รู้จักกับโรคเท้าแบน



เท้า


รู้จักกับโรคเท้าแบน (Men\'s Health)

โดย พ.ต.ท.นพ.ธรรมโรจน์ ปุญญโชติ

          โรคเท้าแบน (Flat Feet) จัดเป็นปัญหาหนึ่งของเท้าที่พบได้บ่อย ๆ บางคนอาจจะงง หรือแปลกใจว่าคือโรคอะไร ไม่เห็นเคยได้ยิน แล้วจะร้ายแรงขนาดไหน เป็นโรคติดต่อหรือเปล่า รักษาให้หายได้ไหม ถ้าอย่างนั้น ลองมาทำความรู้จักกับโรคนี้ รวมทั้งวิธีการรักษา และป้องกันในอนาคตกันนะครับ

          จริง ๆ แล้วโรคเท้าแบนไม่ใช่โรคครับ แต่เป็นภาวะที่ฝ่าเท้าไม่มีอุ้งเท้า ซึ่งเป็นปัญหาของเท้าที่พบได้บ่อยปัญหาหนึ่ง เกิดจากรูปร่างเท้าผิดปกติที่ส่วนโค้งด้านในของเท้าหรืออุ้งเท้า ซึ่งโดยปกติจะเป็นส่วนโค้งเว้าเข้าไปด้านใน แต่ในผู้ที่มีเท้าแบน ส่วนโค้งนี้จะน้อยกว่าปกติ อาจแบนราบเป็นเส้นตรงหรืออาจโค้งนูนยื่นออกมา ซึ่งสามารถแบ่งเท้าแบนได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1.เท้าแบนแบบยืดหยุ่น (Flexible Flat Feet)

          แยกได้ง่าย ๆ คือให้ยกเท้าขึ้นจากพื้น ถ้าเป็นแบบยืดหยุ่นจะพบว่า มีอุ้งเท้าได้เหมือนเดิม แต่เมื่อยืนลงน้ำหนัก ส่วนโค้งเว้าด้านในจะลดลงหรือหายไป ซึ่งลักษณะนี้พบบ่อยที่สุดคือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของคนทั่วไป

          บางรายอาจมีอาการเจ็บบริเวณเท้า ข้อเท้าเอ็นร้อยหวาย หรือสังเกตได้ว่ารองเท้าสึกบริเวณด้านในมากกว่าด้านนอก เนื่องจากน้ำหนักของฝ่าเท้าที่ลงด้านนี้มากกว่า มักพบตอนโต และในวัยรุ่นที่มีน้ำหนักตัวเพิ่ม สาเหตุที่ชัดเจนยังไม่พบ แต่พบว่าสัมพันธ์กับพันธุกรรม กล่าวคือพบในญาติพี่น้องที่มีลักษณะเท้าแบนเหมือนกันด้วย

2.เท้าแบนแบบยืดติด (Rigid Flat Feet)

          พบได้น้อย วิธีสังเกตคือไม่ว่าจะลงน้ำหนักหรือไม่ก็ตาม เท้าก็จะแข็งแบนผิดรูปในลักษณะนั้นตลอด

          วิธีการรักษา มุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดการผิดรูปควบคุมน้ำหนัก ปรับกิจกรรม ใช้อุปกรณ์เสริมในรองเท้า ทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง

โรคเท้าแบน

โรคเท้าแบน

การใช้อุปกรณ์เสริมและปรับรองเท้า

          1.รองเท้าที่เหมาะสมควรเป็นรองเท้าหุ้มส้น เช่น คัตชู หรือรองเท้ากีฬา ส่วนหน้าเท้ามีความกว้างพอสมควร และควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าแตะ

          2.ใส่พื้นรองกายในเท้า หรือเรียกว่า "Insole" ที่มีเสริมบริเวณอุ้งเท้าด้านใน (Medel Arch Support) ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ เพื่อสั่งตัดเฉพาะแต่ละคนไป หรือบางคนอาจจะซื้อ Insole แบบสำเร็จรูปมาใช้ก็ได้ ถ้ามีภาวะเท้าแบนไม่มากหรือไม่เจ็บส้นเท้า

          3.ทำกายภาพบำบัด โดยการสร้างความแข็งแรงบริเวณอุ้งเท้า เช่น เดินหรือยืนบนปลายเท้า โดยที่ส้นเท้าไม่แตะพื้นเลย อาจใช้เวลาประมาณ 5 นาที และทำทุกวัน

          การแก้ไขภาวะเท้าแบนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นผลในระยะเวลาสั้น ๆ คุณอาจจะต้องขยันและอดทนในการแก้ไขภาวะนี้ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหากับเท้าหรือส้นเท้า เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัยขึ้นไป

Tip

          การรักษาอาการปวดส้นเท้าที่อาการไม่วิกฤตมากนัก สามารถทำได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ เช่น

          1. ลดกิจกรรมที่ทำให้ปวด หรือกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนัก เช่น การยืนหรือเดินนาน ๆ และควรเลือกออกกำลังกายแบบที่ไม่ต้องใช้การลงน้ำหนักมากควบคู่กันไป เช่น ว่ายน้ำ

          2. ใส่รองเท้าที่เหมาะสม มีขนาดพอดี มีพื้นรองเท้าที่นุ่ม และมีแผ่นรองรับอุ้งเท้า อาจใช้แผ่นนุ่มๆ รองที่ส้นเท้าเพื่อลดอาการปวด หรือใช้แผ่นยางสำหรับรองส้นเท้าโดยเฉพาะก็ได้


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wikipedia


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักกับโรคเท้าแบน อัปเดตล่าสุด 6 มกราคม 2554 เวลา 17:30:17 28,900 อ่าน
TOP
x close