หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไม่ได้มีแค่ทางบก ทางทุรกันดาร หรือในพื้นที่ห่างไกลเท่านั้นนะคะ แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และมีพระประสงค์ให้คนไทยที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้รับการบริการทางสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริด้านสาธารณสุขที่ชื่อว่า เรือเวชพาหน์ เรือพระราชทานรักษาพยาบาลทางน้ำลำเดียวในโลก และวันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักเรือเวชพาหน์ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทางน้ำกันค่ะ
เรือเวชพาหน์ (อ่านว่า เรือ-เวด-ชะ-พา) คือ เรือพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมอบให้แก่สภากาชาดไทยเพื่อให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้ทำการรักษาพยาบาลประชาชนผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีถนนเชื่อมต่อ จำเป็นต้องสัญจรทางน้ำเท่านั้น ทำให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างยากลำบาก ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชดำริให้สร้างเรือเวชพาหน์ขึ้นมาเพื่อบรรเทาทุกข์แก่ราษฎร
ทั้งนี้ภารกิจของเรือเวชพาหน์จะให้บริการตรวจรักษาประชาชนตามพระราชประสงค์ทุกประการ ทั้งด้านตรวจรักษาโรคทั่วไป ด้านทันตกรรม เช่น บริการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ให้บริการสุขศึกษา ให้ภูมิคุ้มกันโรค หรือการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มประยุกต์ รวมไปถึงการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสด้วยปัจจัยการดำเนินชีวิต ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อัคคีภัย ตามวาระและโอกาสต่าง ๆ โดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ
ตั้งแต่เริ่มต้นรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในพื้นที่กันดาร ห่างไกลความเจริญ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงท่ีตามเสด็จฯ ทำการตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ โดยไม่คิดมูลค่า
ทว่าในตอนนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวกสบาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เลยมีพระราชปรารภว่า "ราษฏรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามลำแม่น้ำในหลายตำบล ตั้งอยู่โดดเดี่ยว ยังไม่มีทางหลวงเชื่อมต่อจังหวัด แม้ว่าจะมีการคมนาคมติดต่อกับจังหวัดทางน้ำได้ก็ห่างไกลโรงพยาบาลประจำจังหวัดมาก ถ้าเจ็บป่วยก็ต้องรักษาพยาบาลแผนโบราณ ซึ่งไม่ค่อยได้ผลในโรคหลายอย่าง" จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอู่เรือกรุงเทพฯ จำกัด ต่อเรือยนต์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อพระราชทานให้สภากาชาดไทยใช้เป็นหน่วยเคลื่อนที่รักษาพยาบาลประชาชนตามลำน้ำต่าง ๆ โดยพระราชทานชื่อว่า “เวชพาหน์” และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีพระราชทานเรือ ในวันที่ 19 มกราคม 2498 เวลา 12.00 น. ณ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร
เรือเวชพาหน์ ลักษณะเป็นอย่างไร
เรือพระราชทานเวชพาหน์ เป็นเรือไม้ 2 ชั้น ขนาดกว้าง 3.81 เมตร ยาว 15.69 เมตร สูง 3.75 เมตร กินน้ำลึก 0.85 เมตร เรือลำนี้ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 200 แรงม้า ขนาด 6 สูบ ความเร็วเรือ 12 น็อตต่อชั่วโมง และสามารถบรรทุกผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ 30 คน
ทั้งนี้สำนักพระราชวังได้จดทะเบียน “เวชพาหน์” เป็นเรือยนต์หลวงและให้อยู่ในความดูแลรักษาของฝ่ายเรือยนต์หลวง กองพระราชทานพาหนะ สำนักพระราชวัง ซึ่งจะจัดเจ้าหน้าที่ประจำเรือในการนำออกใช้ปฏิบัติงานตามที่สภากาชาดไทยกำหนดแจ้งขอเป็นครั้งคราว
นับตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2498 ซึ่งเป็นวันพระราชทานเรือเวชพาหน์ และเป็นการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทางน้ำครั้งแรก หลังจากนั้นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ก็ออกปฎิบัติงานแก่ประชาชนผู้อาศัยอยู่ตามฝั่งแม่น้ำตามพระราชประสงค์ตลอดมา ปีละหนึ่งหรือหลายครั้ง ระยะนานบ้าง สั้นบ้าง และงดเป็นบางปี เนื่องจากบุคลากรจำกัดและมีภารกิจบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยฉุกเฉินต่าง ๆ ที่เร่งด่วนก่อน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานเรือลำนี้ เมื่อ พ.ศ. 2498
เพื่อใช้บรรเทาทุกข์และรักษาประชาชน โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้เรือพระราชทานเวชพาหน์ ปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มกราคม–17 กุมภาพันธ์ 2498 ที่จังหวัดนนทบุรี และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2-6 ตุลาคม 2560 ที่จังหวัดปทุมธานี รวมทั้งสิ้น 152 ครั้ง ใน 19 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี กาญจนบุรี ลพบุรี อ่างทอง ราชบุรี ปทุมธานี สมุทรสงคราม นครปฐม อุทัยธานี และสมุทรปราการ โดยมีผู้มารับบริการตรวจรักษาโรค ฝังเข็ม ให้ภูมิคุ้มกันโรค และบริการทางทันตกรรมตลอดระยะเวลา 62 ปี มากกว่า 340,000 ราย
เรือเวชพาหน์ นับเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริด้านสาธารณสุขของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ ทำให้เรายิ่งซาบซึ้งว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ห่วงใยราษฎรทุกคน ทุกชนชั้น ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยทุกตารางนิ้วอย่างแท้จริง
ภาพจาก สภากาชาดไทย, สำนักงาน กปร.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์
สำนักงาน กปร.
สภากาชาดไทย
สภากาชาดไทย