x close

เปิดปมดราม่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ให้พยาบาลจ่ายยาได้ ทำไมถึงเสียงแตก !?

          ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ทำ เภสัชกร-พยาบาล มองต่างมุม ปมให้วิชาชีพอื่นจ่ายยา-ขายยาแทนเภสัชกรได้ 
พรบ.ยา

          กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อน ๆ ในแวดวงสาธารณสุข เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ.... (ฉบับใหม่ กรกฎาคม 2561) แทน พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ซึ่งมีเนื้อหาหลายประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องเห็นต่าง โดยเฉพาะประเด็นการเปิดกว้างให้สหวิชาชีพทางการแพทย์สามารถจ่ายยาได้ นอกเหนือจากแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ และเภสัชกร โดยผู้ประกอบวิชาชีพอื่นในที่นี้ อาจหมายถึง พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย ฯลฯ (อ่านร่าง พ.ร.บ. ได้ที่นี่)

          ประเด็นนี้นำมาซึ่งข้อถกเถียงเป็นวงกว้าง มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน เพราะมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง อีกทั้งยังอาจเป็นการเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นมาจ่ายยาหรือขายยาแทนเภสัชกรได้ โดยแต่ละฝ่ายต่างยกเหตุผลมาประกอบมุมมองในเรื่องนี้ต่างกันออกไป...

พรบ.ยา

สภาการพยาบาล หนุน ร่าง พ.ร.บ.ยา

          หลังจากมีการเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ทางสภาการพยาบาลได้ออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืนวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์กับความปลอดภัยในการใช้ยา เพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.... โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายฉบับนี้จะเอื้อให้ทุกวิชาชีพทางด้านสุขภาพ สามารถทำงานร่วมกันบนความทับซ้อนของวิชาชีพในระบบสุขภาพได้ด้วยจิตวิญญาณของทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

          สภาการพยาบาล ระบุด้วยว่า พยาบาลวิชาชีพในทุกหลักสูตรมีการเรียนการสอนเรื่องยาอย่างเพียงพอที่จะปฏิบัติงานกับผู้ป่วยและประชาชนได้อย่างปลอดภัย โดยหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต เรียนวิชาเภสัชศาสตร์ จำนวน 3 หน่วยกิต และจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการในรายวิชาทางการพยาบาลทุกรายวิชาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จำนวนไม่น้อยกว่า 70 หน่วยกิต โดยต้องเรียนรู้เรื่องยาต่าง ๆ รวมทั้งมีการเรียนรายวิชาการรักษาโรคเบื้องต้น จำนวน 4 หน่วยกิต

          ขณะที่หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) จะมีการอบรมเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผลร่วมกับการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น จำนวน 16 หน่วยกิต ดังนั้นจึงสามารถใช้ยาจำนวน 18 กลุ่มกับผู้ป่วยที่พยาบาลวิชาชีพได้ให้การวินิจฉัยแยกโรคและตรวจรักษาโรคเบื้องต้นได้ตามขอบเขตที่กฎหมายวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์กำหนด (อ่านประกาศจุดยืนสภาการพยาบาลฉบับเต็ม)

รพ.สต. ขาดแคลนเภสัชกร เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ยา

          ฟากโรงพยาบาลในต่างจังหวัด เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ต่างเห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว เช่น นางรัตนา พานิชนอก ผู้อำนวยการ รพ.สต.หลักร้อย จ.นครราชสีมา ระบุว่า มีประชากรในพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลมากกว่า 12,000 คน แต่โรงพยาบาลมีบุคลากรเพียง 10 คนเท่านั้น และไม่มีเภสัชกรประจำการ ต้องอาศัยเภสัชกรจากโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา ที่จะส่งเภสัชกรหมุนเวียนมาเข้าเวรดูแลเรื่องการจ่ายยา และให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการจ่ายยา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และเนื่องจากมีเภสัชกรเพียง 2 คน ที่ต้องเวียนกันเข้าเวรใน รพ.สต. ที่อยู่ในเครือข่าย จำนวน 9 แห่ง ทำให้ไม่สามารถมาอยู่ประจำได้ ดังนั้นที่ผ่านมาจึงเป็นหน้าที่ของพยาบาลและเจ้าหน้าที่วิชาชีพอื่น ช่วยจ่ายยาแทนเภสัชกรมาโดยตลอด

พรบ.ยา

          ขณะที่ นางนิศากร แก้วใส พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.หลักร้อย กล่าวว่า ถ้าแก้ไข พ.ร.บ. การจ่ายยาใหม่ สิ่งแรกที่จะได้คือ ทำให้ตนรู้สึกสบายใจ เพราะที่ผ่านมาเสี่ยงมาก เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับให้สามารถจ่ายยาได้ ไม่สามารถใช้ความรู้ของตนเองได้อย่างเต็มที่ และสิ่งต่อมาถ้าให้พยาบาลหรือวิชาชีพอื่นจ่ายยาได้ ก็จะทำให้ประชาชนที่มาใช้บริการได้รับความสะดวกสบาย ส่วนความรู้ด้านยานั้น ในการออกใบประกอบวิชาชีพ ก็มีการเรียนรู้เรื่องการจ่ายยามามากพอสมควร อีกทั้งบางคนก็ได้ไปเรียนหลักสูตรเวชปฏิบัติเพิ่มเติม ซึ่งจะมีความรู้เรื่องยามากกว่าพยาบาลทั่วไปด้วยก็มี จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอะไร

เภสัชกร "ท้วง" ห่วงความปลอดภัย

          ทว่าประเด็นดังกล่าวได้สร้างความไม่สบายใจให้กลุ่มเภสัชกร ซึ่งมีความรู้และเรียนเรื่องการจ่ายยามาโดยตรง โดยมองว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อาจสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยต่อการใช้ยาของประชาชน เนื่องจากบางกลุ่มวิชาชีพไม่ได้ศึกษาเรื่องการจ่ายยามาโดยตรง แต่ต่อไปอาจจะสามารถไปเปิดคลินิกจ่ายยาหรือร้านขายยาเองได้ โดยไม่มีแพทย์หรือเภสัชกรควบคุม

          ด้วยเหตุนี้ สภาเภสัชกรรม จึงได้ออกหนังสือคัดค้านส่งตรงไปถึง อย. โดยยก 9 ประเด็นที่เป็นปัญหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ อาทิ การจัดแบ่งประเภทยาที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล รวมทั้งกรณีการให้วิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้ พร้อมกับขอให้ อย. พิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายเสียใหม่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนอย่างแท้จริง (อ่านหนังสือคัดค้านฉบับเต็ม)

พรบ.ยา

          ขณะที่ เภสัชกรจิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย ระบุว่า การที่องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมออกมาคัดค้านเพราะกังวลในเรื่องการควบคุมการจ่ายยา ขายยา เนื่องจากการจ่ายยาจะต้องมีความรู้พื้นฐานมากพอระดับหนึ่ง แต่หากให้กลุ่มวิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้โดยบอกว่าเรียนมาเช่นกัน ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่าเรียนมาเท่ากันหรือไม่ เช่น กลุ่มพยาบาลที่เรียนเรื่องการจ่ายยามา แม้จะสามารถจ่ายยา แต่ต้องเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีความปลอดภัยสูงเท่านั้น ไม่รวมถึงยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาฉีด การให้อาหารทางหลอดเลือด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีวิชาชีพเฉพาะ ดังนั้นหากให้กลุ่มวิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้จะเหมาะสมหรือไม่ ประชาชนจะแบกรับความเสี่ยงได้หรือไม่

          ส่วนประเด็นที่ว่าการแก้กฎหมายจะทำให้กลุ่มวิชาชีพอื่นเปิดร้านขายยาได้ง่ายขึ้นหรือไม่นั้น เภสัชกรจิระ มองว่า ยังไม่น่ากังวล เพราะการเปิดร้านขายยามีกรอบกฎหมายบังคับอยู่ ว่าจะต้องมีเภสัชกรประจำ ขณะที่การที่พยาบาลจ่ายยาแทนแพทย์และเภสัชกรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็ไม่ได้น่ากังวล แต่ที่ห่วงคือปัญหาในคลินิกเอกชนมากกว่าที่อาจมีวิชาชีพอิสระอื่น ๆ มาจ่ายยาหรือเปิดร้านขายยาโดยไม่มีแพทย์มาควบคุม
 
พรบ.ยา

แพทย์ หวั่น เอื้อประโยชน์ร้านค้า

          ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มองว่า การให้เภสัชกรเป็นคนจ่ายยาจะดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันจำนวนเภสัชกรไม่ได้ขาด แต่เพราะค่าประกอบวิชาชีพเภสัชกรสูง คลินิกเล็ก ๆ จึงไม่มีเภสัชกรประจำ ก็ให้พยาบาลเป็นคนจ่ายยาได้โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์

          แต่หากจะให้วิชาชีพอื่นเพิ่มเข้ามา ก็ต้องดูว่ามีความสามารถและคุณสมบัติในการคัดเลือกยาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยได้หรือไม่ เพราะการจ่ายยาไม่ใช่แค่เพียงนับเม็ดยาแล้วให้ตามจำนวน แต่ต้องรู้อาการของผู้ป่วยว่ากินยาอะไรอยู่ หากยาเดิมไม่เหมาะสมก็ต้องหายาใหม่ที่เหมาะสมและปลอดภัยให้แทน ดังนั้นไม่ใช่ว่าการแก้ พ.ร.บ. จะต้องไปเอื้อให้ร้านสะดวกซื้อที่ต้องการควบคุมธุรกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ยา โดยการให้วิชาชีพอื่น เช่น พยาบาล ไปประจำในร้านยาแทน เพราะไม่มีเภสัชกรไปประจำ

          เช่นเดียวกับ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กรรมการชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ที่แสดงความคิดเห็นถึงร่างดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในยุโรปและอารยประเทศจะมีเภสัชกรประจำการที่ร้านขายยาเต็มเวลาเท่านั้น ให้วิชาชีพอื่นมาขายยาแทนไม่ได้ และเภสัชกรจะจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น ยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน ดังนั้นเวลาไปหาหมอที่คลินิก หมอจะไม่มีสิทธิ์จ่ายยา แต่จะเขียนใบสั่งให้คนไข้มารับยาตามหรือซื้อยาที่ร้านเภสัชกร ยกเว้นผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาล ที่เป็นเช่นนี้เพื่อเน้นคุ้มครองผู้บริโภค

          แต่เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย การแก้ พ.ร.บ.ยา มีแนวโน้มจะเอื้อเจ้าสัว เพราะการให้วิชาชีพทางสุขภาพอื่น ๆ สามารถจ่ายยาได้ หมายความว่า เจ้าสัวสามารถจ้างแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ และอาจจะลามถึงนักวิชาการสาธารณสุขด้วย มาขายยาที่ร้านสะดวกซื้อซึ่งกำลังขยายให้มีขายทุกมุมเมือง โดยเป้าหมายของร้านค้าคือ กำไรสูงสุด จ้างค่าแรงคนขายยาในราคาถูกที่สุด ส่วนการคุ้มครองและความปลอดภัยของผู้บริโภคเอาไว้ทีหลัง จึงเป็นเรื่องตลกที่บ้านเราลงมือแก้กฎหมายเพื่อเจ้าสัว

พรบ.ยา
อย. ยัน กฎหมายใหม่ไม่ได้เปิดช่องให้วิชาชีพอื่น

พรบ.ยา

          อย่างไรก็ตาม นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. ได้ชี้แจงว่า ข่าวที่ออกมาอาจเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะที่หลายคนมองว่าเป็นการเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาได้นั้น จริง ๆ แล้วเป็นการปิดช่องที่กฎหมายเดิมไม่สามารถควบคุมการจ่ายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตของบางวิชาชีพ โดยกฎหมายใหม่ไม่ได้เพิ่มอะไร แต่ระบุว่าถ้ามีวิชาชีพอื่น ๆ ก็ต้องเป็นไปตามประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข โดยหากคิดถึงสภาพความเป็นจริง ทุกวันนี้ก็มีการจ่ายยาโดยวิชาชีพอื่น ๆ อยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากมีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนก็จะช่วยให้ควบคุมได้อย่างถูกต้อง

โซเชียล ห่วง ก้าวก่ายหน้าที่-เพิ่มภาระให้พยาบาล

          ในส่วนของชาวโซเชียลที่ติดตามข่าวนี้ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่จะให้วิชาชีพอื่นสามารถขายยาได้โดยไม่ต้องมีเภสัชกร โดยบางส่วนตั้งคำถามว่า ร่างกฎหมายนี้จะเป็นการเพิ่มภาระให้พยาบาลมากเกินไปหรือไม่ รวมทั้งแสดงความวิตกว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจไม่มีคนเข้าเรียนคณะเภสัชศาสตร์ก็เป็นได้ เพราะใช้เวลาถึง 6 ปี แต่ถ้าไปเรียนพยาบาล ใช้เวลาเพียง 4 ปี ก็สามารถจ่ายยา ขายยาได้เหมือนกัน ขณะที่บางส่วนก็อยากให้พยาบาลที่จะจ่ายยามาสอบใบประกอบโรคศิลป์ของเภสัชกรเพื่อให้ผ่านมาตรฐานจริง

          อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่า จริง ๆ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ใครก็หน้าที่มัน ไม่ควรก้าวก่ายกัน และไม่อยากให้แบ่งแยก แต่อยากให้ทำงานร่วมกัน แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะแก้กฎหมายอย่างไรก็ขอให้อย่าลืมเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน คือการให้ประชาชนมีสุขภาพดี

พรบ.ยา


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
     
เฟซบุ๊ก สภาการพยาบาล 
สภาเภสัชกรรม 
สภาการพยาบาล 
รายการเรื่องเล่าเช้านี้ 
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดปมดราม่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ให้พยาบาลจ่ายยาได้ ทำไมถึงเสียงแตก !? อัปเดตล่าสุด 30 สิงหาคม 2561 เวลา 18:49:32 44,375 อ่าน
TOP