มีเชื้อ HIV ไม่ได้แปลว่าเป็นเอดส์ ความจริงที่ควรเข้าใจซะใหม่

           มีเชื้อ HIV ไม่ได้แปลว่าเป็นเอดส์ ความรู้เรื่องโรคเอดส์ที่ควรต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ให้ชัดเจน


         

          จากกระแสทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมไปถึงทางสื่อโทรทัศน์ที่บอกว่า การมีเชื้อ HIV อยู่กับตัวไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นเอดส์เสมอไป ประเด็นนี้เลยทำให้เราต้องมาปรับความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ และเชื้อ HIV เสียใหม่ ซึ่งในวันนี้กระปุกดอทคอมก็ได้หอบเอาข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อ HIV ที่ไม่ได้แปลว่าเป็นโรคเอดส์มาไขความกระจ่างให้ทุกคนได้ทราบกัน


ติดเชื้อ HIV แตกต่างจากโรคเอดส์ตรงไหน ?

          ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจกับประเด็นนี้ให้ชัดเจนเลยว่า การมีเชื้อ HIV ในร่างกาย ก็เหมือนกับการมีเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ แปลกปลอมเข้ามาอยู่ในร่างกาย โดยเชื้อ HIV จะตรงเข้าจู่โจมเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นด่านสำคัญในการกำจัดเชื้อโรคและไวรัสที่เข้ามา เพื่อรักษาสุขภาพของเราไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วย
   
          คราวนี้เมื่อเชื้อ HIV เข้ายึดพื้นที่เซลล์เม็ดเลือดขาว เจ้าเซลล์เม็ดเลือดขาวก็จะมีจำนวนน้อยลง จนอาจทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคอื่น ๆ ได้ลำบากมากขึ้น นำมาซึ่งภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จนเสี่ยงกับโรคฉวยโอกาสที่จะเข้ามาแทรกแซงเราในตอนที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังอ่อนแอ
   
          ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้สั้น ๆ ว่า HIV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนโรคเอดส์ หมายถึงกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันที่บกพร่องไปแล้วนั่นเอง

เชื้อ hiv


การติดเชื้อ HIV ใครบ้างเข้าข่ายเสี่ยงติดเชื้อ ?

          เราพอรู้กันมาบ้างว่าเชื้อ HIV สามารถติดต่อกันได้ทางเพศสัมพันธ์ แต่อันที่จริงแล้วสามารถติดต่อได้ถึง 3 ช่องทาง ตามนี้เลย

          - เพศสัมพันธ์ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ นั่นก็ถือว่าเสี่ยงติดเชื้อ HIV แล้ว โดยไม่เว้นว่าจะมีสามี หรือภรรยาคนเดียว หรือไม่เคยมีพฤติกรรมสำส่อนเลยก็ตาม เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ได้ว่าคู่นอนของเรามีพฤติกรรมที่เสี่ยงติดเชื้อมาบ้างหรือเปล่า หรือตอนนี้เขาจะมีเชื้อ HIV อยู่ในร่างกายไหม ดังนั้นทางที่ดีควรตรวจหาเชื้อ HIV อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือไม่ก็สวมถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไปเลย
   
          - ทางเลือด โดยส่วนมากมักจะติดต่อได้จากพฤติกรรมการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเข็มที่ใช้ฉีดสารเสพติด เข็มสำหรับฉีดเสริมความงามและศัลยกรรม รวมทั้งเข็มฉีดยาที่ใช้ฉีดเข้าสู่เส้นเลือด ซึ่งผ่านการใช้งานจากผู้อื่นมาแล้ว
   
          - จากแม่สู่ลูก กรณีนี้เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ HIV ตั้งครรภ์ ซึ่งอาจถ่ายทอดเชื้อนี้ให้ลูกในครรภ์ได้ ทว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีวิวัฒนาการในการยับยั้งการติดเชื้อ HIV ที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น โอกาสพบผู้ติดเชื้อ HIV ในกรณีติดจากแม่สู่ลูกในครรภ์จึงพบได้น้อยมาก แต่ยังก็พบได้อยู่ในผู้ติดเชื้อ HIV ที่เป็นต่างด้าว
   
          อย่างไรก็ดี นอกจากการติดเชื้อ HIV 3 ช่องทางที่กล่าวมาแล้ว ก็อยากให้เข้าใจเพิ่มเติมสักนิดว่า การใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV อย่างการกินช้อนเดียวกัน น้ำแก้วเดียวกัน จูบกัน หรือถูกยุงที่กัดคนมีเชื้อแล้วมากัดเรา ทั้งหมดนี้ไม่นับเป็นความเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV ได้นะคะ



   
 อาการแบบไหนแค่ติดเชื้อ HIV อาการไหนเข้าข่ายติดเอดส์ ?
   
          อาการติดเชื้อ HIV แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะด้วยกัน ดังนี้

   
          ระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ หรืออาจรู้สึกเหมือนเป็นไข้ แต่อาการจะหายไปได้เอง จากนั้นเชื้อจะหลบอยู่ในร่างกาย โดยไม่แสดงอาการใด ๆ ให้รู้ตัว ซึ่งเรียกว่า ระยะติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
   
          ระยะที่ 2 เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวถูกทำลายลงเรื่อย ๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการฝ้าขาวในปาก น้ำหนักลด ท้องเสียเรื้อรัง หรือมีตุ่มคันขึ้นตามแขนขา ซึ่งเราจะเรียกระยะนี้ว่า ระยะเริ่มมีอาการ
   
          ระยะที่ 3 ระยะเป็นเอดส์ ผู้ป่วยจะมีจำนวนเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำมาก หรือเริ่มมีโรคฉวยโอกาสแทรกซ้อน เช่น วัณโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา ต่อมน้ำเหลืองกระจายทั่วร่างกาย ปอดอักเสบ ปอดบวม และมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
   
          ซึ่งระยะสุดท้ายนี้ผู้ป่วยจะมีอาการป่วยค่อนข้างหนัก หรือหากร่างกายสู้ไม่ไหวก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

มีเชื้อ HIV ไม่ได้แปลว่าเป็นเอดส์

การรักษาโรค HIV

          การรักษาภาวะติดเชื้อ HIV สามารถทำได้โดยการให้ยาป้องกันโรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรือรักษาด้วยยาต้าน HIV ซึ่งจะใช้ยาต้าน 3 ชนิดร่วมกัน เพื่อให้ประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อ HIV มีคุณภาพมากที่สุด
   
          และแม้ในตอนนี้ทางการแพทย์จะไม่สามารถรักษาภาวะติดเชื้อ HIV ให้หายขาดได้ แต่เราสามารถควบคุมเชื้อ HIV ให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับเชื้อได้อย่างปลอดภัย กล่าวคือ ไม่สามารถตรวจพบเชื้อ HIV ในเลือด มีภูมิคุ้มกันดีขึ้น จำนวนเม็ดเลือดขาว CD4 เพิ่มมากขึ้น มีความเสี่ยงของโรคฉวยโอกาสน้อยลง อัตราการเสียชีวิตลดลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

การป้องกันเชื้อ HIV

          ย้ำกันอีกครั้งว่าการติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์สามารถป้องกันได้ 100% โดยลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงควรหมั่นตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ HIV เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่รู้ตัวว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะหากรู้ตัวเร็วเท่าไร ก็มีโอกาสต้านเชื้อ HIV ได้เร็วเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าจะสามารถควบคุมภาวะติดเชื้อให้ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันได้นั่นเอง

          การติดเชื้อ HIV ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่อย่างไรก็ดีเราควรใส่ใจสุขภาพร่างกายของเราอยู่เสมอด้วย ซึ่งขอย้ำอีกครั้งนะคะว่า สำหรับผู้ที่รู้ตัวว่ามีโอกาสติดเชื้อ HIV สูง ควรไปตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสเป็นประจำทุกปี เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาและควบคุมเชื้อ HIV ด้วยยาต้านเชื้อได้ทันเวลา ลดโอกาสหลุดไปอยู่ในสถานะผู้ป่วยโรคเอดส์ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย
Avert.org
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มีเชื้อ HIV ไม่ได้แปลว่าเป็นเอดส์ ความจริงที่ควรเข้าใจซะใหม่ อัปเดตล่าสุด 10 กรกฎาคม 2562 เวลา 10:57:45 36,985 อ่าน
TOP
x close