเนื้อผ้ายีนส์มักแห้งยาก ควรนุ่งกางเกงในชนิดคล้ายกางเกงนักมวย (boxer) แทนกางเกงในชนิดรัดโคนขาหนีบต้นขา เพื่อลดความชื้นแฉะที่ขาหนีบ

โรคผิวหนัง

3. รังแค อาการคันศีรษะ

          หากเดินตากฝน ผมเปียกโดยเฉพาะคุณสาว ๆ แล้วไม่ได้เป่าผมให้แห้งก่อนนอน นอนไปทั้งที่ผมยังไม่แห้งสนิท ปัญหาที่อาจเจอก็คือรังแคและอาการคันหนังศีรษะอันเนื่องมาจากเชื้อราบนหนังศรีษะ อีกทั้งความอับชื้นจากผมที่เปียกยังจะกระตุ้นต่อมน้ำมันให้ผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ส่งผลให้หนังศีรษะมันกว่าปกติและเกิดเป็นรังแค พร้อมทั้งมีอาการคันศีรษะร่วมด้วย

          วิธีรักษา

           สามารถรักษาด้วยการใช้แชมพูยาขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อราอยู่ด้วย หรือจะกำจัดเชื้อราและรังแคด้วยสูตรธรรมชาติตามนี้ก็ได้ค่ะ

        - 8 วิธีรักษาเชื้อราบนหนังศีรษะ หมดปัญหาอาการคันต้องกำจัดให้เกลี้ยงถึงต้นตอ !

          วิธีป้องกัน

          หากเดินตากฝน ผมเปียก หรือสระผมตอนกลางคืน ควรเป่าผมให้แห้งสนิทก่อนล้มตัวลงนอน อีกทั้งควรรักษาความสะอาดบนหนังศีรษะและเส้นผมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังตากฝนจนเปียกไปทั้งตัว
    
          -  10 สิ่งที่ต้องทำหลังเดินตากฝน รีบดูแลตัวเองไม่ให้ป่วย

โรคผิวหนัง
ภาพจาก Fabika / Shutterstock.com

4. โรคน้ำกัดเท้า หรือเชื้อราที่เท้า

          โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำรอระบายหรือมีน้ำท่วมขัง ทำให้ต้องเดินย่ำน้ำ ชื้นแฉะ เป็นเวลานานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากยังไม่รีบทำความสะอาดเท้า ผ่านไปสักระยะหนึ่งอาจพบว่าผิวตามซอกนิ้วเท้าลอกเป็นขุยขาว ๆ หรือเปียกยุ่ย หรืออาจถึงขั้นเป็นแผล มีน้ำเหลืองแฉะที่ผิว ซึ่งเป็นอาการของโรคน้ำกัดเท้าก็เป็นได้

          วิธีรักษา

          หากมีอาการดังที่ว่ามา ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและซับให้แห้ง และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยก่อนว่า เป็นลักษณะอาการของน้ำกัดเท้าจริงหรือไม่ เพราะหากผู้ป่วยเข้าใจผิดว่า เป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อรา และซื้อยามาทาเอง ก็จะทำให้อาการของโรคลุกลามมากขึ้น เนื่องจากยาแก้เชื้อราบางตัวมีฤทธิ์กัดลอกผิว ซึ่งจะทำให้อาการของโรคน้ำกัดเท้ามีความรุนแรงมากขึ้นด้วย

          วิธีป้องกัน

          ถ้าต้องเดินย่ำน้ำให้สวมใส่รองเท้าบูท เพื่อป้องกันเท้าสัมผัสกับน้ำสกปรกโดยตรง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องเดินลุยน้ำจริง ๆ เมื่อถึงที่หมายแล้วให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผลแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ   

โรคผิวหนัง

5. โรคเท้าเหม็น

          บางคนมีกลิ่นเหม็นที่เท้าแบบผิดปกติหลังจากเดินลุยน้ำท่วมขัง ให้ฉุกคิดถึงโรคเท้าเหม็นที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจนทำให้เกิดรูพรุนขนาดเล็กที่เท้า เวลาถอดถุงเท้าจะรู้สึกติดฝ่าเท้า บางรายอาจมีแผลน้ำเหลืองซึมและแผลมีกลิ่นเหม็นมาก ๆ

          วิธีรักษา

          หากพบว่าเท้ามีกลิ่นเหม็นผิดปกติและมีแผลเป็นรูพรุนเล็ก ๆ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยให้ให้การรักษาอย่างถูกวิธี

          วิธีป้องกัน

          หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง หรือหากจำเป็นต้องเดินย่ำน้ำรอระบายด้วยเท้าเปล่า ควรรีบทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดเท้าให้แห้งทันที

โรคผิวหนัง

6. โรคพยาธิปากขอ

          นอกจากโรคเท้าเหม็นแล้ว การเดินย่ำน้ำท่วมขังยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิปากขอ ซึ่งพบได้บ่อยในมูลสัตว์และสิ่งปฏิกูลที่ไหลมากับน้ำ โดยพยาธิปากขอจะไชเข้าสู่ร่างกายเราทางผิวหนัง โดยเฉพาะคนที่เดินเท้าเปล่าหรือมีบาดแผลที่เท้า พยาธิจะมีโอกาสเข้าถึงผิวหนังเราได้มากขึ้น

          โดยอาการของโรคพยาธิปากขอจะมีอาการคันตามผิวหนังร่วมกับมีผื่นเล็ก ๆ คันมาก เมื่อพยาธิเริ่มไชจะเห็นผิวหนังเป็นเส้นแดงนูนหรือตุ่มน้ำใสขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร หรืออาจยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร คดเคี้ยวไป-มาตามการไชของพยาธิ โดยอาการทางผิวหนังมักจะเกิดใน 1-5 วันหลังการสัมผัสและคงอยู่ได้นานราว 2-4 สัปดาห์ หรือนานเป็นปีเลยทีเดียว


โรคผิวหนัง

          วิธีรักษา

        การรักษาสามารถใช้ยาฆ่าพยาธิชนิด albendazole 400 มิลลิกรัมต่อวัน กินติดต่อกันนาน 3 วัน หรือใช้ยา ivermectin รับประทานครั้งเดียวซึ่งจะช่วยฆ่าพยาธิปากขอได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          วิธีป้องกัน

          ควรสวมใส่รองเท้าทุกครั้งที่จะเดิน ไม่ควรเดินเท้าเปล่า รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง หรือบริเวณพื้นที่เฉอะแฉะ หรือหากต้องเดินผ่านน้ำรอระบายจริง ๆ ควรสวมใส่รองเท้าบูท และควรทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทันทีที่ถึงที่หมาย

โรคผิวหนัง

7. โรคฉี่หนู

          ฉี่หนูเป็นโรคระบาดในคนที่ติดต่อมาจากสัตว์ มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira sp.) ที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ ตั้งแต่หนู วัว ควาย ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวเลยทีเดียว โดยคนจะสามารถรับเชื้อฉี่หนูนี้เข้าไปทางบาดแผล หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงเยื่อเมือกอย่างตาและปาก

          อาการของโรคฉี่หนู มี 2 แบบ คือแบบไม่รุนแรงจะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้หากรู้ตัวและรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ กับกลุ่มที่มีอาการรุนแรงที่จะทำให้ตาอักเสบแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ และเมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในสมองจะทำให้เกิดอาการเพ้อ ไม่รู้สึกตัว และยิ่งไปกว่านั้นหากติดเชื้อทั่วร่างกายจะทำให้เลือดออกในร่างกายจนเสียชีวิต


โรคผิวหนัง

          วิธีรักษา

          โรคฉี่หนู สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งควรให้ยารักษาโดยเร็วที่สุด ไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากมีอาการ และควรให้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน

          วิธีป้องกัน

          - กำจัดหนูในบริเวณสถานที่อยู่อาศัย

          - หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคฉี่หนู รวมทั้งการสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร

          - หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ หรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานาน ๆ

          - หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่

          - ไม่ใช้น้ำจากแหล่งที่ต้องสงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อโรค

          - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่วางทิ้งไว้ค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด

          - เกษตรกร หรือคนทำงานปศุสัตว์ที่ต้องย่ำในน้ำ ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบูท ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า ให้เรียบร้อย

          - ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว หากเดินลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ

โรคผิวหนัง

8. โรคบาดทะยัก

          เมื่อเดินในพื้นที่น้ำท่วมขังก็เสี่ยงถูกของมีคมทิ่ม ตำ ทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคต่าง ๆ ตามมาได้ รวมทั้งเชื้อบาดทะยัก ดังนั้นหากพบว่าตัวเองมีบาดแผลจากการถูกของมีคมตำ ควรรีบทำความสะอาดแผลทันทีด้วยการฟอกสบู่และล้างด้วยน้ำสะอาด จากนั้นเช็ดทำความสะอาดรอบบาดแผลด้วยแอลลอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด แต่หากมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวด-เกร็งกล้ามเนื้อ ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจติดเชื้อบาดทะยักก็เป็นได้ โดยเฉลี่ยมักจะมีอาการภายใน 10-14 วันหลังติดเชื้อ

          วิธีรักษา

          หากติดเชื้อบาดทะยัก แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา และตัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วของแผลออก เพื่อลดปริมาณเชื้อโรค พร้อมกับให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อรักษาตามอาการที่เป็น เช่น อาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ ภาวะกลืน-หายใจลำบาก ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น เพราะโรคนี้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้จากภาวะหัวใจหยุดเต้น

          วิธีป้องกัน

          เราสามารถป้องกันโรคบาดทะยักได้โดยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักตั้งแต่เด็ก รวมทั้งดูแลตัวเองไม่ให้ถูกของมีคมที่ปนเปื้อนเชื้อโรคและสนิมทำอันตรายร่างกายเอาได้

โรคผิวหนัง

9. ผื่นผิวหนังจากแมลงสัตว์กัดต่อย

          แมลงก้นกระดก (Rove Beetle) หรือในชื่อ ด้วงก้นกระดก ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน และแมลงเฟรชชี่ จะพบได้มากที่บริเวณใกล้แหล่งน้ำ นาข้าว หรือตามพงหญ้า โดยเฉพาะในหน้าฝนจะมีการระบาดของแมลงชนิดนี้ในต่างจังหวัด หรือบนตึกสูง ๆ ก็พบได้บ้างเช่นกัน

          ทั้งนี้แมลงก้นกระดกก็ไม่ใช่สัตว์ปีกที่น่าคบหาเท่าไรค่ะ เพราะมีพิษแสบร้อนมาก เนื่องจากของเหลวในร่างกายของแมลงก้นกระดกจะมีสาร เพเดอริน (Paederin) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารพิษชนิดนี้สามารถทำลายผิวหนังและเซลล์เนื้อเยื่อ เมื่อเราสัมผัสโดน แมลงก้นกระดกก็จะปล่อยของเหลวออกมา ทำให้ปวดร้อน คัน ปวดแสบ ผิวไหม้ มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ เป็นหนองขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่โดนสัมผัส


โรคผิวหนัง

          วิธีรักษา

          หากแมลงก้นกระดกมาสัมผัสตัวเราแล้ว ให้รีบล้างผิวด้วยน้ำเปล่า ฟอกสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสกับแมลงโดยตรง จากนั้นให้คอยสังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง หากเกิดรอยแดงเล็กน้อยสามารถหายเองได้ใน 2-3 วัน ไม่จำเป็นต้องทายาใด ๆ แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้นหรือมีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

          ทั้งนี้แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ครีมสเตียรอยด์ทาผื่นแดงระยะเริ่มแรก แต่ถ้าผื่นมีตุ่มน้ำพองเป็นบริเวณกว้าง หรือแผลไหม้ ก็ควรต้องประคบแผลด้วยน้ำเกลือครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้งจนกระทั่งแผลแห้ง ร่วมกับพิจารณายาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม และการรับประทานยาแก้คันเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันในผู้ป่วยบางรายด้วยค่ะ


          วิธีป้องกัน

          วิธีป้องกันพิษจากแมลงก้นกระดกที่ดีที่สุดคืออย่าปล่อยให้แมลงตัวร้ายชนิดนี้มาวอแวกับเราได้ โดยเรามีวิธีไล่แมลงก้นกระดกมาฝากด้วยค่ะ

          - 10 วิธีไล่แมลงก้นกระดก ภัยร้ายในบ้านที่มาพร้อมหน้าฝน

          ทว่านอกจากแมลงก้นกระดกแล้ว ยังมีสัตว์ที่ควรต้องระวังในหน้าฝนนี้อีกหลายชนิดนะคะ ตามนี้เลย

          - 9 สัตว์ที่มากับฝน มีอะไรบ้าง พร้อมวิธีปฐมพยาบาลและป้องกัน

          รู้จักโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นได้ในหน้าฝนเอาไว้ก่อน เราจะได้เตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้อย่างพร้อมเต็มที่ ฤดูฝนหนนี้ก็ไม่ต้องกลัวป่วยด้วยโรคใด ๆ


***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 9 พฤษภาคม 2561

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สถาบันโรคผิวหนัง กระทรวงสาธารณสุข
สำนักระบาดวิทยา
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 โรคผิวหนังที่ต้องระวังในหน้าฝน รู้ให้ครบช่วยลดความเสี่ยง อัปเดตล่าสุด 23 พฤษภาคม 2561 เวลา 09:17:18 13,255 อ่าน
TOP
x close