มะเร็งกระเพาะอาหาร ภัยเงียบที่น่ากลัวของคนในยุคนี้ จริง ๆ แล้วป้องกันได้ เพียงปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ การบริโภค และหมั่นเสริมเกราะป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารด้วยอาหารเหล่านี้
พูดถึงมะเร็ง
โรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมามากมาย และมักจะเก็บตัวเงียบอยู่ในร่างกายเรา
แสดงตัวทีก็ตอนที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปไกล
ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่จึงเสียโอกาสในการรักษา อย่างมะเร็งกระเพาะอาหารเองก็เช่นกันค่ะ
ที่ไม่ค่อยแสดงอาการของโรค
รู้ตัวอีกทีก็เจ็บหนักและสูญเสียกำลังใจไปมากแล้ว
ดังนั้นการป้องกันตัวเองให้ไกลโรคมะเร็งจึงดีที่สุด
ทว่าในปัจจุบัน พฤติกรรมบริโภคอาหารปิ้งย่าง อาหารฟาสต์ฟู้ด บุฟเฟ่ต์ต่าง ๆ เป็นความสะดวกและเป็นวิธีบริโภคอาหารที่นิยมกันมากขึ้น และแน่นอนค่ะว่าความเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหารก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน ฉะนั้นในวันนี้กระปุกดอทคอมจึงถือโอกาสแนะนำวิธีต้านมะเร็งกระเพาะอาหาร ด้วยอาหารต้านมะเร็งกระเพาะอาหารต่อไปนี้
1. มะเขือเทศ
2. ธัญพืชต่าง ๆ
ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือผ่านการขัดสีน้อยที่สุด มักจะมีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในส่วนของเส้นใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ไฟโตนิวเทรียนต์ รวมไปถึงสารต้านอนุมูลอิสระหลาหลายชนิด และด้วยความที่ธัญพืชไม่ขัดสีมีกากใยอยู่มาก จึงสามารถพาสารต่าง ๆ ที่เป็นโทษต่อร่างกายซึ่งเกาะติดบริเวณลำไส้ให้ถูกขับถ่ายออกไป จึงมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงโรคมะเร็งในทางเดินอาหารทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่โรคมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่
ทั้งนี้ธัญพืชไม่ขัดสีที่ช่วยป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้ ก็ได้แก่ ลูกเดือย ถั่วดำ ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต และข้าวบาร์เลย์
3. ข้าวกล้อง
ข้าวกล้องจัดเป็นข้าวที่ไม่ขัดสี และอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ แร่ธาตุหลากหลายชนิด ที่สำคัญคือไฟเบอร์ที่จะช่วยขับเคลื่อนสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายออกไปพร้อมกับระบบขับถ่าย ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อย่างแน่นอน
4. ชาเขียว
ชาเขียวเป็นชาที่ขึ้นชื่อว่ามีสารต้านอนุมูอิสระสูง โดยเฉพาะสาร EGCG ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวสำคัญที่มีอยู่ในชาเขียวเท่านั้น และสารต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้ก็มีคุณสมบัติที่ดีต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับ
ทว่าการดื่มชาเขียวเพื่อป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งชนิดต่าง ๆ ควรจะดื่มชาเขียวร้อนที่เพิ่งชงเสร็จใหม่ ๆ เพราะหากดื่มชาเขียวที่ถูกตั้งทิ้งไว้นาน ๆ หรือถูกแปรรูปมาหลายกระบวนการก็อาจทำให้ชาเขียวสูญเสียคุณค่าดี ๆ ไป เนื่องจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในอากาศที่เกิดกับชาเขียวนั่นเอง
5. กระเทียม
กระเทียมจัดเป็นพืชที่มีสารอนุมูลอิสระสูงมากอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจากสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว ในกระเทียมยังมีสารประกอบสำคัญคือ อัลลิซิน (Allicin) ซึ่งจากการทดลองพบว่า อัลลิซินมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราหลายชนิด มีแนวโน้มที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง และสามารถละลายลิ่มเลือดซึ่งอุดตันเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมอง ช่วยลดความดันโลหิต มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดให้กว้างขึ้น
ที่สำคัญจากผลการวิจัยก็พบว่า กระเทียมสามารถยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้ อีกทั้งยังมีสรรพคุณสมานรักษาแผลในกระเพาะอาหาร กำจัดแบคทีเรียและเชื้อโรคร้ายในกระเพาะอาหาร ซึ่งหากต้องการสรรพคุณนี้จากกระเทียม ควรต้องกินกระเทียมทุบพอแตกสด ๆ วันละ 3 กลีบ แล้วดื่มน้ำอุ่นตาม เพื่อช่วยลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เนื่องจากกระเทียมมีฤทธิ์ร้อน
6. หอมแดง
นอกจากกระเทียมแล้ว หอมแดงก็ยังเป็นอาหารต้านมะเร็งกระเพาะอาหารได้เช่นกัน โดยในหอมแดงมีสารพฤษเคมีที่ชื่อว่า เควอซิติน (Quercetin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ด้วยความที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และมีคุณสมบัติในการป้องกันการอักเสบของร่างกายนั่นเอง
7. ขมิ้นชัน
สมุนไพรอย่างขมิ้นชันมีสรรพคุณทางยาหลายอย่างมาก ๆ ทั้งหน่วยงานไทยและต่างประเทศจึงทำการศึกษาสารชีวเคมีในขมิ้นชันกันมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งพบว่า ขมิ้นชั้นมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิด H. pylori ซึ่งเป็นแบคทีเรียต้นเหตุของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อีกทั้งในขมิ้นชันก็มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างลูทีน แคโรทีนอยด์ และวิตามินซีอยู่สูง ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงมากขึ้นได้
8. เห็ด
เห็ดเกือบทุกชนิดจะมีสารเบต้ากลูแคน ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ต่อต้านเชื้อไวรัส มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ และเป็นยาปฏิชีวนะตามธรรมชาติอีกด้วย นอกจากนี้การศึกษาในหนูทดลองยังพบว่า สารเบต้ากลูแคนมีสรรพคุณในการฆ่าเซลล์มะเร็งในกระเพาะอาหารได้เป็นอย่างดีเลยล่ะค่ะ
และแม้ยังไม่มีการศึกษาทดลองในคนอย่างจริงจัง ทว่าการรับประทานเห็ดก็เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแน่นอนอยู่แล้ว เพราะเห็ดก็จัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพชนิดหนึ่ง
9. ผักผลไม้สีเหลืองและสีส้ม
เช่น แครอท ส้ม มันเทศ พริกหวานสีเหลือง พริกเหลือง อุดมไปด้วยสารเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอ ซึ่งจากการทดลองของชาวสวีเดนพบว่า ผู้ที่ได้รับวิตามินเอและเบต้าแคโรทีนเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าผู้ที่ไม่ค่อยได้รับสารทั้งสองชนิดนี้
10. ผักใบเขียว
ในผักใบเขียวจะมีพฤกษเคมีที่ชื่อว่า ไอโซไทโอไซยาเนต ซึ่งการศึกษาของสถาบัน Linus Pauling Institute (LPI) พบว่า สารไอโซไทโอไซยาเนตสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดในสัตว์ อาทิ โรคมะเร็งในปอด กระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้เล็ก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งช่องท้อง รวมทั้งมะเร็งเต้านมได้
โดยสารไอโซไทโอไซยาเนตจะพบมากในผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักโขม บรอกโคลี และพืชตระกูลกะหล่ำทุกชนิด
นอกจากการรับประทานอาหารต้านมะเร็งกระเพาะอาหารทั้ง 10 ชนิดนี้แล้ว ยังมีวิธีป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการรับประทานของหมักดอง อาหารรสเค็มจัด ของปิ้งย่าง หรืออาหารที่มีดินปะสิวผสม เช่น กุนเชียง หมูเนื้อแดง ไส้กรอก เป็นต้น
อีกทั้งก็ควรงดดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ และรับประทานผัก-ผลไม้ให้มาก ๆ พร้อมกับพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา, healwithfood