x close

ไวรัสโรต้า เชื้อร้ายทำท้องร่วงรุนแรง ยังไม่มียารักษาจริงหรือ ?

ไวรัสโรต้า

          ไขข้อสงสัย ไวรัสโรต้า อันตรายแค่ไหน ที่บอกว่าไม่มียาแก้หรือรักษาให้หายขาดได้นี่จริงไหม...

          สร้างความตื่นตระหนกให้ผู้ที่ได้รับข่าวสารพอสมควร เมื่อโลกออนไลน์ได้แชร์ข้อความให้ระวังโรคไวรัสโรต้าที่กำลังระบาดหนัก เพราะหากติดเชื้อจะทำให้ท้องร่วงอย่างรุนแรง และเป็นเชื้อร้ายที่ยังไม่มียารักษา....

          แต่ในความเป็นจริง โรคไวรัสโรต้าอันตรายจริงหรือไม่ และยังไม่มียาแก้จริงหรือ ?

          ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus) เป็นโรคติดต่อที่มักเกิดในช่วงฤดูหนาว และมักพบผู้ป่วยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มากกว่าผู้ใหญ่ซึ่งพบน้อยมาก เพราะเชื้อมักจะปนเปื้อนมากับน้ำ เครื่องใช้ หรือของเล่นต่าง ๆ และเชื้อยังทนต่อสภาพแวดล้อม สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายวัน หากเด็กไปสัมผัสแล้วนำมือเข้าปากก็จะติดเชื้อได้ง่าย
ไวรัสโรต้า

          โดยอาการแสดงของโรคคือ หลังจากรับเชื้อเข้าไปภายใน 2-10 วัน จะเริ่มมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หากเป็นอย่างไม่รุนแรง อาการไข้และอาเจียนก็จะหายได้เองใน 2-3 วัน แต่อาการที่พบบ่อยคือ ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลวอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง อาจเป็นได้มากกว่า 4 วัน บางคนอาจมีอาการไอและมีน้ำมูกด้วย ซึ่งถ้ามีอาการรุนแรงมากจนมีอาการขาดน้ำจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หากรักษาไม่ทันหรือไม่เหมาะสมก็อาจเกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิตได้

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโรต้าโดยตรง แต่โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเป็นตัวกำจัดเชื้อไปได้เองอยู่แล้ว โดยเชื้อจะถูกขับออกมาทางอุจจาระ ดังนั้นแพทย์จะเน้นรักษาตามอาการและเฝ้าระวังภาวะขาดน้ำของร่างกาย

          ที่ต้องเตือนก็คือ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเอง เพราะยาปฏิชีวนะเป็นยาสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถรักษาอาการติดเชื้อไวรัสได้ ดังนั้นหากมีอาการท้องเสีย ควรดื่มน้ำสะอาดที่ผสมผงเกลือแร่ (ORS) เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายเสียไป และหากอาการมากผิดปกติหรือเป็นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2-3 วัน ควรรีบพบแพทย์โดยทันที

ไวรัสโรต้า

          ในส่วนของการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า สามารถทำได้โดย

          1. หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลล้างมือทั้งก่อนทำอาหาร และภายหลังการใช้ห้องน้ำ

          2. รักษาสุขอนามัยของสมาชิกในบ้านและบริเวณที่ลูกหลานชอบเล่น รวมทั้งหมั่นล้างของเล่นเสมอ

          3. กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน

          4. รับประทานอาหารที่ปรุง "สุก ร้อน สะอาด" ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และการเก็บรักษาที่ปรุงสุกแล้ว ควรแยกจากอาหารหรือวัตถุดิบที่ยังไม่ปรุง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน

          5. ให้วัคซีนป้องกันในเด็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ต้องไม่เกิน 8 เดือน

          สรุปได้ว่า แม้จะยังไม่มียาต้านไวรัสโรต้าโดยเฉพาะ แต่โรคนี้ก็ไม่ได้อันตรายมากนักหากผู้ป่วยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง หรือภูมิต้านทานร่างกายต่ำมาก เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดเชื้อโรคออกไปได้เองตามธรรมชาติ ดังนั้นเราต้องหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรง สามารถป้องกันและต่อสู้กับเชื้อโรคที่อาจจะเข้าสู่ร่างกายได้ทุกเมื่อ


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, กระทรวงสาธารณสุข, กรมควบคุมโรค, ทวิตเตอร์ @mor_maew

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไวรัสโรต้า เชื้อร้ายทำท้องร่วงรุนแรง ยังไม่มียารักษาจริงหรือ ? อัปเดตล่าสุด 10 มกราคม 2561 เวลา 19:18:19 24,424 อ่าน
TOP