เผยคนไทยป่วยมะเร็งพุ่ง มะเร็งตับ มาที่ 1


ตรวจสุขภาพ


มะเร็งคนไทยพุ่งแห่รักษาศิริราช (ไทยโพสต์)

          "นายกมะเร็งวิทยาสมาคม" เผยรายงานสำรวจสถานการณ์มะเร็งล่าสุด พบผู้ป่วยมะเร็งพุ่งเพิ่มจากเดิม 23% เสียชีวิต 156 ราย/วัน ขณะที่ รพ.ศิริราชมีผู้ป่วยเข้ารักษากว่า 8 พันราย/ปี รพ.รามา 3 พันราย/ปี และสถาบันมะเร็ง 2.5 พันราย/ปี ชี้มะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง มะเร็งตับสูงเป็นอันดับ 1 ในผู้ชาย พร้อมชี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเชื่อผิด ๆ ไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งที่จำเป็นต่อร่างกาย

          พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคมะเร็งว่า จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นอันดับ 1 และจากการสำรวจปี 2541-2543 พบผู้ป่วยมะเร็ง 195,780 ราย หรือ 65,260 ราย ขณะที่ปี 2544-2546 พบ 241,051 ราย หรือ 80,350 รายต่อปี โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 23

          โดยมะเร็งที่พบในผู้ชาย มะเร็งตับและทางเดินน้ำดีพบเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ขณะที่ผู้หญิงพบมะเร็งเต้านมอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่

          สถิติดังกล่าวสอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล โดย รพ.ศิริราชในปี 51 มีผู้ป่วยมะเร็ง 8,256 ราย รพ.รามาธิบดีปี 51 มีผู้ป่วย 3,028 ราย และสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 52 มีผู้ป่วย 2,497 ราย ซึ่งมะเร็งที่พบอันดับ 1 และ 2 เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งปอดเช่นกัน

          นอกจากนี้พบว่าในปี 2552 คนไทยยังเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 56,058 ราย หรือ 88.34 รายต่อประชากร 1 แสนราย หรือคิดเป็น 156 รายต่อวัน โดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.7 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548 โดยผลสำรวจนี้เป็นข้อมูลที่รายงานในปี 2553

          พญ.สุดสวาท กล่าวว่า ในกลุ่มผู้หญิง สาเหตุที่จำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแซงหน้ามะเร็งปากมดลูก มาจากหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องอาหาร เช่น การกินอาหารไขมันสูง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการเก็บสถิติและการตรวจคัดกรองที่ดีขึ้น ทำให้ทราบข้อมูลที่แท้จริง โดยข้อมูลที่พบนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับในต่างประเทศ ที่มะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามหากดูภาพรวม มะเร็งเต้านมยังมาเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับที่เป็นอันดับ 1 และมะเร็งปอดอันดับ 2

          พญ.สุดสวาท กล่าวต่อว่า สำหรับการรักษา หากพบในระยะแรกจะใช้การผ่าตัดซึ่งจะได้ผล แต่วิธีนี้ใช้ได้เฉพาะมะเร็งบางชนิดเท่านั้น เช่น มะเร็งปอด แต่หากเป็นระยะที่ 2 หรือ 3 ต้องใช้ยาเคมีบำบัด ส่วนยาใหม่ที่เป็นยามุ่งเป้าที่เซลล์มะเร็งนั้น จะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม ซึ่งเป็นยาที่ช่วยเสริมจากการทำเคมีบำบัด ซึ่งยาเหล่านี้มีราคาแพงมาก มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 70,000-100,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้การรักษาโรคมะเร็งปัจจุบันครอบคลุมทั้ง 3 ระบบ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

          ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ผ่านมา สิ่งที่วงการแพทย์ไทยมีความกังวล ยังคงเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยเกี่ยวกับการดูแลตนเอง อย่างความเชื่อเกี่ยวกับอาหาร ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เชื่อว่าจะต้องไม่กินเนื้อสัตว์เลย ถือเป็นความเชื่อที่ผิด ไม่ถูกต้อง เป็นความเชื่อที่มีมานานกว่า 10 ปีมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่โปรตีนมีความจำเป็นอย่างมาก สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย ซึ่งหากไม่อยากทานเนื้อแดง ก็ควรการกินเนื้อปลาหรือไข่ขาวทดแทน แต่หลีกเลี่ยงการปิ้งย่าง

          เช่นเดียวกับการใช้ยาสมุนไพร หรือยาลูกกลอนที่ไม่ได้มีการศึกษาทดลองแบบ มาตรฐานที่อาจทำให้เกิดผลเสีย ทั้งยังอาจทำให้หมดโอกาสในการรักษา นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตมากที่สุดคือ ความไม่ตระหนักหรือไม่รู้ว่าเป็นมะเร็งในระยะแรก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มาในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว ยากต่อการรักษา


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยคนไทยป่วยมะเร็งพุ่ง มะเร็งตับ มาที่ 1 อัปเดตล่าสุด 8 มกราคม 2554 เวลา 16:44:06 1,679 อ่าน
TOP
x close