น่าห่วง ! เด็กป่วยมือ เท้า ปาก สายพันธุ์รุนแรงเพิ่มขึ้น 5 เท่า อันตรายถึงชีวิต


มือเท้าปาก

          โรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์รุนแรงระบาดหนักกว่าปีก่อนถึง 5 เท่า ทำเด็กเสียชีวิตแล้ว 3 คน แพทย์ ห่วง ใกล้เปิดเทอมแล้ว ฝนยังไม่หมด อาจทำเด็กติดเชื้อเพิ่ม

          เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2560 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ว่า โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสค็อกซากีเอ 6 เอ 16 ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรงมาก แต่หากเกิดจากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 หรือ EV 71 อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะเชื้อนี้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อสมองอักเสบ โดยเฉพาะตรงแกนสมอง ซึ่งจากสถิติหากเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ติดเชื้อ จะมีโอกาสเสียชีวิต 1 ใน 100 คน ถ้าอายุต่ำกว่า 3 ขวบ โอกาสเสียชีวิตคือ 1 ต่อ 300 คน แต่ถ้าอายุมากกว่านี้โอกาสเสียชีวิตจะน้อยลงคือ 1 ต่อ 3,000 คน โดยปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อ EV 71 เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
          อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบัน กลับตรวจพบเด็กที่ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ที่เกิดจากเชื้อ EV 71 มากถึงร้อยละ 50 หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เท่า จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก โดยที่ห้องแล็บจุฬาฯ มีเด็กมาตรวจประมาณ 500 คน พบว่าติดเชื้อ EV 71 แทบทั้งนั้น และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 คน ขณะที่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นก็พบเด็ก 1 คน ป่วยเป็นมือ เท้า ปาก แล้ววันรุ่งขึ้นก็หอบจนเสียชีวิต เรื่องนี้ถือว่าน่ากังวลเพราะเชื้อโรคมักจะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงหน้าฝน ตราบใดที่ฝนยังไม่หมดก็ยังน่าเป็นห่วง และอีก 2 สัปดาห์โรงเรียนก็จะเปิดเทอมแล้ว อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น เพราะโรคนี้ติดต่อกันง่ายมากผ่านการใช้มือสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำลาย อุจจาระแล้วเข้าสู่ร่างกาย

          ทั้งนี้ นพ.ยง ยังได้แนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง สังเกตอาการของโรคมือ เท้า ปาก โดยเมื่อเด็กได้รับเชื้อประมาณ 3-5 วัน จะเริ่มมีไข้สูง ไข้ไม่ลด จากนั้นอีกหนึ่งวันจะเริ่มมีตุ่ม มีแผลในปาก บริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ รอบทอนซิล กระพุ้งแก้ม มีตุ่มน้ำใส ๆ เล็ก ๆ ปรากฏบนฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในรายที่เป็นมากอาจมีตุ่มขึ้นที่หัวเข่า ข้อศอก รอบก้น มีอาการตาลอย ซึม หัวใจเต้นเร็ว เต้นแรง มีอาการกระตุกที่ปลายมือ ปลายเท้า หอบ น้ำลายฟูมปาก

          นพ.ยง กล่าวด้วยว่า โรคนี้ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือต้องล้างมือบ่อย ๆ ทานอาหารสุก ไม่ใช้ช้อนเดียวกันป้อนอาหารเด็กอนุบาล หากโรงเรียนพบเด็กป่วย 3 คนขึ้นไปควรปิดห้องเรียนทำความสะอาด โดยใช้สารประเภทคลอรีน โซเดียมไฮโปคลอไรด์ ไฮเตอร์ น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือสารกลุ่มฟอร์มาลิน เพราะเชื้อโรคชนิดนี้ไม่สามารถฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ได้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น่าห่วง ! เด็กป่วยมือ เท้า ปาก สายพันธุ์รุนแรงเพิ่มขึ้น 5 เท่า อันตรายถึงชีวิต อัปเดตล่าสุด 16 ตุลาคม 2560 เวลา 13:49:00 23,348 อ่าน
TOP
x close