x close

เปลี่ยนผู้เสพให้เป็นคนใหม่ ขอแค่เข้าใจและให้โอกาส

 ปปส.

          ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในสังคม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน วันนี้ ! รัฐบาลมีนโยบายให้โอกาส สำหรับผู้ที่เคยหลงผิดที่ถูกเจ้าหน้าที่พบตัว ไม่ว่าจะเสพหรือติดยาเสพติด ด้วยการส่งตัวไปบำบัดฟื้นฟูด้วยความสมัครใจ พร้อมทั้งช่วยเหลือด้วยการฝึกอาชีพ จัดหางาน และมอบทุนประกอบอาชีพ ให้ผู้เสพสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง
ปปส.

ศูนย์เพื่อการคัดกรอง...จุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่
 
ปปส.

          ขั้นตอนการบำบัดฟื้นฟูเริ่มต้นที่ "ศูนย์เพื่อการคัดกรอง" ที่จะทำหน้าที่คัดกรองและจัดทำแผนการบำบัดฟื้นฟูที่เหมาะสมให้กับผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ซึ่งทุกขั้นตอนจะอยู่ในความดูแลของหน่วยงานด้านสาธารณสุข โดยขั้นตอนการบำบัดฟื้นฟูมีดังต่อไปนี้

          1. หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบผู้ต้องสงสัยที่มีผลการตรวจปัสสาวะพบสารเสพติด และแสดงความยินยอมเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู

          2. เจ้าหน้าที่จะนำตัวผู้ต้องสงสัยไปยังศูนย์เพื่อการคัดกรอง เพื่อคัดกรองและจัดทำแผนการบำบัดฟื้นฟูที่เหมาะสมให้แก่ผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด แต่ถ้าอยู่นอกเวลาราชการ เจ้าหน้าที่จะนำตัวไปสถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันและนัดวันเวลาเพื่อไปแสดงตัว ณ ศูนย์เพื่อการคัดกรอง

          3. เมื่อผู้ต้องสงสัยมาแสดงตัว ณ ศูนย์เพื่อการคัดกรอง เจ้าหน้าที่คัดกรองจะดำเนินการแบ่งผู้เสพออกเป็นระดับต่าง ๆ ตามสภาพการเสพติด พร้อมนัดหมายให้ไปยังสถานบำบัดฟื้นฟู

ระดับของผู้เสพกับปลายทางแห่งความหวัง

          ผู้เสพแบ่งตามสภาพการเสพติดเป็น 3 ระดับ ได้แก่

ปปส.

ระดับที่ 1 ผู้ใช้  
     
          ผู้ที่ใช้ยาเสพติดเป็นครั้งคราว กลุ่มนี้จะถูกส่งตัวไปบำบัดฟื้นฟูยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขึ้นไป สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

ระดับที่ 2 ผู้เสพ   

          ผู้ที่ติดใจในการเสพ มีความสุขเมื่อเสพ และมีแนวโน้มเสพบ่อยขึ้น กลุ่มนี้จะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป สังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ระดับที่ 3 ผู้ติด

          ผู้ที่หมกมุ่นในการเสพ มีอาการเมายา ส่งผลเสียต่อการเรียนหรือการทำงาน กลุ่มนี้จะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลเฉพาะทาง สังกัดกรมการแพทย์ สังกัดกรมสุขภาพจิต หรือโรงพยาบาลของรัฐอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู

          แต่ถ้าผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูไม่มาแสดงตัวหรือขาดการรายงานตัวโดยไม่มีเหตุอันควร จะถูกพนักงานสอบสวนดำเนินการตาม พ.ร.บ. ฟื้นฟู คือ ถูกควบคุมตัวชั่วคราวไม่เกิน 45 วัน และส่งเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูระยะยาว 120 วัน

ปปส.
 
คืนทุกคนสู่ครอบครัวและสังคมอย่างมีคุณภาพ

ปปส.

          ในช่วงท้ายของการบำบัดฟื้นฟูจะมีการพัฒนาทักษะฝีมือ ฝึกอาชีพ และจัดหางานให้แก่ผู้ต้องสงสัย เพื่อสร้างทางเลือกในชีวิตที่ดีกว่า และทำให้ไม่ต้องหันกลับไปพึ่งพายาเสพติด ซึ่งเมื่อผ่านการบำบัดฟื้นฟูจนครบกระบวนการแล้ว ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูจะได้รับเอกสารรับรองและมีการติดตามช่วยเหลือ เพียงมาแสดงตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 12 เดือน เพื่อป้องกันการกลับไปติดซ้ำ

          "นี่คือโอกาสครั้งสำคัญที่ผู้เสพทุกคนจะได้เลือกหนทางชีวิตใหม่ที่ดีกว่า โดยไม่ต้องหันกลับไปพึ่งพายาเสพติด"

          "ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย" สมัครใจเข้าบำบัด ไม่เสียประวัติ ไม่มีความผิด

          คลิกดูคลิปวิดีโอเพิ่มเติมได้ที่

https://www.youtube.com/embed/eVgZhfPl5GE?feature=oembed

 
สนับสนุนข้อมูล โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปลี่ยนผู้เสพให้เป็นคนใหม่ ขอแค่เข้าใจและให้โอกาส อัปเดตล่าสุด 12 มีนาคม 2561 เวลา 18:11:22 2,109 อ่าน
TOP