ไวรัสนิปาห์ โรคติดต่ออันตราย เป็นแล้วยังไม่มียาใดรักษาได้ !

          มาทำความรู้จักโรคติดต่อที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาอาการให้หายขาด พร้อมศึกษาให้รู้ว่าไวรัสนิปาห์เกิดจากอะไร
ไวรัสนิปาห์

          หลายคนอาจได้ยินข่าวโรคนิปาห์ หรือโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ที่ระบาดในต่างประเทศและเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตกันบ้างแล้ว ซึ่งก็คงจะก่อให้เกิดความตระหนกตกใจ รวมไปถึงเกิดความสงสัยว่าโรคไวรัสนิปาห์คืออะไรกันแน่ ดังนั้นกระปุกดอทคอมจึงนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไวรัสนิปาห์มาให้ทุกคนได้ทำความรู้จักโรคติดต่อชนิดนี้ไปพร้อมกันเลยค่ะ

ไวรัสนิปาห์ คืออะไร
       
          โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่งซึ่งมีพาหะจากสัตว์ เช่น ค้างคาวผลไม้ สุกร ม้า แมว แพะ หรือแกะ เป็นต้น โดยเชื้อไวรัสนิปาห์จะก่อให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงของระบบหายใจ เกิดภาวะสมองอักเสบจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

          ทั้งนี้มีรายงานการพบโรคสมองอักเสบนิปาห์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 โดยในช่วงนั้นเกิดการระบาดของโรคไวรัสนิปาห์ในประเทศมาเลเซีย อินเดีย บังกลาเทศ และสิงคโปร์

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์ สาเหตุเกิดจากอะไร

          ไวรัสนิปาห์เกิดจากเชื้อก่อโรคที่ชื่อว่า เชื้อนิปาห์ไวรัส (Nipah virus) ไวรัสชนิดนี้จัดอยู่ใน Family paramyxoviridae, Genus Henipavirus ลักษณะจะคล้ายเชื้อเฮนดราไวรัส (Hendra virus) โดยมีค้างคาวกินผลไม้เป็นแหล่งของเชื้อไวรัส และมีสัตว์ชนิดอื่น ๆ อย่างสุกร สุนัข แมว แพะ และแกะ ที่ติดเชื้อไวรัสนิปาห์จากการสัมผัสหรือกินวัตถุปนเปื้อนปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำลายของค้างคาวที่เป็นพาหะ

          อย่างไรก็ตาม สัตว์ชนิดอื่นอาจติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้จากการสัมผัสวัตถุหรือกินอาหารและน้ำที่มีเชื้อไวรัสนิปาห์ปนเปื้อนอยู่ได้เช่นกัน และเชื้อไวรัสนิปาห์ยังติดต่อกันได้โดยการสัมผัสหรือหายใจเอาเชื้อไวรัสเข้าไปด้วย (พบการติดต่อลักษณะนี้ได้ในสุกร)

      
ไวรัสนิปาห์ติดต่อสูคนได้อย่างไร

          คนจะติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้จากการสัมผัสสุกรที่ติดเชื้อชนิดนี้อย่างใกล้ชิด หรืออาจติดเชื้อจากการรับประทานผลไม้ที่ปนเปื้อนน้ำลายและปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้ ที่สำคัญยังมีรายงานที่พบว่า เชื้อไวรัสนิปาห์สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ หลังจากมีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิดด้วยนะคะ

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์ อาการเป็นอย่างไร

          อาการของโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ในระยะแรก ๆ มักไม่ค่อยมีอาการ โดยเชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์โดยเฉลี่ย อาการป่วยในระยะแรกจะคล้ายอาการของไข้หวัด โดยมีลักษณะตามนี้

          - มีไข้สูง

          - ปวดศีรษะ

          - ปวดกล้ามเนื้อ

          - วิงเวียนศีรษะ

          - ปอดบวม

          - เดินเซ

          - เซื่องซึม

          - สับสน

          - ชักเกร็ง

          ทั้งนี้อาการจะค่อย ๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงขั้นโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด​ ซึ่งผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์จะมีอัตราเสียชีวิตอยู่ราว ๆ ร้อยละ 40

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์ รักษาอย่างไร

          ไวรัสนิปาห์ถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายเพราะในปัจจุบันยังไม่มียาตัวใด หรือวัคซีนชนิดใดที่ใช้ในการรักษาไวรัสนิปาห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำได้เพียงรักษาตามอาการแสดงของผู้ป่วยร่วมกับการให้ยาต้านไวรัสไรบาไวริน (Ribavirin) ซึ่งพอจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้บ้าง

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์ ป้องกันอย่างไรดี

          เราสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ โดยปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

          - ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์ เนื้อสัตว์ หรือซากสัตว์ทุกชนิด

          - รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สด ใหม่ เสมอ

          - ไม่รับประทานผลไม้ที่ตกอยู่กับพื้น โดยเฉพาะผลไม้ที่มีร่องรอยการกัดแทะ

          - หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่ไม่สะอาด หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะปนเปื้อนน้ำลายหรือปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้

          - ชำระล้างเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน ไอโอดีน เป็นต้น

          - ห้ามรับประทานเนื้อค้างคาวโดยเด็ดขาด

          - หากพบสัตว์ป่วยด้วยกลุ่มอาการไข้สมองอักเสบให้กำจัดสัตว์ที่ป่วยและสัตว์ร่วมฝูง และทำลายซากด้วยการเผาหรือฝัง โดยห้ามเคลื่อนย้ายซากสัตว์ออกจากจุดเกิดโรคในรัศมี 2 กิโลเมตร จากนั้นควรแจ้งให้สัตวแพทย์ทราบโดยด่วน

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์กับสถานการณ์ระบาดในต่างประเทศ

          ณ วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ล่าสุดพบผู้ป่วยยืนยันแล้ว 16 ราย ผู้ต้องสงสัยและรอผลยืนยันอีก 12 ราย รวมเป็น 28 ราย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 14 ราย โดยการระบาดของโรคติดต่อชนิดนี้ยังพบในประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกาเท่านั้น ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศอื่น

ไวรัสนิปาห์กับสถานการณ์ระบาดในประเทศไทย

          จากการรายงานของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสนิปาห์ในประเทศไทยแต่อย่างใด ทว่ากรมควบคุมโรคก็มีมาตรการเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสนิปาห์อย่างต่อเนื่องทั้งนอกประเทศและในประเทศไทย

          โดยทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกประกาศให้โรคติดเชื้อ "ไวรัสนิปาห์" (Nipah) เป็น "โรคติดต่ออันตราย" ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อยกระดับให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และหากพบผู้ป่วยจะต้องรายงานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง เพื่อทำการสอบสวน พร้อมเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศโดยเฉพาะจากประเทศอินเดีย เพื่อเป็นการควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดในประเทศไทยได้

ไวรัสนิปาห์

          ได้ทราบกันแล้วว่าไวรัสนิปาห์เกิดจากอะไร อันตรายอย่างไร และมีแนวทางป้องกันด้วยวิธีไหนบ้าง ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิตของเราและคนที่เรารัก ก็ควรดูแลสุขอนามัยของตัวเองและครอบครัวอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินควรกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ด้วยนะคะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไวรัสนิปาห์ โรคติดต่ออันตราย เป็นแล้วยังไม่มียาใดรักษาได้ ! อัปเดตล่าสุด 4 มิถุนายน 2561 เวลา 15:13:32 30,824 อ่าน
TOP
x close