x close

สารเคมีเข้าตา ปฐมพยาบาลอย่างไร ถ้าสูดดม-สัมผัสผิวหนัง ต้องล้างออกยังไง

          การปฐมพยาบาลเมื่อสารเคมีเข้าตา สูดดมสารเคมีเข้าไป หรือสารเคมีมาสัมผัสผิวหนัง แบบนี้จะปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไรได้บ้าง เรื่องนี้ควรศึกษาไว้เผื่อเหตุฉุกเฉิน
ไฟไหม้

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักในพื้นที่โดยรอบ และพบผู้ได้รับบาดเจ็บจากไฟไหม้และสารสไตรีน (Styrene) ที่ปะทุออกมา ขณะเดียวกันสารเคมีที่รั่วไหลยังอาจกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่อาศัยในรอบรัศมี 5-10 กิโลเมตรด้วย เพราะสารเคมีชนิดนี้จะทำอันตรายต่อระบบอวัยวะสำคัญของร่างกาย ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบสร้างเลือด ตับ และระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อได้รับไอระเหยทางการสูดดมจะส่งผลให้เวียนศีรษะ ง่วงซึม ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หมดสติ อีกทั้งยังเป็นสารก่อมะเร็งได้ในระยะยาว

          ดังนั้น หากใครที่ได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะทางปาก จมูก หรือผิวหนัง ถ้ามีอาการไม่รุนแรงมาก สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตัวเองก่อนได้ ตามวิธีดังนี้

1. กรณีสารเคมีเข้าตา

ผู้ได้รับสารเคมีจะรู้สึกระคายเคืองตา ตาแดง ปวดตา จึงต้องรีบปฐมพยาบาลดังนี้

  • ถ้าใส่คอนแทคเลนส์ให้ถอดออก ล้างตาด้วยน้ำสะอาดที่ไหลผ่านตลอดทันที เช่น เปิดน้ำจากสายยาง โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้น้ำไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป หรือจนกว่าจะรู้สึกว่าอาการระคายเคืองลดลง 
  • ถ้ามีขี้ผึ้งป้ายตา ให้นำมาป้ายตา
  • รีบนำตัวส่งแพทย์โดยเร็ว  
สารเคมีเข้าตา

2. กรณีได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ผิวหนัง

หากสารเคมีสัมผัสผิวหนังจะทำให้ผิวหนังแดงและรู้สึกปวด ควรปฐมพยาบาลดังนี้
  • ใช้น้ำสะอาดจากก๊อก หรือน้ำที่ไหลผ่านตลอดเวลา ล้างผิวหนังบริเวณที่ถูกสารเคมีให้มากที่สุดเพื่อให้เจือจาง โดยอาจล้างด้วยสบู่ แต่ไม่ควรล้างสารเคมีในภาชนะ เพราะอาจทำให้สารพิษลงไปในอ่าง 
  • ถ้าสารเคมีเป็นกรดให้รีบถอดเสื้อผ้าออกก่อน เพื่อไม่ให้สารเคมีสัมผัสตัวผู้ป่วย
  • รีบนำส่งโรงพยาบาลหากมีอาการรุนแรง

3. กรณีสูดดมสารเคมีเข้าไป

  • ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวจากสารเคมีที่พร้อมก่อนจึงเข้าไปช่วยเหลือได้
  • รีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีสารพิษนั้น โดยพาไปยังจุดที่มีอากาศบริสุทธิ์
  • ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ผู้ช่วยเหลือต้องประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าหัวใจหยุดเต้น ให้ทำการ CPR ช่วยเหลือทันที และรีบนำส่งโรงพยาบาล

วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง ช่วยคนหัวใจหยุดเต้น-หยุดหายใจให้รอดชีวิต

          สำหรับประชาชนทั่วไป หากพบเห็นเหตุการณ์ ควรโทร. 1669 แจ้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่แพทย์เข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมี ไม่ควรเข้าไปในบริเวณที่มีสารพิษเองเด็ดขาด เพราะอาจได้รับอันตรายไปด้วย   
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมอนามัย 
safey in thai  
Mahidol Channel  
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สารเคมีเข้าตา ปฐมพยาบาลอย่างไร ถ้าสูดดม-สัมผัสผิวหนัง ต้องล้างออกยังไง อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2564 เวลา 13:20:11 11,643 อ่าน
TOP