มือลั่น สบถคำหยาบบ่อยครั้งไม่ได้ตั้งใจ เช็กอาการให้ไวว่าไม่ได้ป่วยโรคทูเร็ตต์ !

โรคชักกระตุก

          ตีอกชกหัว ตบหน้าตัวเอง หรือชอบสบถคำหยาบคาย อาการเข้าข่ายโรค Tic หรือโรคทูเร็ตต์ (Tourette) กล้ามเนื้อกระตุกเอง ไม่สามารถควบคุมได้

          คำว่ามือลั่น ปากลั่น ที่นำมาใช้เป็นคำพูดคำแซ็วเล่นขำ ๆ แต่กับบางคนไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกเลยค่ะ เพราะอาการมือลั่น พลั้งปากพูดคำสถบ หรือคำหยาบคายออกไป ล้วนแล้วแต่เป็นปฏิกิริยาที่เขาเองไม่มีเจตนาจะแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกไป เพียงแต่เขามีความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า โรคทูเร็ตต์ โรค Tic หรือกลุ่มอาการกล้ามเนื้อกระตุกเอง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ซึ่งวันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักโรคทูเร็ตต์ หรือโรค Tic Disorder กันค่ะ

โรคทูเร็ตต์ คืออะไร

          โรคทูเร็ตต์ (Tourette’s Disorder) หรือโรคทูเร็ตต์ ซินโดรม ถูกวินิจฉัยครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1885 โดยแพทย์ชาวฝรั่งเศสนามว่า Georges Albert Édouard Brutus Gilles de la Tourette ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งชื่อภาวะความผิดปกติดังกล่าวว่า โรคทูเร็ตต์ เพื่อเป็นการให้เกียรตินายแพทย์ผู้พบโรคนี้เป็นคนแรกของโลก

          โดยโรคทูเร็ตต์ คือ โรคที่แสดงอาการกระตุกของกล้ามเนื้อหลาย ๆ มัดพร้อม ๆ กัน มีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการเปล่งเสียงออกมาจากลำคอหรือจมูกแบบทันทีทันใดในลักษณะซ้ำ ๆ โดยอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเองโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว และไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมผิดปกตินั้นได้

          ทั้งนี้รายงานทางการแพทย์พบว่า นายแพทย์ Tourette อธิบายความผิดปกติของผู้ป่วยไว้ว่า ผู้ป่วยมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ เปล่งเสียงหยาบคาย และพูดทวนคำ ซึ่ง ณ ตอนนั้น ทีมแพทย์ได้วินิจฉัยอาการผิดปกตินี้ว่าเป็นโรคทางจิตเวชในกลุ่มความผิดปกติของการพัฒนาระบบประสาท (Neurodevelopmental Disorders)
โรคชักกระตุก

โรคทูเร็ตต์ สาเหตุเกิดจากอะไร

          ปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุของโรคทูเร็ตต์ที่แท้จริงได้ มีเพียงหลักฐานทางการแพทย์ที่พบว่า โรคทูเร็ตต์มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม แต่ก็ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งยีนที่ผิดปกติได้ เพราะผู้ที่มียีนผิดปกติก็ไม่ได้แสดงอาการของโรคทูเร็ตต์ทุกราย ทว่าส่วนมากแพทย์จะตรวจพบความผิดปกติในบางตำแหน่งของสมอง อันได้แก่ สมองส่วนธาลามัส (Thalamus) สมองส่วนเบซัลแกงเกลีย (Basal ganglia) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว และสมองส่วนนอกกลีบหน้า (Frontal cortex) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การออกเสียง ความคิด ความจำ และบุคลิกของแต่ละบุคคล

          อย่างไรก็ตาม มีรายงานพบว่า สาเหตุของโรคทูเร็ตต์อาจมาจากการติดเชื้อที่ส่งผลต่อระดับสารเคมีในสมอง โดยเฉพาะสารเคมีสื่อประสาท ทำให้เซลล์ประสาทมีการกระตุ้นเซลล์ข้างเคียงมากเกินไปอีกด้วย

โรคทูเร็ตต์ใครเสี่ยงเป็นบ้าง


          โรคทูเร็ตต์จะพบมากในเด็กวัยเรียน โดยพบโรคนี้ได้ประมาณร้อยละ 1-3.8 ในเด็กช่วงอายุ 5 ขวบ -18 ปี และมักจะพบว่าเด็กผู้ชายมีอาการมากกว่าเด็กผู้หญิงถึง 2 เท่า ซึ่งจะสังเกตเห็นอาการได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 7-10 ขวบ หรือพบอาการโรคทูเร็ตต์มากขึ้นในช่วงวัยรุ่น และอาการจะเบาลงเมื่อเริ่มเป็นผู้ใหญ่

          อย่างไรก็ตาม จากรายงานไม่พบว่าอาการของโรคทูเร็ตต์ส่งผลให้ระดับสติปัญญาลดลง แต่กลับพบว่า มากกว่าร้อยละ 85 ผู้ป่วยโรคทูเร็ตต์จะมีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล รวมไปถึงปัญหาการนอนหลับ ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (โรคแอลดี) และโรคทางอารมณ์

โรคชักกระตุก

โรคทูเร็ตต์ อาการเป็นอย่างไร


        อาการของโรคทูเร็ตต์มีหลายระดับความรุนแรงด้วยกัน ตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อย ไปจนถึงอาการหนักมาก ๆ โดยสามารถไล่เรียงอาการที่พบบ่อยได้ดังนี้

- ระดับสังเกตเห็นอาการเพียงเล็กน้อย

          มักจะพบครั้งแรกบริเวณใบหน้า เช่น ตาขยิบ หน้าขมุบขมิบ เป็นต้น

- ระดับอาการที่สังเกตเห็นได้ชัด

          ในด้านการเคลื่อนไหว (Motor Tic) อาจสังเกตเห็นอาการบิดคอ ยักไหล่ สะบัดมือ ต่อย เตะ กระโดด เป็นต้น

          ส่วนในด้านการส่งเสียง (Vocal Tic) จะมีอาการตั้งแต่เปล่งเสียงขากเสลด ทำเสียงฟึดฟัดคัดจมูก ไอกระแอม เสียงคราง เสียงเห่า จนถึงการสบถคำหยาบคายต่าง ๆ โดยอาการมักเป็น ๆ หาย ๆ อาจเป็นได้หลายครั้งใน 1 วัน หรืออาการสงบไปหลายวันแล้วกลับมาเป็นใหม่ และอาการอาจมีการเปลี่ยนลักษณะไปเรื่อย ๆ ตามช่วงเวลา โดยแนวโน้มของอาการอาจดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่ได้สังเกตหรือใส่ใจในพฤติกรรมผิดปกติดังกล่าว อาจละเลยการพบแพทย์ ทำให้ขาดการบำบัดรักษาที่ถูกวิธี

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคทูเร็ตต์

          การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคทูเร็ตต์ แพทย์จะดูว่ามีอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหว ซึ่งต้องมีอาการมากกว่า 1 อย่างขึ้นไป ร่วมกับมีอาการผิดปกติทางการส่งเสียงอย่างน้อย 1 อาการ โดยไม่จำเป็นต้องเกิดอาการพร้อม ๆ กัน แต่ต้องมีอาการบ่อยแบบเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องนานมากกว่า 1 ปี โดยไม่มีช่วงที่อาการสงบเกิน 3 เดือน

          นอกจากนี้แพทย์จะวินิจฉัยด้วยว่ามีอาการ Tic ก่อนอายุ 18 ปี โดยไม่ได้เกิดจากสารกระตุ้น เช่น ยาเสพติด หรือโรคทางสมองอื่น ๆ อย่างโรคไข้สมองอักเสบ หรือโรคฮันติงตัน (Huntington’s Disease) ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางสมองโรคหนึ่ง

โรคชักกระตุก

โรคทูเร็ตต์รักษาได้ไหม


          การรักษาโรคทูเร็ตต์สามารถรักษาด้วยยาและด้วยการบำบัดทางพฤติกรรม โดยใช้หลักจิตวิทยามาช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจ ช่วยให้เขาไม่รู้สึกแปลกแยก และให้เขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยมุ่งเน้นการลดความถี่ของอาการ Tic ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะให้ยาในกลุ่มยาต้านเศร้า ยาคลายกังวล ในคนที่มีอาการมาก ๆ หรือมีภาวะโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ร่วมด้วย

          ทว่าหลักสำคัญของการรักษาโรคทูเร็ตต์จำเป็นต้องใช้กำลังใจทั้งจากตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง รวมไปถึงความเข้าใจในโรคที่เขาเป็นอยู่ ไม่ดุ ไม่ด่า ไม่ล้อเลียน ให้ผู้ป่วยเกิดความอับอาย เครียด เสียใจ ซึ่งอาจกระทบให้อาการ Tic มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เมื่อเป็นโรคทูเร็ตต์ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

          - พยายามไม่กังวลกับอาการของตัวเอง

          - พยายามไม่เครียด และควรหาวิธีรีแลกซ์ตัวเองด้วยกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ

          - นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน หรือน้อย เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้อาการ Tic กำริบมากขึ้น

          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ต้องใช้สมาธิ เช่น โยคะ หรือกีฬาที่ต้องเล่นเป็นทีม กีฬาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายตลอด ๆ ซึ่งจะช่วยให้หายกังวลกับความผิดปกติของตัวเองได้

          - พยายามเข้าใจและรู้จักตัวเองให้มากที่สุด โดยควรสังเกตว่าตัวเองสามารถระงับอาการ Tic ได้ด้วยวิธีไหน หรือต้องใช้วิธีไหนเพื่อหยุดอาการ Tic ของตัวเอง

          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นต้องได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้างเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่อาจโดนเพื่อน ๆ ล้อเลียน หรือโดนเพื่อน ๆ แกล้ง เคสนี้ผู้ปกครองควรสอนวิธีรับมือ หรือทางที่ดีควรแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบถึงโรคที่เขาเป็น หรือหากผู้ป่วยยังเป็นเด็กวัยกำลังเรียนรู้ ผู้ปกครองควรรีบสังเกตอาการผิดปกติของเขา และพาไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางบำบัดรักษา นอกจากนี้ก็ควรให้เขาได้ออกสังคมบ่อย ๆ เพื่อให้เขาปรับตัวอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้อย่างปกติ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม สถาบันพระบรมราชชนก
วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
tourette.org
webmd
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มือลั่น สบถคำหยาบบ่อยครั้งไม่ได้ตั้งใจ เช็กอาการให้ไวว่าไม่ได้ป่วยโรคทูเร็ตต์ ! อัปเดตล่าสุด 1 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 11:33:53 20,693 อ่าน
TOP
x close