เข้าใจภาวะ Refeeding syndrome อดอาหารมานาน แต่ยังรีบกินไม่ได้ !

          สาระน่ารู้...ภาวะ Refeeding syndrome ที่คนอดอาหารมาหลายวันต้องระวัง หากรีบกินอาหารทันที อาจมีความเสี่ยงถึงชีวิต
เด็กติดถ้ำหลวง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thai Navy SEAL

          สร้างความดีใจให้คนไทยทั้งประเทศเมื่อมีข่าวว่าทีมกู้ภัยพบ 13 ชีวิตทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนแล้ว โดยทุกคนปลอดภัยดี แต่มีอาการอ่อนเพลียและรู้สึกหิวเนื่องจากไม่ได้กินอาหารมานานเกือบ 10 วัน อย่างไรก็ตาม จากที่มีข่าวว่าจะให้โค้ชและเด็ก ๆ ได้กินอาหารเพื่อบรรเทาความหิวและเติมพลังงานให้ร่างกายนั้น ก็ได้มีเสียงเตือนจากแพทย์และนักวิชาการออกมาว่า อย่าเพิ่งรีบนำอาหารหนัก ๆ ไปให้ผู้ประสบเหตุกิน เพราะหากเกิดอาการ Refeeding syndrome ขึ้นมา จะเป็นอันตรายถึงชีวิต เราลองไปทำความเข้าใจอาการ Refeeding syndrome กันดูว่าเป็นอย่างไร

ถ้ำหลวง
อาหารอวกาศ
ภาพจาก AMARIN 34HD

Refeeding syndrome คืออะไร

          จากข้อมูลของเภสัชกร ผู้ใช้ทวิตเตอร์ ภก.เฮียกล้วย และอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า ภาวะ Refeeding syndrome คือ ภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหารมานาน จนร่างกายปรับตัวดึงแร่ธาตุในเซลล์ไปใช้แทนน้ำตาลกลูโคส ดังนั้นถ้าหากคนที่อดอาหารมานานได้กินอาหาร หรือได้รับสารอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงเข้าไปทันที ไม่ว่าจะผ่านการกินทางปาก หรือการให้ทางหลอดเลือดดำก็ตาม จะกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนที่ของอิเล็กโทรไลต์เข้าสู่เซลล์อย่างรวดเร็ว

          อธิบายง่าย ๆ ก็คือ เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารเข้าไปแล้ว ร่างกายจะรีบนำแร่ธาตุที่ได้คืนมาไปชดเชยเซลล์ที่ยืมมาใช้ แต่ก่อนที่แร่ธาตุจะเข้าไปในเซลล์ได้ จะต้องดูดเข้าไปในกระแสเลือดก่อน แต่เมื่อดูดซึมเข้าไปแล้ว สารอาหารสำคัญในกระแสเลือด อย่างเช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม วิตามินบี 1 ก็จะเข้าไปในเซลล์ทั้งหมดด้วยอย่างรวดเร็ว ทำให้เกลือแร่ในเลือดลดต่ำลง อาจมีภาวะสมดุลน้ำและโซเดียมผิดปกติ ซึ่งภาวะเช่นนี้จะส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งระบบสมอง ประสาท กล้ามเนื้อ และทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้นจนเสียชีวิตได้เลย อย่างไรก็ตาม ในบางคนอาจไม่เป็นอะไรหรือไม่มีอาการตามที่กล่าวมา เพราะตามกลไกปกติ ร่างกายจะมีการรักษาสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายเองได้ในระดับหนึ่ง

refeeding syndrome

Refeeding syndrome ป้องกันได้อย่างไร

          เพื่อเป็นการป้องกันภาวะ Refeeding syndrome แพทย์จะต้องตรวจร่างกายผู้ที่ขาดอาหารมานานเพื่อประเมินสภาพร่างกายเสียก่อน จากนั้นจึงเริ่มให้อาหารตามลำดับขั้นตอนคือ 
 
          - เจาะเลือดตรวจระดับอิเล็กโทรไลต์ ระดับฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และโพแทสเซียมในเลือด

          - ให้กินวิตามินบี 1 (ไทอามีน) 200-300 มิลลิกรัมต่อวันทางปาก หรือกินวิตามินบีรวม 1-2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หรือให้วิตามินบีรวมทางหลอดเลือดดำ ร่วมกับวิตามินรวม/แร่ธาตุรวม วันละ 1 ครั้ง

          - เริ่มให้สารอาหารทีละน้อย ไม่เกิน 10 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม/วัน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณพลังงานและสารอาหารอย่างช้า ๆ จนถึงระดับเป้าหมายภายใน 4–7 วัน แต่หากคนไข้มีภาวะทุพโภชนาการ ให้เริ่มต้นให้สารอาหารไม่เกิน 5 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม/วัน

          - ระหว่างนี้แพทย์ต้องตรวจและประเมินสภาพร่างกายอย่างใกล้ชิด โดยให้สารน้ำชดเชยอย่างเพียงพอ ติดตามระดับฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และโพแทสเซียมอย่างใกล้ชิด ให้อิเล็กโทรไลต์ชดเชยหากมีภาวะอิเล็กโทรไลต์ในเลือดต่ำ

          - ติดตามอาการจนครบ 2 สัปดาห์

          อย่างไรก็ตาม ใครที่ติดตามข่าวการช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนอยู่ก็ไม่ต้องวิตกกังวลไป เพราะทีมแพทย์ที่เข้าไปช่วยเหลือทราบเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว และเตรียมพร้อมดูแลเด็ก ๆ อย่างเต็มที่เพื่อคืนทุกคนกลับสู่อ้อมกอดของพ่อแม่อย่างปลอดภัย

ขอบคุณข้อมูลจาก
ป้า อคาเดมี่
เฟซบุ๊ก Drama-addict  


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เข้าใจภาวะ Refeeding syndrome อดอาหารมานาน แต่ยังรีบกินไม่ได้ ! อัปเดตล่าสุด 4 กรกฎาคม 2561 เวลา 16:47:26 10,550 อ่าน
TOP
x close