ปลาพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำริเผยแพร่อาหารโปรตีนราคาถูกให้ประชาชนได้รับประทาน เพราะคนในถิ่นทุรกันดาร ภาคอีสาน ไม่ค่อยมีอาหารโปรตีนรับประทาน ซึ่งอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตได้
ใครเป็นสายกินปลาคงรู้จักปลานิลเป็นอย่างดีแน่นอน
เพราะในปัจจุบันปลานิลมีวางจำหน่ายแทบทุกตลาดในประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นในห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ หรือตลาดท้องถิ่นขนาดเล็กก็ตาม
เห็นได้ชัดว่าปลานิลเป็นปลาที่หากินง่าย แถมราคายังถูกด้วยนะคะ
วันนี้กระปุกดอทคอมเลยถือโอกาสนำเสนอประโยชน์ของปลานิล อาหารเพื่อสุขภาพอย่างหนึ่งที่อยากให้ทุกคนได้รับประทาน
โดยจะเริ่มจากการเล่าประวัติความเป็นมาของปลานิลให้ได้รู้จักปลาน้ำจืดชนิดนี้กันก่อน
ปลานิล ประวัติไม่ธรรมดา
โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำปลาดังกล่าวไปเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ บริเวณหลังพระตำหนักสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต และพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้เป็นภาษาไทยว่า "ปลานิล" ซึ่งมาจากลักษณะของปลาที่มีสีออกดำ หรือสีนิล อีกทั้งยังเข้ากับชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ซึ่งที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของปลาชนิดนี้ ที่สำคัญพระองค์พระราชทานชื่อปลาเป็นชื่อที่สั้น มีความหมายชัดเจน เพื่อให้ง่ายแก่การจดจำสำหรับประชาชนทั่วไปอีกด้วย
ในระยะแรกนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทดลองเลี้ยงปลาทั้ง 50 ตัวด้วยพระองค์เอง ต่อจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายปลาลงเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งเพียงแค่ 5 เดือนเศษ ปรากฏว่าในบ่อที่เลี้ยงมีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อดินเพิ่มขึ้นเป็น 6 บ่อ และเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2508 ก็ได้ทรงปล่อยปลาลงเลี้ยงในบ่อเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่กรมประมงทำการตรวจสอบการเจริญเติบโตของปลาทุกเดือน ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า ปลาชนิดนี้เจริญเติบโตได้รวดเร็วมาก
เมื่อได้ทรงทราบว่าปลานิลเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในประเทศไทย ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลูกปลาดังกล่าว ขนาดความยาว 3–5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว จากบ่อดินในบริเวณพระตำหนักสวนจิตรลดา แก่กรมประมงเพื่อนำไปขยายพันธุ์ ณ แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสถานีประมงต่าง ๆ อีก 15 แห่งทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้ดำเนินการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์พร้อมกัน จากนั้นเมื่อปลานิลแพร่ขยายพันธุ์ออกไปได้มากเพียงพอแล้ว กรมประมงจึงได้แจกจ่ายพันธุ์ปลานิลให้แก่ราษฎรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงตามความต้องการ โดยกรมประมงได้กำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่วันที่กรมประมงได้รับพระราชทานปลานิลมาเป็นวันแจก "ปลานิลพระราชทาน" ให้แก่ราษฎร
ทว่าแม้กรมประมงจะแจกจ่ายพันธุ์ปลานิลที่ทรงเพาะไว้แก่ราษฎรเป็นประจำทุกเดือน กระนั้นจำนวนพันธุ์ปลานิลที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของพสกนิกรที่ต้องการนำพันธุ์ปลาชนิดนี้ไปเพาะเลี้ยง กระทั่งความทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อขนาดใหญ่ในสวนจิตรลดาเพื่มขึ้นอีก 1 บ่อ เพื่อช่วยเร่งผลิตพันธุ์ปลานิลให้เพียงพอแก่ความต้องการของพสกนิกรของพระองค์ต่อไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 จึงได้ทำการปรับปรุงบ่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นแต่จำนวนลดลงเหลือเพียง 7 บ่อ และได้ใช้ในการผลิตพันธุ์ปลานิล ซึ่งนับว่าเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้พันธุ์หนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในนามว่า "ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา" และนับตั้งแต่นั้นมา ประเทศไทยเราก็มีปลานิลรับประทานอยู่ทั่วทุกหัวระแหง สนองพระราชดำริเผยแพร่อาหารโปรตีนราคาถูกให้ประชาชนได้รับประทาน เพราะคนในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ค่อยมีอาหารโปรตีนรับประทาน ซึ่งอาจมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะปัญหาด้านการเจริญเติบโต
อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงไม่โปรดเสวยปลานิล โดยพระองค์ท่านเคยตรัสว่า "ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร"
ปลานิล ปลาน้ำจืดรสชาติดี มีลักษณะอย่างไร
ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำไนล์ ทวีปแอฟริกา ปลานิลมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Nile Tilapia และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus (Linn.) ปลานิลเป็นปลาในวงศ์ Cichlidae มีรูปร่างคล้ายปลาหมอเทศ โดยมีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน แตกต่างกันเพียงปลานิลมีลายสีดำและจุดสีขาวสลับกันไป บริเวณครีบหลัง ครีบก้น และลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล ตรงกลางเกล็ดมีสีเข้ม มีลายดำพาดขวางกลางลำตัว ที่กระดูกแก้มมีจุดสีเข้มอยู่ 1 จุด ขนาดความยาวของตัวปลานิลจะอยู่ประมาณ 10-30 เซนติเมตร
ปลานิลมีคุณลักษณะพิเศษคือกินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง และสัตว์น้ำเล็ก ๆ เป็นปลาที่แพร่ขยายพันธุ์ง่าย มีรสชาติดี มีความอดทนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี ณ ปัจจุบันปลานิลจึงอยู่ได้ทั้งตามแหล่งธรรมชาติ และถูกนำไปเลี้ยงในบ่อเพาะเลี้ยง กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และยังเป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยบริโภคมากที่สุดอีกด้วย
คุณค่าทางโภชนาการของปลานิล
ปลานิลสดปริมาณ 100 กรัม จะให้คุณค่าทางโภชนาการดังต่อไปนี้
- พลังงาน 96 กิโลแคลอรี
- น้ำ 78.08 กรัม
- โปรตีน 20.08 กรัม
- ไขมันทั้งหมด 1.70 กรัม
- แคลเซียม 10 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.56 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 27 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 170 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 302 มิลลิกรัม
- โซเดียม 52 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.33 มิลลิกรัม
- ทองแดง 0.075 มิลลิกรัม
- แมงกานีส 0.037 มิลลิกรัม
- ซีลีเนียม 41.8 ไมโครกรัม
- ไทอะมีน 0.041 มิลลิกรัม
- ไรโบฟลาวิน 0.063 มิลลิกรัม
- ไนอะซิน 3.903 มิลลิกรัม
- กรดแพนโทเทนิก (วิตามินบี 5) 0.487 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 0.162 มิลลิกรัม
- โฟเลท 24 ไมโครกรัม
- โคลีน 42.5 มิลลิกรัม
- โอเมก้า 3 0.12 กรัม
- โอเมก้า 6 0.10 กรัม
นอกจากนี้ปลานิลยังมีสารอาหารอื่น ๆ อีกมาก นับว่าเป็นปลาน้ำจืดคุณภาพระดับพรีเมียม ที่ราคาถูกและหากินได้ง่ายมาก ๆ เลยล่ะ
มาดูกันค่ะว่าปลานิล ปลาน้ำจืดที่เรากินมาตั้งแต่เด็ก ๆ กระทั่งโตแล้วก็ยังได้กินอยู่บ่อย ๆ จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง
1. เพิ่มการทำงานของระบบประสาทและสมอง
ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดที่มีปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 3 ไม่น้อยไปกว่าปลาทะเลน้ำลึกบางชนิด ด้วยเหตุนี้ปลานิลจึงมีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง ช่วยป้องกันความเสื่อมของสมอง และช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้
2. เป็นโปรตีนย่อยง่าย
เนื้อปลาทุกชนิดจัดเป็นอาหารประเภทโปรตีนที่ย่อยง่าย เนื่องจากเนื้อปลาโดยลักษณะตามธรรมชาติจะมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันน้อยกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เมื่อเนื้อปลาสุกจะแยกออกเป็นชิ้น ๆ ตามมัดของกล้ามเนื้อเกี่ยวพัน เนื้อปลาจึงนุ่ม ไม่เหนียวและหดตัวมากเหมือนเนื้อสัตว์อื่น ๆ เมื่อกินปลานิลเข้าไประบบย่อยอาหารของเราจึงไม่ต้องทำงานหนัก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือในเด็กวัยเรียน วัยกำลังเจริญเติบโต ทว่าด้วยความที่เนื้อปลานิลมีก้าง ก็ควรระมัดระวังให้ดี แกะก้างปลาออกให้หมดก่อนรับประทานเข้าไปด้วยนะคะ
3. เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
โปรตีนจากเนื้อปลามีประโยชน์ต่อร่างกายเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรดอะมิโนที่พบในโปรตีนของเนื้อปลา เช่น ไลซีนและทรีโอนีน ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาการทางสมองและการเจริญเติบโตในเด็ก ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อหรือเซลล์ต่าง ๆ ที่สึกหรอ และช่วยเสริมสร้างร่างกายให้เจริญเติบโตตามวัยอันควร
4. เสริมสร้างกระดูกและฟัน ช่วยในการสร้างเม็ดเลือด
เนื้อปลาประกอบไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินหลากหลายชนิด ทั้งวิตามินบี ไนอะซิน อีกทั้งในเนื้อปลายังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กในสัดส่วนที่พอดี จึงสามารถช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ช่วยในการสร้างเม็ดเลือด และป้องกันภาวะโลหิตจางได้
5. ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
กรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายอย่างไลซีนและทรีโอนีน ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารสร้างภูมิคุ้มกันโรค ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วยง่ายด้วยนะคะ
6. ป้องกันความแก่ก่อนวัย
ในเนื้อปลานิลมีคอลลาเจนชั้นดีจากธรรมชาติ ทั้งยังมีโปรตีนช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อและเซลล์ที่สึกหรอ ป้องกันความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ นอกจากนี้กรดอะมิโนที่พบในโปรตีนจากเนื้อปลา ยังมีส่วนช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้น นอนหลับสนิท จึงช่วยชะลอความแก่ของเซลล์ผิวได้อีกทางหนึ่ง
7. ดีต่อหัวใจ
เนื้อปลานิลไม่มีคอเลสเตอรอล หรือไขมันชนิดไม่ดีอันเป็นตัวการก่อโรคเรื้อรังอย่างโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งกรดไขมันโอเมก้า 3 ในเนื้อปลายังช่วยลดการสะสมของคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายได้ด้วย
8. โซเดียมต่ำ
สำหรับผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ที่ควรต้องระมัดระวังอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง ซึ่งอาจส่งผลทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่กำเริบจนถึงขีดอันตรายได้ เคสนี้แนะนำให้กินปลานิลเป็นอาหารได้เลยค่ะ เพราะปลานิลมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างต่ำ สามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องกลัวอาการบวมเค็ม
9. ช่วยลดน้ำหนัก
เนื้อปลาเป็นโปรตีนย่อยง่ายก็จริง แต่ในโปรตีนเหล่านี้ก็มีแร่ธาตุและกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย เมื่อทานเนื้อปลานิลเข้าไปจึงช่วยให้อิ่มเร็ว และอิ่มได้นาน ลดความหิวจุกจิกได้ อีกทั้งปลานิลยังให้พลังงานเพียง 96 กิโลแคลอรีต่อเนื้อปลานิล 100 กรัม และยังจัดเป็นกลุ่มปลาน้ำจืดที่มีปริมาณไขมันต่ำมากด้วยนะคะ ดังนั้นคนที่กำลังลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร ปลานิลถือเป็นเมนูที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
10. ป้องกันภาวะแท้งบุตร
ผลการศึกษาจากโรงพยาบาลเปาโล พบว่า กลุ่มอาสาซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่รับประทานปลาน้ำจืดเป็นประจำ เช่น ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาดุก มีอัตราการแท้งต่ำ และทารกที่คลอดออกมาก็จะมีความเสี่ยงต่ออาการสมาธิสั้นต่ำลงด้วย
ด้วยพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นว่า ปลานิลเป็นปลาที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้ดี เลี้ยงง่าย เติบโตเร็ว น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อพสกนิกรของพระองค์ท่านได้อีกมากมาย จึงทรงส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์และแจกจ่ายแก่ราษฎร ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระราชวินิจฉัยในครั้งนั้น ทำให้ทุกวันนี้ประชาชนทั่วประเทศไทยมีปลานิลเป็นอาหารเพื่อสุขภาพราคาถูกรับประทาน รวมทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนผู้เพาะเลี้ยงปลานิลอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำนักงานประมงจังหวัดอุบลราชธานี
โรงพยาบาลเปาโล
ครอบครัวข่าวเด็ก
National Nutrient Database for Standard Reference