การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสำลักควัน หรือมีแผลไฟไหม้ เซฟตัวเองยังไงดี

           เมื่อมีเหตุไฟไหม้ คนส่วนใหญ่จะสำลักควันจนช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง และอาจโดนไฟลวกได้ แต่หากเรารู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก็จะช่วยเซฟเราจากอันตรายได้นะ
          เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้เรามักจะเห็นข่าวว่ามีคนสำลักควันไฟ มีคนโดนไฟลวกผิวหนัง และบางรายก็อาการหนัก อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็มี และส่วนใหญ่ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะไม่รู้วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเพลิงไหม้ รวมไปถึงไม่รู้จะปฐมพยาบาลตัวเองอย่างไรเมื่อสำลักควันไฟ ส่งผลให้เสี่ยงต่ออาการรุนแรงได้หากมีคนมาช่วยไม่ทัน ดังนั้นเรามาเรียนรู้วิธี save ตัวเองให้รอดจากเหตุไฟไหม้ และวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสำลักควันไฟหรือมีแผลไฟไหม้กันดีกว่า
เมื่อไฟไหม้ ควรทำยังไงดี
ไฟไหม้

          หากเกิดเพลิงไหม้ หรือได้ยินสัญญาณเตือนภัย ให้ตั้งสติแล้วปฏิบัติตัวตามนี้

     - รีบหาทางออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด โดยใช้บันไดหนีไฟ ห้ามใช้ลิฟต์

     - เลือกหนีลงชั้นล่างอาคาร อย่าวิ่งขึ้นที่สูง เพราะควันไฟและความร้อนจะลอยขึ้นสูง

     - หลีกเลี่ยงการกระโดดลงจากตึก หรือตัวอาคาร เพราะอาจได้รับบาดเจ็บ

     - หากไม่สามารถออกจากอาคารได้ ให้กลับเข้าห้อง ปิดประตู แล้วนำผ้าชุบน้ำจนชุ่มมาอุดตามช่องใต้ประตู หรือช่องต่าง ๆ เพื่ออุดไม่ให้ควันลอดเข้าไปได้

     - หลีกเลี่ยงการหลบอยู่ในจุดอับในอาคาร เช่น ห้องน้ำ ดาดฟ้า เพราะอาจเป็นอันตรายและยากต่อการช่วยเหลือ

     - เปิดหน้าต่างและส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือรีบโทร. 199 ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิง

     - หากจำเป็นต้องหนีออกจากพื้นที่ ให้หาผ้าคลุมศีรษะไว้ หรือหาผ้าชุบน้ำปิดปาก ปิดจมูก หรือใช้ผ้าชุบน้ำห่มตัว เพื่อป้องกันการสูดควันไฟ และเพื่อป้องกันความร้อนจากเปลวไฟ  

     - ย่อตัวลงต่ำในท่าคลาน จากนั้นหาทางออกไปยังพื้นที่ปลอดภัย และอย่าวิ่ง เพราะการวิ่งจะทำให้ร่างกายสูดควันเข้าไปและอาจสำลักควันได้

     - พยายามหายใจสั้น ๆ ทางจมูก อย่าหายใจทางปาก

     - เมื่อออกจากอาคารได้แล้วให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ใกล้เจ้าหน้าที่กู้ภัย และอย่ากลับเข้าไปในอาคารเพื่อช่วยคนอื่นหรือเอาของมีค่าที่ลืมทิ้งไว้ แต่ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงให้เข้าช่วยเหลือแทน และหากมีอาการบาดเจ็บควรรีบปฐมพยาบาลโดยเร็ว

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสำลักควันไฟ
ไฟไหม้

         กลุ่มควันที่เกิดจากเหตุไฟไหม้จะมีสารพิษ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไซยาไนด์ และไนตริกออกไซด์ ซึ่งเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการแสบคอ เยื่อบุหายใจระคายเคือง บวม ทำให้หายใจติดขัด หายใจลำบาก หรืออาจขาดอากาศหายใจหากสูดควันเข้าไปมาก ๆ ดังนั้นต้องรีบปฐมพยาบาลให้ไวก่อนสายเกินแก้ โดยวิธีปฐมพยาบาลเมื่อสำลักควันก็มีดังนี้

     1. นำผ้าชุบน้ำมาปิดบริเวณปากและจมูก เพื่อป้องกันควันไฟลอยเข้าระบบทางเดินหายใจ

     2. พยายามนั่งหลังตรง เพื่อป้องกันการสำลักสารคัดหลั่งที่เกิดจากควันไฟ

     3. หากหายใจติดขัด หายใจลำบาก หรือไอ-จามมาก ให้รีบขอความช่วยเหลือโดยด่วน

          หากสามารถปฐมพยาบาลอาการสำลักควันในผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ได้รวดเร็วและถูกต้อง ก็จะช่วยลดอาการรุนแรงในอนาคตได้

ข้อควรระวังในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยสำลักควัน

          - ไม่ควรใช้น้ำล้างจมูกผู้ป่วย เพราะแพทย์จะประเมินปริมาณเขม่าควันที่ร่างกายผู้ป่วยรับเข้าไปได้ยาก และอาจวินิจฉัยอาการไม่ทัน ที่สำคัญวิธีนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้ความระคายเคืองหรือการผลิตสารคัดหลั่งของร่างกายลดน้อยลงเลย

          - ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเย็นเพื่อลดความร้อนในร่างกาย เพราะไม่ได้ช่วยเท่าไร และผู้ป่วยอาจสำลักน้ำได้

          - หากผู้ป่วยหมดสติ ให้รีบ CPR โดยด่วน หรือโทร. 1669
 

วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง ช่วยคนหัวใจหยุดเต้น-หยุดหายใจให้รอดชีวิต

แผลไฟไหม้ ปฐมพยาบาลอย่างไรดี
ไฟไหม้

          ในกรณีที่มีแผลไฟไหม้ ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้

     1. ใช้น้ำราดเพื่อดับไฟ หรือใช้ผ้าหนา ๆ คลุมตัว

     2. ถอดเสื้อผ้าที่ถูกไฟไหม้ออกจากร่างกาย พร้อมเครื่องประดับต่าง ๆ บนร่างกาย เพราะอาจสะสมความร้อน

     3. หากมีแผลพุพอง มีตุ่มใส ห้ามเจาะส่วนที่พองออกเด็ดขาด แต่สามารถระบายความร้อนออกจากแผล ด้วยการนำผ้าชุบน้ำมาประคบบริเวณบาดแผล หรือจะแช่ลงในน้ำหรือให้น้ำไหลผ่านบริเวณบาดแผลนานประมาณ 10 นาที ก็จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้

     4. พยายามอย่าทายา หรือบรรเทาความร้อนบนแผลด้วยยาสีฟัน หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

     5. หากแผลไฟไหม้มีขนาดใหญ่และแผลมีความลึก หรืออยู่ใกล้อวัยวะที่สำคัญ ควรรีบมาโรงพยาบาลทันที

     6. กรณีเข้าไปช่วยเหลือคนถูกไฟไหม้แล้วพบว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บ ควรห้ามเลือดก่อน และประเมินความรุนแรงของแผลไฟไหม้ แต่ถ้ามีอาการหายใจผิดปกติ เสียงแหบ ต้องรีบช่วยหายใจโดยด่วน หรือหากชีพจรเต้นเบาหรือไม่เต้นต้องรีบปั๊มหัวใจ

          เหตุเพลิงไหม้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเพราะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้นเราควรเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นไว้ หากประสบภัยขึ้นมา หรือพบเห็นผู้ประสบภัย จะได้เอาไว้ช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นนะคะ

บทความเกี่ยวข้องกับการปฐมพยาบาล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสำลักควัน หรือมีแผลไฟไหม้ เซฟตัวเองยังไงดี อัปเดตล่าสุด 29 กรกฎาคม 2564 เวลา 15:31:26 47,800 อ่าน
TOP
x close