เคยไหมคะที่เมื่อขึ้นไปอยู่บนที่สูง ๆ แล้วมองลงไปข้างล่าง รู้สึกเหมือนตัวเองนึกอยากกระโดดลงไป หรือมีอาการโงนเงนคล้ายจะตกตึกแปลก ๆ ทั้งที่ก็ไม่ได้มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรืออาการโรคซึมเศร้าเลยนะ แถมบางคนยังใจกล้า ชะโงกหน้าลงไปมองให้ใจหวิวแปลก ๆ ซะอีก เอาล่ะ...เรามาคลายข้อสงสัยกันดีกว่าว่า อาการอยู่บนที่สูงแล้วนึกอยากกระโดดลงไปข้างล่าง มันเกิดจากอะไรกันแน่
ภาวะนี้หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ แต่ถ้าบอกว่านี่คืออาการที่เหมือนมีแรงดึงดูดให้มองลงไปข้างล่าง ในขณะที่ตัวเองยืนอยูบนที่สูง หรือตอนยืนอยู่ริมผา มองลงมาก็รู้สึกโงนเงนเหมือนจะหล่นตุ้บลงไป แบบนี้คงร้องอ๋อกันบ้างแล้วใช่ไหมคะ ซึ่งอาการแบบนี้เขามีชื่อเรียกกันด้วยนะ ว่า High Place Phenomenon หรือ L\'Appel Du Vide ในภาษาฝรั่งเศสนั่นเอง
ทั้งนี้ High Place Phenomenon เป็นปรากฏการณ์ทางความรู้สึกที่มีนักจิตวิทยาพยายามจะหาคำอธิบายมาหลากหลายทฤษฎี ซึ่งเดี๋ยวเราจะพาไปอ่านกันต่อจากนี้ว่า High Place Phenomenon เกิดจากอะไรกันแน่
ภาพจาก pexels
High Place Phenomenon เกิดจากอะไรกันแน่
นี่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลยล่ะค่ะ เพราะมีการศึกษาจากทีมนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดา ถึงปรากฏการณ์ High Place Phenomenon ซึ่ง Jennifer Hames หัวหน้าทีมวิจัย ได้เผยว่า ทางทีมสำรวจจากอาสาสมัคร 431 คน โดยเป็นการสำรวจผ่านทางออนไลน์กับกลุ่มอาสาในช่วงอายุต่ำกว่าระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่า อาสาสมัคร 1 ใน 3 เคยมีอาการอยู่บนที่สูงแล้วนึกอยากกระโดดลงไป หรือกลัวว่าตัวเองจะกระโดดลงไปโดยไม่รู้ตัว
ทว่าหากดูข้อมูลในเชิงลึกแล้ว ทีมวิจัยก็พบว่า กลุ่มที่มีความวิตกกังวลสูง มักจะเกิดภาวะ High Place Phenomenon บ่อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยนักจิตวิทยาก็อธิบายเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วสัญชาตญาณการป้องกันตัวของคนเราจะทำงานโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ หากรู้ตัวว่ายืนอยู่ในจุดเสี่ยงอันตราย เช่น ริมหน้าผา ริมตึกสูง ๆ ที่ไม่มีที่กั้น หรือแม้กระทั่งใกล้ ๆ รางรถไฟ สัญชาตญาณการป้องกันตัวจะสั่งให้ร่างกายถอยหลังห่างออกจากจุดเสี่ยงเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ความคิดของเราอยู่ในจุดกึ่งรู้สึกตัวกึ่งไม่รู้สึกตัว เลยทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า ตัวเองมีความคิดที่จะกระโดดลงไป แต่ดีที่ยั้งใจได้ทัน
กลุ่มที่เกิด High Place Phenomenon บ่อยรองลงมาคือกลุ่มที่มีความคิดและจินตนาการสูง (Higher ideation) โดยบางคนอาจมองลงไปข้างล่างแล้วจินตนาการว่าถ้ากระโดดลงไปจะเป็นยังไงนะ หรือถ้าลอยอยู่กลางอากาศจะรู้สึกแบบไหน เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่กว่า 50% ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีความคิดอยากฆ่าตัวตายเลยสักนิดด้วยนะคะ
ทั้งนี้ทางทีมวิจัยก็สรุปว่า ภาวะ High Place Phenomenon น่าจะเป็นช่วงของความคิดกึ่งรู้สึกตัวกึ่งไม่รู้สึกตัว ซึ่งก่อให้เกิดจินตนาการกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไปในทิศทางที่แตกต่างกัน และด้วยสัญชาตญาณการป้องกันตัวของมนุษย์เราแล้ว มักจะคิดไปในแง่ร้ายมากกว่าแง่ดีซะด้วย อย่างคิดว่าตัวเองจะกระโดดลงไปข้างล่างอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เราอยากจะย้ำว่า ภาวะ High Place Phenomenon จะไม่เชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับความคิดอยากฆ่าตัวตายนะคะ ซึ่งหากใครไปยืนอยู่บนที่สูง ๆ หรือริมรางรถไฟแล้วอยากกระโดดลงไป โดยที่มีความคิดจิตตกหน่อย ๆ มีความคิดอยากฆ่าตัวตายร่วมด้วย เคสนี้แนะนำให้พบจิตแพทย์โดยด่วน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊กความรู้สนุกๆแบบหมอแมว
medicaldaily
nbcnews
The College of Psychiatric and Neurologic Pharmacists (CPNP)