วิธีช่วยคนโดนไฟดูด ไฟช็อต ช่วงฝนตก-น้ำท่วม เข้าช่วยยังไงให้ปลอดภัยทั้งคู่

           วิธีช่วยเหลือผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด หากอยู่ในสภาวะฝนตกและน้ำท่วม เราควรช่วยเหลือยังไงให้ผู้ประสบเหตุปลอดภัย และตัวเองไม่ถูกไฟดูดไปด้วยอีกคน
วิธีช่วยคนโดนไฟดูด น้ำท่วม

           ไฟดูด หรือไฟช็อต เป็นอีกหนึ่งอันตรายที่มักเกิดขึ้นในช่วงฝนตกหนักหรือมีน้ำท่วมขัง เพราะน้ำที่ไม่บริสุทธิ์ อย่างน้ำฝน น้ำคลอง น้ำล้นจากท่อระบายน้ำ เป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี หากสัมผัสกับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสายไฟที่ชำรุดในขณะที่คนยืนอยู่ในน้ำอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกไฟดูด พร้อมทั้งเรียนรู้วิธีช่วยคนโดนไฟดูด และวิธีการปฐมพยาบาล จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้เอาตัวรอดจากเหตุการณ์ฉุกเฉินตรงหน้า

วิธีช่วยคนโดนไฟดูด
ช่วงฝนตก-น้ำท่วม

วิธีช่วยเหลือผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด

           เมื่อพบเห็นคนถูกไฟดูด เราจะเกิดอาการตกใจ ดังนั้น ต้องควบคุมสติให้ได้ และดูว่าตัวเองสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

1. ตัดกระแสไฟฟ้า

          สิ่งแรกที่ต้องทำคือตัดกระแสไฟฟ้าทันที (ถ้าทำได้) โดยปิดสวิตช์ไฟหลัก ดึงเบรกเกอร์ ถอดปลั๊ก แต่หากประสบเหตุจากสายไฟฟ้าแรงสูง หรือในพื้นที่สาธารณะซึ่งไม่สามารถตัดไฟได้ ให้แจ้งการไฟฟ้าฯ ให้มาดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้าโดยเร็วที่สุด

  • การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โทร. 1130 รับผิดชอบพื้นที่ กทม. สมุทรปราการ และนนทบุรี

  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โทร. 1129 รับผิดชอบจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจาก กทม. สมุทรปราการ และนนทบุรี

2. อย่าใช้มือเปล่าแตะตัวผู้ถูกไฟดูด

          ในกรณีเจอคนถูกไฟดูดนอกบ้านขณะฝนตก-น้ำท่วม และไม่สามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้ทันที เราไม่ควรเข้าใกล้ผู้ประสบเหตุโดยตรง และอย่าใช้มือเปล่าสัมผัสตัวผู้ประสบเหตุหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าเด็ดขาด เพราะตัวเองจะถูกไฟดูดไปด้วย

          หากผู้ถูกไฟดูดอยู่ในน้ำท่วมขัง แล้วเราอยู่ด้านบน เช่น บนเรือ บนตลิ่ง บนพื้นที่แห้ง ไม่ควรย่ำน้ำหรือลงน้ำไปช่วย แต่สามารถพายเรือเข้าไปช่วยได้ เพราะร่างกายที่แห้งเป็นเหมือนฉนวนไฟฟ้าป้องกันตัวเองได้ แต่เมื่อร่างกายเปียก ค่าการนำไฟฟ้าของผิวหนังจะสูงขึ้น ก็มีโอกาสที่จะถูกไฟดูดตามไปด้วย

3. หาฉนวนไฟฟ้าดึงตัวคนถูกไฟดูดออกมา

วิธีช่วยคนโดนไฟดูด

          รีบหาวัตถุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น เชือก เข็มขัด ไม้แห้ง ไม้กวาด สายยาง ผ้า กางเกงขายาว หนังสือพิมพ์ ฯลฯ เขี่ยสายไฟฟ้าออกให้พ้นผู้ประสบเหตุ และใช้ฉนวนไฟฟ้าดึง ดัน คล้อง หรือลากผู้ประสบเหตุออกไปจากบริเวณนั้นอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อให้พ้นจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า แต่อย่าใช้อุปกรณ์ที่เป็นโลหะ เช่น ก้านร่ม เพราะจะนำไฟฟ้าเข้าสู่ตัวเรา

          หากจำเป็นต้องผลักตัวผู้ประสบภัย ให้ใช้ผ้าแห้งพันมือให้หนา ๆ แล้วค่อยผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว และเขี่ยสายไฟให้หลุดออกจากตัวผู้ประสบอันตราย

          ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าช่วยเหลือควรยืนอยู่บนพื้นที่แห้ง หรือสวมรองเท้ายาง ถุงมือยาง แต่ในกรณีจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้ประสบเหตุ ผู้ช่วยเหลือต้องเดินเข้าไปโดยให้เท้าชิดกันมากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้โดนสนามแม่เหล็กไฟฟ้าน้อยที่สุด ลดความเจ็บปวดจากการถูกไฟดูด

4. เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากบริเวณไฟดูด

           เมื่อดึงตัวออกมาได้แล้วให้นำผ้าแห้งมาห่อหุ้มตัวผู้ประสบเหตุ แล้วรีบนำไปยังที่ปลอดภัย เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุอาจมีต้นไม้ขนาดใหญ่ หรือมีสายไฟ ป้ายโฆษณา ที่ก่ออันตรายซ้ำสองได้ อย่างไรก็ตาม ควรใช้ความระมัดระวังในการเคลื่อนย้าย และเคลื่อนย้ายอย่างถูกวิธี เพราะผู้ประสบเหตุอาจได้รับบาดเจ็บบริเวณอื่นด้วย

5. รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

           หลังจากช่วยเหลือได้แล้วให้รีบนำผู้ประสบเหตุส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือโทร. 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เข้ามาช่วยเหลืออย่างถูกวิธีและนำตัวส่งโรงพยาบาล ทั้งนี้ การช่วยเหลือที่ถูกวิธีจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิต

วิธีปฐมพยาบาลคนถูกไฟดูด

วิธีปฐมพยาบาลคนถูกไฟดูด

          ในกรณีที่เราจำเป็นต้องปฐมพยาบาลเพื่อรอหน่วยกู้ชีพหรือรถพยาบาลมา ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • หลังจากช่วยเหลือผู้ถูกไฟดูดได้แล้วให้รีบนำขึ้นไปที่แห้งโดยเร็ว เช็ดตัวให้แห้ง แล้วตรวจสอบสัญญาณชีพที่คอว่ายังมีชีพจรอยู่หรือไม่ ยังหายใจอยู่หรือไม่ ถ้าหัวใจยังเต้นอยู่ไม่ต้องทำ CPR และควรจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนตะแคง

  • หากผู้ถูกไฟดูดหมดสติ หรือหยุดหายใจ ให้รีบโทร. เรียกหน่วยกู้ชีพหรือเรียกรถพยาบาล และระหว่างรอควรทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ (CPR) ทันที

วิธีทำ CPR

          หากมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED ให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเข้าช่วยเหลือ แต่ถ้าไม่สามารถหาเครื่องดังกล่าวได้ เราต้องทำ CPR เพื่อช่วยผู้ป่วยไปก่อนจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง ดังนี้

  • จัดให้ผู้ถูกไฟฟ้าดูดนอนราบกับพื้นแข็ง ๆ หรือใช้ไม้กระดานรองที่หลัง

  • ผู้ปฐมพยาบาลนั่งคุกเข่าข้าง ๆ วางส้นมือตรงตำแหน่งกึ่งกลางหน้าอกระหว่างราวนม

  • วางมืออีกข้าง (ควรเป็นมือข้างที่ถนัด) ประสานกับมือที่วางตรงหน้าอก เหยียดนิ้วมือตรง เหยียดแขนตรง หลังตรงทำมุมฉาก 90 องศากับหน้าอกผู้บาดเจ็บ โน้มตัวลงมาข้างหน้า

  • กดลงไปที่หน้าอกผู้บาดเจ็บให้ลึกอย่างน้อย 2 นิ้ว (5-6 เซนติเมตร) 30 ครั้ง ในอัตราความเร็วอย่างน้อย 100-120 ครั้งต่อนาที  

  • เมื่อกดหน้าอกครบ 30 ครั้ง ให้สลับมาเป่าปาก 2 ครั้ง แล้วกลับไปกดหน้าอกใหม่ สลับกับเป่าปากเรื่อย ๆ

  • ทำวิธีดังกล่าวไปเรื่อย ๆ จนกว่าหน่วยกู้ชีพจะมาถึง หรือจนกว่าผู้ป่วยจะมีการตอบสนอง

           สำหรับผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บจากไฟบ้านทั่วไป มีบาดแผลไม่ลึก ไม่มีอาการผิดปกติ สามารถสังเกตอาการที่บ้านก่อนได้ ยกเว้นว่าผู้ที่ถูกไฟดูดเป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคไต โรคหัวใจ ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการอีกครั้ง

ไฟดูดอันตรายแค่ไหน

          อาการของคนโดนไฟดูดจะรุนแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คือ

  • ความแรงของกระแสไฟฟ้า : กระแสไฟฟ้าที่แรงขึ้นจะทำอันตรายร่างกายได้มากขึ้น

  • ระยะเวลาที่ถูกไฟดูด : ยิ่งถูกไฟดูดนานเท่าไหร่ อันตรายก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

  • ตำแหน่งที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน : หากกระแสไฟฟ้าไหลผ่านหัวใจอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้

  • สภาพร่างกายของผู้ถูกไฟดูด : ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนปกติ

          ทั้งนี้ ในกรณีถูกไฟดูดในสภาพที่ร่างกายแห้ง อาจเพียงแค่ทำให้ล้มลงกับพื้น มีแผลไหม้บริเวณที่ไฟช็อต หรือถ้ารุนแรง กล้ามเนื้อทั่วร่างกายอาจชักเกร็ง หายใจเร็ว หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อวัยวะภายในเสียหายได้

          ทว่าหากถูกไฟดูดในขณะที่ตัวเปียก เช่น ในอ่างอาบน้ำ ในน้ำท่วมขัง ขณะฝนตก น้ำจะเป็นตัวนำไฟฟ้า ความต้านทานที่ผิวหนังจะลดลงไป ทำให้ไฟฟ้าผ่านผิวหนังเข้าไปทำอันตรายต่อหัวใจได้ง่ายกว่า จึงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้มากกว่า

วิธีสังเกตไฟรั่วในน้ำท่วม

วิธีสังเกตไฟรั่ว

          บางครั้งเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินผ่านน้ำท่วมขังได้ จึงควรสังเกตโดยรอบว่ามีจุดไหนสุ่มเสี่ยงต่อการรั่วของไฟฟ้าได้บ้างเพื่อเซฟตัวเอง โดยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้เสาโลหะทุกต้นในรัศมีอย่างน้อย 1 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ไฟฟ้าสามารถรั่วมาถึงตัวเราได้ แต่ถ้าเป็นเสาไฟแรงสูงควรอยู่ให้ไกลอย่างน้อย 10 เมตร

  • หากเดินลุยน้ำแล้วหกล้ม เสียหลัก ไม่ควรพิงหรือจับเสาโลหะ เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ ประตูรั้วหน้าบ้าน ป้ายไฟหน้าร้าน รถเข็น ราวสะพาน ฯลฯ เพราะเป็นวัตถุที่อาจเกิดไฟรั่วได้

  • กรณีเดินเข้าไปใกล้จุดไฟรั่วในระยะไม่ถึงเมตร เราจะมีความรู้สึกคล้ายเหน็บชาบริเวณขาและเท้า เพราะเข้าใกล้สนามไฟฟ้า ให้รีบถอยออกมาโดยเร็ว และเดินกลับไปยังเส้นทางเดิม ห้ามเดินต่อไปข้างหน้าและห้ามสัมผัสวัตถุใด ๆ ในบริเวณนั้น

  • สังเกตฟองอากาศบนผิวน้ำ หากใต้น้ำมีไฟรั่วจะมีฟองอากาศเป็นลำผุดขึ้นมาเหมือนฟองของน้ำโซดา เราต้องอยู่ให้ห่างจากบริเวณนั้น

  • ถ้าจำเป็นต้องสัมผัสโลหะที่อยู่ใต้น้ำให้ใช้หลังมือแตะดูก่อน หากวัตถุนั้นมีไฟรั่ว ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยารีเฟลกซ์ ดึงมือกลับอัตโนมัติ แต่ถ้าใช้ฝ่ามือจับวัตถุที่มีไฟรั่ว ฝ่ามือจะกำวัตถุนั้นไว้และไม่สามารถปล่อยได้เอง ทำให้ถูกไฟดูดได้

          อย่างไรก็ตาม รัศมีของไฟรั่วจะสามารถกระจายได้ไกลแค่ไหนขึ้นอยู่กับขนาดของวัตถุที่เป็นตัวนำไฟฟ้า รวมทั้งลักษณะของน้ำที่เป็นตัวนำไฟฟ้า ดังนั้น ยิ่งอยู่ให้ห่างจากจุดนั้นมากเท่าไรยิ่งปลอดภัย

           การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และการป้องกันตัวเองจากอันตราย จะช่วยให้เราสามารถเอาตัวรอดและช่วยเหลือผู้อื่นได้ในยามฉุกเฉิน

บทความที่เกี่ยวข้องกับการปฐมพยาบาล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีช่วยคนโดนไฟดูด ไฟช็อต ช่วงฝนตก-น้ำท่วม เข้าช่วยยังไงให้ปลอดภัยทั้งคู่ อัปเดตล่าสุด 17 กันยายน 2567 เวลา 23:15:16 8,223 อ่าน
TOP
x close