ดื่มน้ำแร่ประจำ ทำให้เป็นนิ่วได้จริงไหม ?

น้ำแร่

          ดื่มน้ำแร่ทำให้เป็นนิ่วได้จริงหรือ คำถามที่หลายคนสงสัย ได้เวลาหาคำตอบ !

          เชื่อเลยว่ามีหลายคนไม่กล้าดื่มน้ำแร่ เพราะคิดว่าถ้าดื่มน้ำแร่ประจำจะทำให้มีแร่ธาตุไปสะสมในกระเพาะปัสสาวะ จนเป็นนิ่วเอาได้ง่าย ๆ แต่ความเชื่อนี้จริงเท็จแค่ไหน เรานำข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาบอกให้คลายสงสัยแล้วล่ะ

          ก่อนอื่นมารู้จักน้ำแร่กันก่อนว่า จริง ๆ แล้ว "น้ำแร่" ก็คือน้ำที่ได้จากแหล่งธรรมชาติ เช่น น้ำพุร้อน ซึ่งมีแร่ธาตุละลายอยู่ในน้ำหลายชนิด เช่น น้ำแร่ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate waters), น้ำแร่ซัลเฟต (Sulfate water) น้ำแร่ซัลเฟต-ไบคาร์บอเนต (Sulfate-bicarbonate waters), น้ำแร่แคลเซียม (calcium water) เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดให้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน และมีรสชาติต่างกันไปด้วย
น้ำแร่

          อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกคนจะดื่มน้ำแร่ได้ และไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มน้ำแร่แล้วจะได้ประโยชน์ เพราะมีคนบางกลุ่มที่หากดื่มน้ำแร่โดยไม่ระวังอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ นั่นก็คือ

          - ผู้ที่บวมน้ำ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีการทำงานของหัวใจไม่ดี ไม่ควรดื่มน้ำแร่ทุกชนิด

          - ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ไม่ควรดื่มน้ำแร่ที่มีปริมาณโซเดียมสูง

          - ผู้ที่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารปริมาณมาก มีแผลในกระเพาะอาหารและความดันโลหิตสูง ไม่ควรดื่มน้ำแร่เกลือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride waters)

          - ผู้ป่วยที่มีโรคทางระบบทางเดินหายใจที่มีภาวะหลอดลมหดเกร็ง ไม่ควรดื่มน้ำแร่ซัลเฟอร์ (Sulfurous waters)

          - ผู้ป่วยที่มีภาวะ gastric hypochilia ไม่ควรดื่มน้ำแร่ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate waters)

          - ผู้ป่วยที่มีโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารและมีแผลในทางเดินอาหาร ไม่ควรดื่มน้ำแร่ซัลเฟต (Sulfate waters)

          ส่วนใครที่อยากทราบว่า เราจำเป็นต้องดื่มน้ำแร่ไหม ดื่มแล้วดีกว่าน้ำเปล่าธรรมดาหรือเปล่า ลองอ่านข้อมูลที่กระทู้นี้ดูค่ะ

          - ความจริงของน้ำแร่ ที่แท้ต่างจากน้ำเปล่าธรรมดาตรงไหน 

          ทีนี้มาพูดถึง "นิ่ว" กันบ้าง นิ่วเกิดจากเกลือแร่หรือหินปูนที่รวมตัวกันเป็นผลึกจนกลายเป็นก้อนนิ่ว อันเนื่องมาจากความเข้มข้นของเกลือแร่ในปัสสาวะสูง เช่น ดื่มน้ำน้อยกว่าปกติ หรือรับประทานอาหารบางประเภทที่มีเกลือแร่ขับออกมาทางน้ำปัสสาวะมาก เช่น พวกเครื่องในสัตว์ หรือพวกผักสด หน่อไม้ เป็นต้น จึงเป็นสาเหตุให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้

          ดังนั้น สรุปได้ว่าการดื่มน้ำแร่ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดนิ่วอย่างที่เข้าใจกัน

น้ำแร่

ทำอย่างไรไม่ให้เป็นนิ่ว !

          หากไม่อยากเป็นนิ่วก็มีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวตามนี้เลย

          - ดื่มน้ำมาก ๆ ให้ได้มากกว่าวันละ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตร เพื่อลดโอกาสการก่อผลึกนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
          - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนและสัดส่วนที่เหมาะสม
          - หลีกเลี่ยงอาหารหวานมาก-เค็มมาก
          - หลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น หนังสัตว์ปีก ตับ ไต
          - หลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่มีออกซาเลตสูง เช่น ใบชะพลู หน่อไม้ ผักโขม หัวผักกาด หัวไชเท้า ขึ้นฉ่าย คะน้า มะเขือ แครอท แอปเปิล เบียร์ น้ำอัดลม ใบชา กาแฟ โกโก้

          เข้าใจตรงกันแล้ว หากใครไม่ได้มีปัญหาสุขภาพอย่างที่กล่าวไปแล้วอยากดื่มน้ำแร่ ก็สามารถดื่มได้โดยไม่ต้องกังวลว่าดื่มแล้วจะเป็นนิ่วค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดื่มน้ำแร่ประจำ ทำให้เป็นนิ่วได้จริงไหม ? อัปเดตล่าสุด 15 มีนาคม 2561 เวลา 14:10:42 27,953 อ่าน
TOP
x close