ผักเชียงดา สรรพคุณไม่ธรรมดา เป็นสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือด

          ชื่อเสียงเรียงนามผักเชียงดาต้องบอกว่าโหดมาก โดยแปลได้ว่าผักฆ่าน้ำตาล ส่วนสรรพคุณของผักเชียงดาก็ไม่ธรรมดาเอาซะเลย
ผักเชียงดา

           ผักเชียงดามีสรรพคุณเด่นมากเรื่องมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เพราะถูกใช้เป็นยารักษาเบาหวานในแถบประเทศเอเชียมานานหลายร้อยปีแล้ว แถมผักเชียงดายังมีรสชาติอร่อย นำไปทำเมนูอาหารได้หลายอย่าง รวมทั้งยังมีการนำมาแปรรูปเป็นชาเชียงดา เป็นแคปซูลเชียงดา จัดจำหน่ายในรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและมีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศอีกด้วยนะคะ ดังนั้นเราจะไม่รู้จักผักเชียงดาก็คงไม่ได้แล้วล่ะเนอะ

* ผักเชียงดา ชื่อเสียงธรรมดาซะที่ไหน

          ผักเชียงดามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gymnema inodorum (Lour.) Decne. ซึ่งคำว่า Gymnema มีรากศัพท์มาจากภาษาฮินดู "Gurmar" ที่แปลว่าผู้ฆ่าน้ำตาล เนื่องจากในผักเชียงดามีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งน้ำตาลและชะลอการดูดซึมน้ำตาลในลำไส้เล็กนั่นเอง

          และด้วยความที่ผักเชียงดาเป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือ ชื่อของผักเชียงดาในภาษาเหนือจึงมีให้เรียกอย่างหลากหลาย อาทิ ผักเซี่ยงดา เซ่งดา เจียงดา ผักกูด ผักว้น ผักม้วนไก่ หรือผักเซ็ง เป็นต้น ส่วนภาคกลางจะเรียกกันว่า ผักจินดา

ผักเชียงดา

* ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักเชียงดา

          ผักเชียงดาเป็นเถาไม้เลื้อย ตามลำตันที่โผล่พ้นดินจะมียางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ สีเขียวเข้ม ใบมีลักษณะเป็นคลื่นเล็กน้อย โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผักเชียงดามีดอกขนาดเล็กสีออกขาว ออกดอกเป็นช่อ ๆ ตามซอกใบ ผลต้นเชียงดาเป็นฝักกลม ยาว ข้างในมีเมล็ดขนาดเล็ก และมีขนสำหรับช่วยกระจายพันธุ์

ผักเชียงดา

* ผักเชียงดากับคุณค่าทางโภชนาการ

          กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ผักเชียงดาเป็นผักพื้นบ้านที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก และในผักเชียงดาปริมาณ 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

          - พลังงาน 70 กิโลแคลอรี

          - น้ำ 82.9 กรัม

          - โปรตีน 5.4 กรัม

          - ไขมัน 1.5 กรัม

          - คาร์โบไฮเดรต 8.6 กรัม

          - กากใยอาหาร 2.5 กรัม

          - เถ้า 1.6 กรัม

          - แคลเซียม 78 มิลลิกรัม

          - ฟอสฟอรัส 98 มิลลิกรัม

          - ธาตุเหล็ก 2.3 มิลลิกรัม

          - เบต้าแคโรทีน 5,905 ไมโครกรัม

          - วิตามินเอ 984 ไมโครกรัม

          - ไทอะมีน 0.12 มิลลิกรัม

          - ไรโบฟลาวิน 0.35 มิลลิกรัม

          - ไนอะซิน 1.0 มิลลิกรัม

          - วิตามินซี 153 มิลลิกรัม

* ผักเชียงดา สรรพคุณเด่นเป็นสง่า เรื่องลดน้ำตาลในเลือด !

          ว่าแล้วเราก็มาดูสรรพคุณเด็ด ๆ จากผักพื้นบ้านชนิดนี้กันค่ะ

ลดน้ำตาลในเลือด

ผักเชียงดา

          มีการศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดาแล้วพบว่า เมื่อให้อาสาสมัครดื่มชาใบเชียงดาทันทีหรือ 15 นาทีหลังการทดสอบน้ำตาล พบว่า ชาเชียงดามีผลลดน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ และฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดให้ผลแปรผันตรงกับขนาดที่ได้รับ และการดื่มชาเชียงดาวันละ 1 แก้ว หลังอาหารทันที ต่อเนื่องกัน 28 วัน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุด (peak plasma glucose concentration) ได้ดีกว่ากลุ่มอาสาสมัครที่ไม่ได้ดื่มชาเชียงดา

          ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ในใบเชียงดามีสารสำคัญที่ชื่อว่า gymnemic acid ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งน้ำตาลทำให้การดูดซึมน้ำตาลในลำไส้เล็กมีผลช้าลง นอกจากนี้ gymnemic acid ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงนั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ควบคู่ไปกับการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง กลับไม่พบฤทธิ์รักษาเบาหวานของชาเชียงดาแต่อย่างใด ทั้งนี้อาจจำเป็นต้องมีการศึกษาทางคลินิกต่อไปอีก

แก้ไข้

ผักเชียงดา

          ผักเชียงดามีฤทธิ์เป็นยาเย็น ช่วยลดไข้ บำรุงธาตุในร่างกาย โดยจะดื่มชาเชียงดาหรือจะกินอาหารเมนูผักเชียงดาก็ได้หมด

สารต้านอนุมูลอิสระสูง

ผักเชียงดา

          อย่างที่เห็นว่าผักเชียงดาปริมาณ 100 กรัม มีเบต้าแคโรทีสูงถึง 5,905 ไมโครกรัม อีกทั้งในใบเชียงดายังพบวิตามินซีและสารกลุ่มฟีนอลิกค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในน้ำคั้นใบสด ๆ สารต้านอนุมูลอิสระจะมีเยอะมากเลยทีเดียว

          นอกจากสรรพคุณของผักเชียงดาตามนี้แล้ว ผักเชียงดายังมีประโยชน์ในเรื่องช่วยแก้อาการท้องผูก ช่วยกำจัดสารพิษตกค้างในร่างกาย บรรเทาอาการภูมิแพ้และโรคหอบหืด และช่วยบำรุงตับอ่อนให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วยนะคะ รู้อย่างนี้ก็ชักอยากจะลองชิมเมนูผักเชียงดาบ้างแล้วล่ะ

* ผักเชียงดา ผลข้างเคียงมีไหม

          ในขณะนี้ยังไม่พบผลข้างเคียงจากการบริโภคผักเชียงดา แต่มีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่มีกรดในกระเพาะอาหารมาก ไม่ควรกินผักเชียงดาในขณะท้องว่าง และในผู้ป่วยเบาหวานขั้นรุนแรง รวมไปถึงผู้ป่วยเบาหวานที่กินยาลดน้ำตาลในเลือดอยู่แล้ว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานผักเชียงดาและผลิตภัณฑ์จากผักเชียงดาทุกชนิด

ผักเชียงดา

* ผักเชียงดา เมนูคู่สุขภาพ

          เมนูผักเชียงดาทางภาคเหนือนิยมนำใบอ่อน ยอด และดอกของผักเชียงดามาลวกจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในตำมะม่วง หรือนำผักเชียงดามาใส่แกงปลาแห้ง แกงแค ผัดน้ำมันหอย หรือเมนูผักเชียงดาผัดใส่ไข่ก็น่าลอง

          แม้จะเป็นผักพื้นบ้าน แต่สรรพคุณของผักเชียงดาก็ไม่น้อยหน้าสมุนไพรใด ๆ เลยนะคะ แถมยังเป็นผักที่มีให้กินทุกฤดูกาล แบบนี้ต้องหาผักเชียงดามารับประทานบำรุงร่างกายหน่อยแล้วล่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กองโภชนาการ กรมอนามัย, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สสวท, องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน, อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, thaiplants

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผักเชียงดา สรรพคุณไม่ธรรมดา เป็นสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือด อัปเดตล่าสุด 19 พฤศจิกายน 2561 เวลา 15:16:19 131,226 อ่าน
TOP
x close