x close

รู้ให้ชัด ! "PrEP-PEP" ยาต้านไวรัส HIV ลดเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีได้แค่ไหน ?

          ใครมีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ HIV ต้องศึกษาเรื่องยาต้านไวรัส PrEP - PEP ไว้ป้องกันตัวเอง

ยาต้านไวรัส HIV

          ในสังคมยุคนี้ที่บางคนเห็นการเปลี่ยนคู่นอนเป็นเรื่องสนุก นั่นกลับทำให้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หนึ่งในนั้นก็คือการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่จากข้อมูลปี 2562 พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 15 คน และผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีมีจำนวนไม่น้อยเลย ถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลพอสมควร

ยาต้านไวรัส HIV

* เชื้อ HIV คืออะไร อันตรายแค่ไหน ?

          หลายคนเข้าใจว่า การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) คือ โรคเอดส์ แต่จริง ๆ แล้ว HIV ไม่ได้หมายถึงโรคเอดส์เสมอไปนะคะ หากแต่เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จนเสี่ยงกับโรคฉวยโอกาสที่จะเข้ามาแทรกแซงเราในตอนที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังอ่อนแอ ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

          และอย่างที่ทราบกันว่า หลัก ๆ แล้ว เชื้อเอชไอวีติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการสวมถุงยางอนามัย และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ แต่สำหรับกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากการสวมถุงอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ปัจจุบันยังมียาต้านไวรัสที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้ทั้งก่อนและหลังสัมผัสเชื้อ อย่างที่เราเรียกว่า ยาเพร็พ (PrEP) และยาเป๊ป (PEP) ลองไปรู้จักประสิทธิภาพของยาทั้งสองชนิดกันค่ะ

* ยาเพร็พ (PrEP) กินก่อนป้องกันติดเชื้อ !

ยาต้านไวรัส HIV

เพร็พ (PrEP) คืออะไร ?

          PrEP ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis คือการให้ยาต้านไวรัสก่อนมีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี ซึ่งก็คือให้คนที่ยังไม่ได้รับเชื้อกินยาไว้ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการติดเชื้อนั่นเอง ประกอบด้วยตัวยา 2 ชนิดคือ Tenofovir (TDF) และ Emtricitabine (FTC)

ใครควรกินยาเพร็พ (PrEP) ?

          เราไม่จำเป็นต้องกินยาเพร็พหากเราไม่มีความเสี่ยง เพราะยาเพร็พจะให้สำหรับคนที่น่าจะสุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนทั่วไป เช่น

          - กลุ่มหญิงชายที่เสี่ยงติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่ทราบว่าติดเชื้อหรือไม่
          - ผู้ที่มีแฟนติดเชื้อเอชไอวี
          - คนที่่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีคู่นอนหลายคน
          - กลุ่มชายรักชาย
          - ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ
          - ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด
 
          ทั้งนี้ ยาเพร็พถือว่ามีประโยชน์กับกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เช่น หากเกิดกรณีเมาแล้วลืมสวมถุงยางอนามัย หรือถุงยางอนามัยเกิดฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์ ก็ยังมีตัวยาเพร็พคอยป้องกันเชื้อเอชไอวีไว้อีกขั้น

          อย่างไรก็ตาม ก่อนจะกินยาเพร็พ แพทย์จะต้องตรวจเลือดให้แน่ใจก่อนนะคะว่ายังไม่ได้ติดเชื้อมา โดยหากผลเลือดเป็นลบก็จะกิน PrEP ได้ พร้อมกันนี้ก็ยังต้องตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และตรวจการทำงานของไตด้วยว่าเป็นปกติหรือไม่ 

ยาต้านไวรัส HIV

ยาเพร็พ (PrEP) กินอย่างไร ป้องกัน HIV ได้จริงหรือ ?

          ที่ต้องจำให้แม่นเลยก็คือ ต้องกินยาทุกวัน ๆ ละ 1 เม็ด จะช่วยป้องกันเชื้อเอชไอวีได้สูงถึง 90% เลย แต่ผู้กินยาต้องมีวินัยอย่างเคร่งครัด คือต้องกินยาตรงเวลาทุกวันอย่างสม่ำเสมอ จึงช่วยลดโอกาสการติดเชื้อเอชไอวีได้ ไม่ใช่กินเฉพาะเวลาที่จะมีเพศสัมพันธ์เท่านั้นนะคะ ไม่เช่นนั้น ยาเพร็พจะไม่ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้เลย

          นอกจากนั้น ผู้ที่กินยาเพร็พยังต้องหมั่นตรวจเลือดเพื่อดูการติดเชื้อหรือดื้อยาด้วย เพราะหากดื้อยาและพบว่าติดเชื้อ HIV แล้ว จะต้องหยุดกินยาเพร็พทันที และให้การรักษาด้วยยาเป๊ปแทน

ต้องกินยาเพร็พไปตลอดชีวิตหรือไม่ ?

          หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วแบบนี้เราต้องกินยาเพร็พไปตลอดชีวิตเลยหรือไม่ จึงจะป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้...คำตอบก็คือ ไม่จำเป็นค่ะ เราจะกินยานี้เฉพาะในช่วงที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือช่วงเวลาที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่เท่านั้น แต่หากแน่ใจว่าไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็เลิกกินได้ แต่ก็ควรไปตรวจหาการติดเชื้อทุก 3 เดือน

          และต้องบอกอีกว่า การกินยาต้านไวรัสก่อนติดเชื้อเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันเอชไอวี แต่เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันสูงสุดควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น โรคหนองใน โรคซิฟิลิส โรคแผลริมอ่อน โรคเริม โรคหูดหงอนไก่ ได้ด้วย
 
ยาต้านไวรัส HIV

ยาเพร็พ ผลข้างเคียงมีไหม ?

          ในบางรายที่กินยาช่วงแรก ๆ อาจเกิดผลข้างเคียงได้บ้างเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ น้ำหนักลด เวียนศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย มีผื่นขึ้นตามตัว แต่หากมีอาการรุนแรงกว่านั้นซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก เช่น มีผื่นลมพิษ ปวดกล้ามเนื้อ มีอาการชา อ่อนแรง หายใจผิดปกติ หน้าบวม อาจเป็นอาการแพ้ยาซึ่งควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

          นอกจากนี้ ในบางคนที่กินยาติดต่อกันเป็นประจำก็อาจส่งผลต่อการทำงานของไตได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่กินยานี้ควรเช็กการทำงานของไตทุก 3-4 เดือน และควรตรวจความสมบูรณ์ของมวลกระดูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะยา Tenofovir (TDF) อาจมีผลต่อกระดูกหากกินเป็นระยะเวลานาน

          ทั้งนี้ หากผู้เสี่ยงติดเชื้อกำลังตั้งครรภ์หรือในนมบุตรอยู่ ไม่ควรใช้ยาเพร็พเด็ดขาด

* ยาเป๊ป (PEP) ยาต้านไวรัส HIV แบบฉุกเฉิน !

ยาต้านไวรัส HIV

ยาเป๊ป (PEP) คืออะไร แตกต่างจากยาเพร็พ (PrEP) ตรงไหน ?

          ยาเป๊ป (PEP) ก็คือ Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาต้านไวรัส HIV หลังผ่านการสัมผัสเชื้อมาแล้ว จึงเรียกกันว่า เป็นยาต้านไวรัส HIV แบบฉุกเฉิน ในสูตรยาจะประกอบไปด้วยยาต้านไวรัสประมาณ 3 ชนิด

          ทั้งนี้ ผู้ที่จะกินยาเป๊ป (PEP) ต้องเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อ เช่น คนที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน ใช้ถุงยางแล้วเกิดฉีกขาด มีเพศสัมพันธ์กับผู้ใช้สารเสพติด ถูกล่วงละเมิดทางเพศมา ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น หรือได้รับอุบัติเหตุจากการถูกเข็มฉีดยาตำมา หากใครมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจำเป็นต้องกินนยาเป๊ป (PEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อให้เร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมง 

ยาเป๊ป (PEP) ต้องกินนานแค่ไหน ?

          เมื่อกินยาเม็ดแรกไปแล้วภายใน 72 ชั่วโมงหลังผ่านความเสี่ยงการติดเชื้อ ก็ยังต้องกินยาเป๊ปต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งเมื่อเริ่มยา แพทย์จะตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อน และให้มาตรวจหาเชื้ออีกครั้งหลังผ่านไป 3 เดือน และ 6 เดือน

ยาต้านไวรัส HIV

ยาเป๊ป (PEP) ได้ผลแค่ไหน ป้องกันเอชไอวีได้จริงหรือ ?

          งานวิจัยระบุว่า ยาเป๊ปมีประสิทธิภาพพอสมควร แต่ให้ผลได้มากแค่ไหนนั้นยังไม่มีการสรุปที่แน่ชัด ดังนั้น การป้องกันก่อนเพื่อไม่ให้รับเชื้อด้วยการใช้ถุงยางอนามัยก็ยังเป็นวิธีที่ได้ผลดีกว่า

ยาเป๊ป (PEP) มีผลข้างเคียงไหม ?

          อาจเกิดผลข้างเคียงได้บ้างเหมือนกับยาเพร็พ (PrEP) เลยค่ะ เช่น มีอาการท้องเสีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดหัว มีผื่นขึ้น แต่หากเป็นไม่มาก อาการเหล่านี้จะหายไปได้เอง

จะไปขอรับยาเพร็พ-ยาเป๊ปได้ที่ไหน ?

          หากตัวเองเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง แนะนำให้ไปตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีได้ฟรีที่โรงพยาบาลรัฐฯ ทั่วไป หรือที่คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย ซึ่งหากผลเลือดเป็นบวกก็จะได้รีบทำการรักษา แต่หากเป็นลบก็จะได้ปรึกษาเรื่องการกินยาเพร็พ

          นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อขอรับยาหรือขอคำปรึกษาได้ที่เว็บไซต์ lovecarestation.com ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ค่ะ

          การลดความเสี่ยงติดเชื้อ HIV คงไม่ใช่แค่กินยาป้องกันแล้วจบ แต่เราต้องลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ อย่าปล่อยให้ความสนุกเพียงชั่วครั้งชั่วคราวทำลายเราไปทั้งชีวิตเลยนะคะ และถ้าใครรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงสูงก็ควรหมั่นตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ HIV เป็นประจำ เพราะหากรู้ตัวเร็วเท่าไร ก็มีโอกาสต้านเชื้อ HIV ได้เร็วเท่านั้น

 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
   
- กรุงเทพมหานคร 
- youtube Thai Red Cross
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ให้ชัด ! "PrEP-PEP" ยาต้านไวรัส HIV ลดเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีได้แค่ไหน ? อัปเดตล่าสุด 9 ธันวาคม 2562 เวลา 15:00:16 59,213 อ่าน
TOP