x close

รู้จักการเผายา สูตรขับลมในร่างกาย ฉบับแพทย์แผนไทยแต่โบราณ

          ขับลมในท้อง มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย กินยาก็ไม่หายสักที ลองรักษาด้วยการเผายาตามศาสตร์แพทย์แผนไทย อาจช่วยบรรเทาอาการได้
          ศาสตร์การรักษาตามฉบับแพทย์แผนโบราณ ที่ใช้สมุนไพรเป็นหลัก เพื่อช่วยบรรเทาอาการไม่สบายของร่างกาย โดยเฉพาะการปรับสมดุลธาตุในร่างกาย ขับไล่ลมส่วนเกินอันเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด แน่นท้อง ปวดตามส่วนต่าง ๆ วิธีบรรเทาอาการป่วยเหล่านี้แพทย์แผนไทยมีสูตรเผายา ช่วยไล่ลม กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และปรับสมดุลธาตุในร่างกาย
เผายา

ภาพจาก ไทยพีบีเอส

เผายา คืออะไร

          การเผายา คือ เวชปฏิบัติแผนไทยอย่างหนึ่ง ที่ใช้หลักการเพิ่มธาตุไฟเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยให้ความร้อนผ่านเครื่องยาสมุนไพรในบริเวณที่ต้องการรักษาโรค เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะธาตุไฟหย่อน 

          ทั้งนี้การเผายาจะทำในบริเวณที่มีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น แผ่นหลัง ขา หรือเผายาเพื่อรักษาอาการเฉพาะจุด เช่น หัวเข่า หน้าท้อง (รอบสะดือ) อันเป็นจุดกำเนิดของเส้นประธานสิบตามหลักแพทย์แผนไทย
 

สมุนไพรที่ใช้เผายามีอะไรบ้าง

          หลัก ๆ แล้วสมุนไพรเผายาจะเน้นใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน โดยส่วนประกอบหลักของการเผายามีตามนี้
เผายา

ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          - น้ำมันไพล

          - ขมิ้นชัน

          - ไพลสด

          - ข่า

          - ตะไคร้

          - ผิวมะกรูด

          - ขิง

          - การบูร

          - เกลือ

          - แอลกอฮอล์สำหรับจุดไฟ

เผายา ขั้นตอนมีอะไรบ้าง

          การเผายามีขั้นตอน ดังนี้

          เตรียมอุปกรณ์

          - สมุนไพร
          - น้ำมันไพล
          - ผ้าขนหนูชุบน้ำหมาด ๆ 2-3 ผืน
          - แอลกฮอล์จุดไฟ (เมทิลแอลกอฮอล์)
          - ไฟแช็ก
 

          วิธีเผายา
 

           1. เตรียมสมุนไพรที่จะใช้ เช่น ขมิ้นชัน ไพล ขิง ตะไคร้ ผิวมะกรูด สับให้ละเอียดพอประมาณ

           2. นำสมุนไพรที่เตรียมไว้มาคลุกกับการบูรให้เข้ากันดี

           3. นวดน้ำมันไพลบริเวณที่จะทำการเผาไฟเพื่อเตรียมผิวให้พร้อม และเป็นการไล่ลมเบื้องต้น ประมาณ 5-10 นาที

เผายา

ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          4. ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ มาม้วนแล้ววางเป็นกรอบรอบสะดือ หรือบริเวณที่จะทำการเผาไฟรักษาโรค
 

          5. ใส่สมุนไพรที่จะเผาลงไปให้เต็มช่องที่ผ้าขนหนูล้อมไว้ เกลี่ยสมุนไพรให้เสมอกัน

เผายา

ภาพจาก ช่อง 3

          6. วางผ้าชุบน้ำหมาด ๆ คลุมบริเวณที่จะเผาไฟ
 

          7. ฉีดพรม หรือจุดแอลกอฮอล์บนผ้าขนหนู ในตำแหน่งที่วางเครื่องยาไว้

เผายา

ภาพจาก ช่อง 3

เผายา

ภาพจาก ช่อง 3

          8. จุดไฟแล้วรอจนไฟดับ โดยให้จุดไฟประมาณ 5-7 รอบ หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกร้อน และแต่ละรอบให้คลึงเครื่องยาเพื่อให้เครื่องยาโดนความร้อนอย่างทั่วถึงกัน
เผายา

ภาพจาก ช่อง 3

          ทั้งนี้ระหว่างที่ทำการเผายา ให้หมั่นสังเกตอาการของคนไข้เรื่อย ๆ เพราะคนไข้บางคนอาจรู้สึกไม่ไหว ความดันโลหิตขึ้นจนรู้สึกไม่สบายตัวได้

เผายา รักษาโรคอะไรได้บ้าง

          หลัก ๆ แล้วการเผายาจะเน้นไล่ลมในเส้นเลือด เพื่อบรรเทาอาการเลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้อากาศ หอบหืด อาการปวดเมื่อยเนื้อตัว อาการสะบัดร้อนสะท้านหนาว หรือแม้แต่อาการท้องผูกก็ช่วยได้ โดยความร้อนจากเปลวไฟอุ่น ๆ จะทำให้ตัวยาซึมเข้าสู่ร่างกายได้ตรงจุดและรวดเร็วกว่าการกินยา นอกจากนี้ยังไม่มีผลข้างเคียงจากการรับประทาน เช่น อาการคลื่นไส้

เผายา ข้อควรระวังก็มีนะ

          เนื่องจากการเผายาจะกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ดังนั้นจึงไม่ควรทำกับคนที่มีไข้ ปวดศีรษะ มีประจำเดือน ตัวร้อน อ่อนเพลียจากการตากแดด มีอาการหอบเหนื่อย ร้อนใน มีแผลผ่าตัด หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง มีกำเดากำเริบ เพราะการเผาไฟอาจไปทำให้อาการที่เป็นอยู่กำเริบได้  รวมทั้งผู้ที่มีอาการผิวหนังอักเสบรุนแรง เป็นแผลพุพองง่าย เป็นโรคเบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะใช้ความร้อนใกล้ผิวหนัง อาจทำให้เกิดแผลได้ 

          นอกจากนี้ หากเผายาแล้ว ไม่ควรอาบน้ำทันที และควรงดการรับประทานอาหารฤทธิ์เย็น เช่น แตงโม น้ำเย็น เพราะความเย็นจะเข้ามากระทบ ทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก การเผายาที่ทำไปจะไม่ได้ผล

          การเผาไฟสามารถทำได้สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์) แต่ไม่ควรเผาไฟทุกวันนะคะ ใครที่มีอาการลมเกิน อยากขับลมในกระเพาะอาหาร ปรับสมดุลในร่างกายก็ลองไปเผาไฟกับแพทย์แผนไทยที่มีความเชี่ยวชาญดูก็ได้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักการเผายา สูตรขับลมในร่างกาย ฉบับแพทย์แผนไทยแต่โบราณ อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 08:51:34 52,210 อ่าน
TOP